สารพัดโรคสิงห์อมควัน เลิกได้ต้องมุ่งมั่น-ตั้งใจ

สารพัดโรคสิงห์อมควัน เลิกได้ต้องมุ่งมั่น-ตั้งใจ – คนสูบบุหรี่หลายต่อหลายคนคิดว่าบุหรี่คือเพื่อนที่ซื่อสัตย์ในเวลาที่เราเครียด เหงา เศร้า หรือกลุ้มใจ เวลาสนุกก็คิดถึงบุหรี่ เข้าสังคมก็บุหรี่ ก่อนอาหาร หลังอาหารก็บุหรี่ เข้าห้องน้ำต้องสูบบุหรี่ จนกลายเป็นความเคยชิน

ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลพระรามเก้า ระบุว่า พฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมการติดบุหรี่ หรือโรคติดบุหรี่ รู้กันอยู่แล้วว่าบุหรี่เต็มไปด้วยสารนิโคติน ที่หากร่างกายได้รับนานๆ จะส่งผลต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ และส่งผลเสียต่ออวัยวะอื่นๆ รวมทั้งควันบุหรี่ยังทำร้ายคนรอบข้างได้อย่างร้ายกาจ หรือที่เรียกว่า ควันบุหรี่มือสอง

สารพัดโรคสิงห์อมควัน

องค์การอนามัยโลกเผยข้อมูลว่า ในควันบุหรี่ 1 ม้วนมีสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด เป็นสารพิษ 250 ชนิด เป็นสารก่อมะเร็งกว่า 50 ชนิด การสูบบุหรี่ยิ่งสูบนานเท่าไรก็ยิ่งเสี่ยงต่อโรคภัยที่บั่นทอนชีวิตให้สั้นลง โดยบุหรี่ทำให้อายุสั้นลงโดยเฉลี่ย 13.2 ปีในผู้ชาย และ 14.5 ปีในผู้หญิง

นอกจากนี้ ข้อมูลสำรวจโรคสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2560 ยังพบว่า กรุงเทพมหานคร ปี 2559 มีผู้สูบบุหรี่ประมาณ 1 ล้านคน มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ ประมาณ 6,000 คน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อการเสียเงินในการซื้อบุหรี่มาสูบประมาณ 1,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการนอนโรงพยาบาลเฉลี่ยต่อครั้ง 130,000 บาท ความชุกชั่วชีวิตของภาวะการติดบุหรี่ในประเทศไทยอยู่ที่ ร้อยละ 14.9 ในปี 2557

สารพัดโรคสิงห์อมควัน

ในแต่ละปีบุหรี่ได้คร่าชีวิตประชากรทั่วโลกปีละประมาณ 6 ล้านคน ในจำนวนนี้มีมากกว่า 6 แสนคนเสียชีวิตจากการสูดดมควันบุหรี่ ซึ่งบุหรี่นำมาสู่โรคหัวใจ มะเร็งปอด มะเร็งในช่องปาก เป็นต้น

สารพัดโรคสิงห์อมควัน

และยังมีผลต่อหลอดเลือดและโรคความดันโลหิตสูง อีกทั้งบุหรี่ยังมีผลต่อเด็กทารกในครรภ์ ทำให้มารดาตั้งครรภ์เสี่ยงต่อการแท้งบุตร คลอดบุตรเสียชีวิต และยังทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง

การติดบุหรี่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่สามารถป้องกันได้ บริการช่วยเลิกบุหรี่โดยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์หรือบุคลากรวิชาชีพสุขภาพ เป็นหนึ่งช่องทางในการเลิกบุหรี่ หลายคนเข้าไม่ถึงบริการในการช่วยเลิกบุหรี่ จึงเลือกวิธีการเลิกแบบหักดิบ ซึ่งมีอัตราความสำเร็จต่ำและมีโอกาสกลับไปสูบบุหรี่ซ้ำ

ผู้ที่มีภาวะถอนบุหรี่ คือ ผู้ที่หยุดสูบบุหรี่หรือลดปริมาณการสูบบุหรี่ทันที จะมีอาการที่ตามมาด้วยอย่างน้อย 4 อาการ เกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง อาทิ หงุดหงิด เครียด โมโห อาการวิตกกังวล สมาธิไม่ดี มีความอยากอาหารเพิ่ม กระสับกระส่าย ซึมเศร้า นอนไม่หลับ

ดังนั้น การได้รับการรักษาจากแพทย์เป็นทางเลือกที่สามารถเลิกบุหรี่ได้โดยแท้จริง โดยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งแพทย์จะประเมินความประสงค์และความพร้อมในการเลิกบุหรี่ ประเมินความรุนแรงของการติดบุหรี่ ปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้สูบบุหรี่ รวมถึงจะได้รับการช่วยเหลือและบำบัดรักษาอย่างเหมาะสม และจะมีการนัดติด ตามอาการและผลการเลิกบุหรี่อย่างต่อเนื่อง

สารพัดโรคสิงห์อมควัน

ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่มีประสิทธิภาพทำให้อัตราการเลิกบุหรี่สำเร็จเพิ่มขึ้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม 1.สารนิโคตินทดแทน ซึ่งจะช่วยลดอาการอยากบุหรี่ให้ลดลง และลดอาการถอนนิโคติน ในประเทศไทยมียาในรูปแบบหมากฝรั่งและแบบแผ่นติดผิวหนัง 2.ยากลุ่มที่ไม่มีส่วนผสมของนิโคติน ได้แก่ nortriptyline buproprion SR varenicline ยาเหล่านี้มีฤทธิ์ช่วยลดอาการอยากบุหรี่ได้ และทำให้ผู้สูบบุหรี่สามารถเลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น โดยทั่วไปผู้ป่วยจะได้รับประทานประมาณ 8-12 สัปดาห์

กรณีที่ผู้ติดบุหรี่ได้พยายามเลิกบุหรี่แล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จอาจรู้สึกท้อแท้ได้ เนื่องจากธรรมชาติของโรคติดบุหรี่เป็นโรคเรื้อรังที่เป็นๆ หายๆ ขอเพียงแต่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริง ในกรณีดังกล่าวการเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์หรือบุคลากรวิชาชีพทางสาธารณสุข เพื่อรับคำแนะนำหรือรับยาจะทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในการเลิกบุหรี่เพิ่มขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน