ชุมชน‘บ้านธรรมชาติล่าง’ โชว์ของดี-ของเด่นในท้องถิ่น

 

ชุมชน‘บ้านธรรมชาติล่าง’ โชว์ของดี-ของเด่นในท้องถิ่น – ตราดเป็นอีกจังหวัดของภาคตะวันออกที่ปลูกผลไม้หลากหลายชนิด ซึ่งในช่วงสองสามเดือนมานี้ นักท่องเที่ยวแห่แหนกันไปเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง และโปรแกรมหนึ่งที่ไปกันคือบุฟเฟต์ผลไม้ แต่ในเดือนพ.ค.นี้สวนส่วนใหญ่ตัดทุเรียนกันไปหมดแล้ว จะมีบางสวนที่เหลือเป็นรุ่นสุดท้ายประมาณปลายเดือนพฤษภาคม ขณะที่เงาะ ลองกองและมังคุดยังมีให้กินอีกเยอะ

เมื่อไม่นานมานี้ทางบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ฯ หรือซีพีเอฟ นำโดยนางลัดดาวัลย์ ธนะประสพ รองกรรมการผู้จัดการซีพีเอฟ เชิญ นักข่าวจากส่วนกลางไปศึกษาดูงาน CSR ที่ชุมชนบ้านธรรมชาติล่าง ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ และได้ไปสวนของนายโสภณ สร้อยศรี หรือ “ลุงปุ๊ก” ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพนาโน (ปุ๋ยมีชีวิต) ที่ได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟ และสวนนี้ ก็ใช้ปุ๋ยดังกล่าวบำรุงต้นทุเรียนที่มีอยู่ 3 ไร่

ที่นี่นักข่าวและเจ้าหน้าที่ของซีพีเอฟที่ร่วมขบวนไปด้วยกันต่างอิ่มหมีพีมันกับทุเรียน เงาะ ลองกองและมังคุดจากหลายสวนที่นำมาให้ชิมกันในสวนของลุงปุ๊ก แถมบางคนยังซื้อกลับบ้านด้วยในราคามิตรภาพ รวมถึงซื้อปุ๋ยและมูลไส้เดือนเพราะราคาถูกมาก ขายกิโลกรัม (ก.ก.) ละ 10 บาทเท่านั้น

เดิมชาวบ้านที่นี่ใช้ปุ๋ยเคมี แต่เมื่อทางซีพีเอฟที่มีโรงเพาะฟักลูกกุ้งภาคตะวันออกอยู่แถวนั้น เริ่มทำโครงการ CSR เมื่อปี 2557 ก็ได้ประชุมชาวบ้านเพื่อสอบถามความต้องการในการหารายได้เสริมและลดรายจ่ายครัวเรือน โดยมี น.ส.พรทิพย์ ธนะประสพ ผู้จัดการฝ่ายธุรการโรงเพาะฟักลูกกุ้งฯ ซึ่งเป็นคนในพื้นที่เป็นผู้ประสาน

สมาชิกกลุ่มปุ๋ย

หลังจากนั้นเกษตรกรของบ้านธรรมชาติล่างต่างหันมาใช้ ปุ๋ยหมักชีวภาพของกลุ่มเพราะพิสูจน์แล้วว่าทำให้ผลไม้เจริญเติบโตงอกงามดี อีกทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยกับตัวเกษตรกรเองด้วย และที่สำคัญเป็นการนำวัตถุดิบในชุมชนมาทำปุ๋ย ไม่ว่าจะเป็นมูลสัตว์ต่างๆ และไส้เดือน รำหยาบ กากน้ำตาลและแกลบ ฯลฯ พร้อมกันนั้นยังเลี้ยงไส้เดือนและนำมูลมาขายด้วย

ลุงปุ๊กเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันกลุ่มมีกำลังการผลิตปุ๋ยนาโนอยู่ที่ปีละ 30 ตัน ราคาตันละ 10,000 บาท ทำให้ชุมชนมีรายได้จากการขายปุ๋ยนาโน 300,000 บาทต่อปี ช่วยลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนลง ซึ่งสวนผลไม้ของตนก็ใส่ปุ๋ยนี้เช่นกัน ปีหนึ่งใส่ปุ๋ยชีวภาพ 2 ครั้ง หลังจากตัดผลผลิตเสร็จก็จะใส่ปุ๋ยช่วงก่อนฝนและปลายฝนเพื่อบำรุงต้น

นอกเหนือจากการทำปุ๋ยหมักชีวภาพนาโนแล้ว ทางซีพีเอฟยังได้สนับสนุนอีกหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และกลุ่มย้อมสีธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายให้ชาวบ้านรวมตัวกันในการทำแต่ละกิจกรรมที่สนใจ เพื่อหารายได้เสริมเพราะบางครอบครัวทำประมง แต่บางช่วงไม่สามารถออกไปจับปลาได้ทำให้ขาดรายได้

ดังนั้นการชักชวนให้นักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมชมและลองทำกิจกรรมต่างๆ ส่วนหนึ่งก็เพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ขณะที่ผู้มาเยือนก็ได้สัมผัสวิถีชุมชนอย่างใกล้ชิด เพราะที่นี่มีอะไรที่เป็นอัตลักษณ์น่าสนใจหลายอย่างที่บางคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน อย่างเช่นมีวงละครชาตรีที่ได้รับรางวัลระดับชาติ และนักท่องเที่ยวยังได้สนุกสนานกับการหัดทำผ้าย้อมสีธรรมชาติ ที่ทำจากเปลือกต้นหูกวาง จากต้นโกงกาง เปลือกมังคุดและขมิ้น ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้นั่งเรือล่องชมวิถีชาวประมงและไปบริเวณที่มีหญ้าทะเลชุกชุม ซึ่งเป็นแหล่งพักพิงและเป็นอาหารของสัตว์น้ำ หลายชนิด

ตกกลางคืนก็ไปนอนที่พักโฮมสเตย์ติดทะเลนั่งชมพระอาทิตย์ตกหน้าเกาะช้าง พร้อมรับประทานอาหารทะเลสดๆ ในราคากันเอง สำหรับที่พักก็มีให้เลือกหลากหลาย ซึ่ง นายทองหล่อ วรฉัตร ปราชญ์ชุมชน ในฐานะประธานกลุ่มท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชนบ้านธรรมชาติล่าง บอกว่า ในส่วนของการจัดเส้นทางท่องเที่ยว วางแผนไว้ว่าจะทำสถานที่เดินเท้าชมป่าชายเลนเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 ที่เชื่อมติดกัน ซึ่งเป็นป่าชายเลนไม้โกงกางที่สมบูรณ์

พรทิพย์ ธนะประสพ โชว์หญ้าทะเล

“ในโปรแกรมท่องเที่ยวของกลุ่มจะพานักท่องเที่ยวออกไปดูหญ้าทะเล ต่อไปถ้าทะเลดีๆ อาจจะพาไปเที่ยวปั่นไฟตกหมึกก็ได้ และในอนาคตอาจจะพาไปดำน้ำ เล่นน้ำ แต่ต้องดูฤดูกาลด้วย เพื่อความปลอดภัยของนัก ท่องเที่ยว”

ในส่วนของหญ้าทะเลที่แสดงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลแห่งนี้ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับเกาะช้าง นายทองหล่อฟื้นอดีตให้ฟังว่า 50-60 ปีก่อนเคยมีพะยูน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าหมูน้ำเข้ามากินหญ้าทะเลแถวนี้ แต่พอตาข่ายของชาวบ้านที่ไปดักกุ้ง ปู ปลาไว้ ติดพะยูนมา จากนั้นก็ไม่เห็นพะยูนอีกเลย

ด้านน.ส.พรทิพย์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางซีพีเอฟได้เข้ามาช่วยชุมชนขับเคลื่อนต่อยอดจากเรื่องการทำปุ๋ยนาโนชีวภาพ โดยทำป่าชุมชนในเนื้อที่ 34 ไร่ ซึ่งเป็นป่าที่ชุมชนปลูกเอง สร้างเอง และใช้ปุ๋ยตัวนี้ ผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่เกิดในป่าก็ทำให้ชุมชนเกิดรายได้คือ เก็บเห็ดขายที่สร้างรายได้ให้เยอะ มีเห็ดแก้ว เห็ดขอน เห็ดยูคาลิปตัส โดยช่วงหน้าฝนชาวบ้านจะไปเก็บและมาขายก.ก.ละเกือบ 200 บาท

ในส่วนของการต่อยอดในเรื่องท่องเที่ยวนั้นก็มาโยงกับป่าชุมชน เช่นนำมาทำเป็นอาหารปริศนาในเส้นทางท่องเที่ยว เป็นพวกอาหารพื้นบ้าน ซึ่งอาหารปริศนานี้ถือเป็นอัตลักษณ์ของหมู่บ้าน เช่น ยำหัวปลี, ข้าวเหนียวหัวหงอก, ก๋วยเตี๋ยวผัดปู ฯลฯ

 

อย่างไรก็ตาม น.ส.พรทิพย์บอกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้เปิดรับนักท่องเที่ยวทั่วไป เพียงแต่ให้บางคณะมาเป็นโครงการนำร่องเพราะเป็นช่วงเริ่มต้น ทั้งนี้ในช่วงมีนาคม-เมษายน ไฮไลต์จะอยู่ที่สวนผลไม้ หากจะมาเที่ยวสวนผลไม้ด้วย ต้องเริ่มจองกันตั้งแต่เดือนมกราคม เพราะผลไม้เริ่มออกตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป ส่วนกิจกรรมต่างๆ อาจจะดูเป็นช่วงๆ อย่างกิจกรรมป่าชุมชนจะเริ่มเปิดได้ในเดือนพฤษภาคม โดยเน้นป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9

ในส่วนการทำ CSR นั้นนางลัดดาวัลย์ย้ำว่า ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ตั้งของฟาร์มและโรงงานทั่วประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สอดรับการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมตามกลยุทธ์ “อาหารมั่นคง สังคม พึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่”

หลังจากนี้คงต้องติดตามกันว่าความ ร่วมมือร่วมใจในการทำกิจกรรมต่างๆ ของชาวชุมชนบ้านธรรมชาติล่าง โดยมีซีพีเอฟเป็นพี่เลี้ยงนั้น จะประสบความสำเร็จตามตามเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน