คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์ สถาปัตยกรรมไทย

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ตาล ต้นตาล หรือ โตนด เป็นไม้ประเภทเดียวกับปาล์มและมะพร้าว ลำต้นตรง สูง มีพุ่มใบที่ยอด

ตาลมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตอนใต้แถบฝั่งตะวันออกของอินเดีย ปัจจุบันยังพบได้ทั่วไปในตอนกลางของประเทศอินเดีย เขตเมืองพาราณสี

ความหมายของตาลหรือคำว่าตาลยอดด้วนในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมีความหมายถึงการสิ้นสุด การไม่เกิดอีกอยู่ 2 นัย

นัยแรก คือ การละเสีย ตัดขาด สงบ ระงับ ไม่อาจเกิดขึ้นอีก ไม่กระหายอีก ของตัณหา ราคะ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกอยู่หลายตอน

เช่น ในพระสุตตันตปิฎก สังยุตนิกายขันธวารวรรค (15) ที่กล่าวว่า “ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ไม่มีที่พักเที่ยวไปอย่างไร ดูก่อนคฤหบดี กิเลสเป็นเหตุซ่านไปและพัวพันในรูปอันเป็นนิมิตและที่พักอันพระตถาคตทรงละเสียแล้ว ทรงตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ทรงกระทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคตบัณฑิตจึงกล่าวว่า เป็นผู้ไม่มีที่พักเที่ยวไป ดูก่อนคฤหบดี กิเลสเป็นเหตุไปพัวพันในเสียง…ในกลิ่น…ในรส…ในโผฎฐัพพะ…ในธรรมารมณ์อันเป็นนิมิตและเป็นที่พัก อันพระตถาคตทรงละเสียแล้ว ทรงตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ทรงกระทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา

หรือพระสุตตันตปิฏก เล่มที่ 22 ขุททกนิกาย วัตถุแห่งความโกหก 3 อย่างนี้ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ละเสียแล้ว ตัดขาดเสียแล้ว สงบแล้ว ระงับแล้ว ไม่ให้อาจเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นไม่โกหก ไม่มีความกระหาย ตัณหาอันเป็นเหตุให้กระหายนั้น พระปัจเจก สัมพุทธเจ้าละแล้ว ตักรากขาดแล้ว ไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน

วัตถุแห่งความโกหก ในคำว่า ไม่โกหกมี 3 อย่าง คือ วัตถุแห่งความโกหกเป็นส่วนแห่งการเสพปัจจัย 1 วัตถุแห่งความโกหกเป็นส่วนแห่งอิริยาบถ 1 วัตถุแห่งความโกหกเป็นส่วนแห่งการพูดอิงธรรม 1

นัยที่สอง ในอีกความหมายทางศาสนาเช่นเดียวกัน หมายถึง การขาดจากความเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาอย่างเด็ดขาด ที่เรียกว่า ปาราชิก คือ เจตนา ฆ่า ทำลายชีวิตสัตว์ ลักทรัพย์ เสพเมถุน และแสดงอุตริมนุสธรรมเพื่อหลอกลวงหาประโยชน์

ส่วนในความหมายของสังคมไทยคำว่า “ตาลยอดด้วน” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตแปลว่า คนที่ไม่มีทางเจริญก้าวหน้าต่อไปอีกแล้ว คนที่ไม่มีบุตรสืบตระกูล พระภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิกไม่อาจกลับมาบวชใหม่ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน