ราชพัสตราบรมราชาภิเษก ‘คติโบราณราชประเพณี’

ราชพัสตราบรมราชาภิเษก – พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกับสถาบันไทยคดีศึกษา และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมเสวนาราชพัสตราบรมราชาภิเษก ในสมัยรัตนโกสินทร์เมื่อเร็วๆ นี้ ที่หอประชุม ศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ราชพัสตราบรมราชาภิเษก

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร....สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านวัฒนธรรมและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสยาม ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี บรรยายในหัวข้อขอบเขตและความหมายของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนับเป็นพระราชพิธีที่สำคัญที่สุดของทุกประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ขั้นตอนสำคัญที่สุดคือ พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ทรงรับน้ำอภิเษกจากพราหมณ์

ในอินเดียพิธีบรมราชาภิเษกเรียกว่า พระราชพิธีราชสูยะ ในอินเดียวรรณะชนชั้นปกครองมี 2 วรรณะ คือ พราหมณ์กับกษัตริย์ พราหมณ์คือนักบวช กษัตริย์คือนักรบ กษัตริย์ของอินเดียนอกจากเป็นนักรบเป็นผู้นำที่มีความรู้ในการรบเท่านั้นไม่พอ ต้องมีความรู้ด้านการปกครองด้วย

จึงต้องมีพราหมณ์เป็นพระราชปุโรหิตสอนเรื่องการปกครอง พราหมณ์ถือเป็นอาจารย์หรือพระราชครูจึงเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำในพิธีบรมราชาภิเษก ส่วนวันประกอบพิธีบรมราชาภิเษกไม่มีกำหนดตายตัว แต่จะจัดในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ราชพัสตราบรมราชาภิเษก

อ.เผ่าทอง ม.ร.ว.สุริยวุฒิ และ อ.วีรธรรม ร่วมเสวนา

ขั้นตอนการประกอบพระราชพิธี ไทยไม่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียโดยตรง แต่รับผ่านจากเขมรโบราณเมื่อสมัยพระเจ้าอู่ทอง อาณาจักรอยุธยาไปทำศึกกับเขมรโบราณจึงนำวัฒนธรรมประกอบพิธีบรมราชาภิเษกมาใช้ คือการนับถือว่ากษัตริย์เป็นเทวราชา กษัตริย์ไม่ได้เป็นมนุษย์อีกต่อไป

ด้าน อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ นักประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าไทย เล่าในรายละเอียดภูษาราชพัสตราบรมราชาภิเษกที่ใช้ในการพระราชพิธีว่าในพระพิธีอาบน้ำพระมุรธาภิเษกในรัชกาลที่ 6 ทรงฉลองพระองค์ครุยขาวขลิบกุ๊นแถบด้วยทอง

เช่นเดียวกับฉลองพระองค์ในรัชกาลที่ 9 บางพระบรมฉายาลักษณ์ในหมายของรัชกาลที่ 7 หลังจากสรงน้ำมุรธาภิเษกแล้วเสด็จประทับที่พระแท่นอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทรงพระสนับเพลาเชิงงอน ทรงพระภูษาเขียนทองพื้นสีน้ำเงิน ฉลองพระองค์ตาดเงินประดับดาราเครื่องราชทั้ง 6 ทรงสวมสายสะพายมหาจักรีพร้อมพระสังวาล ฉลองพระองค์ครุยกรองทองริ้วปัตหล่าที่ชั้นนอก

ราชพัสตราบรมราชาภิเษก

ภายในนิทรรศการ

ในรัชกาลที่ 9 ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ระบุว่าเป็นฉลองพระองค์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทำจากไหมทองสลับไหมสีฟ้ากลัดกระดุมนพรัตน์ 7 กระดุมและจีบหลัง 2 กระดุม ทรงฉลองพระองค์เป็นเสื้อฝรั่งครุยริ้วทองพื้นสีเหลืองอ่อน

อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ครูศิลป์ของแผ่นดินผ้าทอไหมยกทอง ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวราชพัสตราบรมราชาภิเษก ในสมัยรัตนโกสินทร์ผ่านพระบรมฉายาลักษณ์ช่วงพระราชทานพระอิสริยยศแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ว่า

พระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 นั้น พระองค์ทรงผ้าสะพักซึ่งมีกำหนดในกฎมณเฑียรบาลตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ที่กำหนดให้พระอัครมเหสีห่มสะพัก 2 พระอังสา ถือเป็นการห่มที่มีพระอิสริยยศสูงในฝ่ายใน หรือพระบรมฉายา ลักษณ์รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์มีเพียงภาพเดียว ทรงฉลองพระองค์พระเครื่องต้นแบบโบราณทรงฉลองพระองค์สองชั้น โดยมีฉลองพระกรน้อยอยู่ด้านใน แต่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไป

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าเป็นฉลองพระองค์ที่หนักมาก ไม่ค่อยมีพระมหากษัตริย์ทรงชุดแบบนี้แล้ว เพราะทรงลำบากพระวรกายของพระมหากษัตริย์ เช่น พระสนับเพลาเป็นทรงกระบอกพอดีกับพระชงฆ์ (หน้าแข้ง) เวลาเสด็จพระราชดำเนินจึงทรงพระดำเนินลำบาก น่าจะทำเพื่อความงามส่งเสริมความเป็นสมมติเทพของพระมหากษัตริย์สำหรับประทับนิ่งๆ ในยุคหลังจึงเปลี่ยนไป

ราชพัสตราบรมราชาภิเษก

นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดนิทรรศการราชพัสตราบรมราชาภิเษก เพื่อเฉลิม พระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีดังกล่าว

ตลอดจนเครื่องแต่งพระองค์ที่เกี่ยวเนื่องเพื่อให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์ราชประเพณีไทยได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ด้วยเป็นพระราชพิธีที่ว่างเว้นไปนานถึง 69 ปี นิทรรศการจัดขึ้น ที่ห้องประชุม พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง วันนี้ถึง 31 สิงหาคมศกนี้

ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ กล่าวว่าไฮไลต์ที่หาชมยากคือภาพยนตร์วีดิทัศน์ที่ผู้มาชมนิทรรศการจะได้เห็นภาพเคลื่อนไหวของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 จนถึงปัจจุบัน รวบรวมมาจากหอภาพยนตร์ และพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7”

นิทรรศการแบ่งเนื้อหาเป็น 5 เรื่องหลัก อาทิ การอธิบายถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขั้นตอนการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก บอกเล่าตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ตลอดจนเรื่องราวการจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพ และแกะ พระราชลัญจกรประจำรัชกาล การสรงพระมุรธาภิเษก การถวายน้ำอภิเษก และการเสด็จฯ เลียบพระนคร

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.00-16.30 . บัตรเข้าชม ผู้ใหญ่ 150 บาท ผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) 80 บาท นักเรียน นักศึกษา (โปรดแสดงบัตรประจำตัว) และเด็กอายุ 12-18 ปี 50 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่เสียค่าใช้จ่าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน