คอลัมน์ ข่าวสดหลากหลาย

หากพูดถึงประเทศอินเดีย คนไทยมักนึกถึงสังเวชนียสถาน หรือสถานที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเหตุผลหลักในการเดินทางไปเยือนอินเดียของนักท่องเที่ยวชาวไทย จนสถิติผู้แสวงบุญชาวไทยเมื่อปี 2559 สูงแตะหลัก 80,000 คน

หากแต่นอกเหนือไปจากสถานที่อันเชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญสมัยพุทธกาล เช่น พุทธคยาหรือสารนาถแล้ว ในฝั่งตะวันตกเองก็มีสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาที่ไม่ใช่แค่ชาวพุทธจะต้องตื่นเต้นเมื่อได้เห็น ใครก็ตามที่สนใจในประวัติศาสตร์โลกจะต้องตื่นตาเมื่อไปถึง และทึ่งในปัญญาของมนุษยชาติที่มีมาเนิ่นนานแล้ว

สถานที่ดังกล่าวก็คือสองกลุ่มถ้ำอจันต้า-เอลโลร่า ในเมือง ออรังกาบาดนั่นเอง

ออรังกาบาดตั้งอยู่ในรัฐมหารัชตะ หรือที่ไทยเรามักเขียนว่ารัฐมหาราษฏระ ห่างจากเมืองเอกของรัฐคือมุมไบ ประมาณ 300 กิโลเมตร เมื่อเดินทางถึงเมืองออรังกาบาดแล้วจะต้องนั่งรถต่อไปยังที่ตั้งของถ้ำอจันต้าอีกประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งถนนหนทางยังอยู่ในสภาพที่ไม่ได้รับการพัฒนานัก

หากต้องสร้างสถานที่สำหรับปฏิบัติธรรมสักแห่งเมื่อ 2,000 ปีก่อน เป็นคุณจะเลือกสร้างที่ไหน คำตอบอันกลายมาเป็นที่มาของถ้ำ อจันต้า (Ajanta) หรือที่คนไทยเราเรียก “ถ้ำอชันตา” ก็คือการสร้างวิหารเข้าไป “ในภูเขา”

อจันต้าไม่ใช่ถ้ำที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่เกิดจากแรงงานมนุษย์ ขุดเจาะเข้าไปในหินของภูเขาเพื่อสร้างให้เป็นถ้ำขนาดใหญ่ พอจะบรรจุวิหารและกุฏิเข้าไปด้านในได้ สันนิษฐานว่าเริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ.350

หลังถูกทิ้งร้างไปนานกว่า 1,500 ปี มีผู้ค้นพบอีกครั้งในโลกสมัยใหม่ช่วงที่อินเดียอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ในปี พ.ศ.2362 โดยนายทหารชาวอังกฤษขณะกำลังออกล่าเสือ

ความอัศจรรย์ประการสำคัญก็คือ หินที่เป็นส่วนประกอบของถ้ำ อจันต้า คือหินบะซอลต์ อันเป็นหินภูเขาไฟที่มีความแข็งแรงมาก แตกต่างจากสิ่งก่อสร้างโบราณในอายุไล่เลี่ยกัน เช่น นครเพตรา ในประเทศจอร์แดน ที่สร้างจากหินทรายซึ่งมีความแข็งน้อยกว่า ชวนให้คิดไปว่าชาวอินเดียโบราณมีเทคโนโลยีในการขุดเจาะที่ล้ำนำสมัยมากๆ แถมยังต้องเก่งเรื่องการคำนวณ เพราะต้องมองเห็นภาพวิหารทั้งห้องก่อนขุด จะได้รู้ว่าหินส่วนใดต้องขุดออก ส่วนใดต้องเหลือไว้สำหรับเป็นเสาหรือเจดีย์

อจันต้าประกอบไปด้วยถ้ำราว 30 ถ้ำ เรียงรายไปตามแนวเทือกเขารูปเกือกม้า แต่ละถ้ำสร้างในเวลาแตกต่างกัน โดยการเรียงตัวของถ้ำที่เก่าที่สุดจะไล่จากตรงกลางออกไปสู่ส่วนขยายทั้งสองข้าง ในจำนวนนี้ 5 ถ้ำจะมีลักษณะเป็นอุโบสถ มีเจดีย์ประดิษฐานอยู่ตรงกลาง ส่วนที่เหลือจะเป็นวิหารและกุฏิของพระ

ด้วยความที่แต่ละถ้ำไม่เหมือนกัน จึงควรเข้าชมทุกถ้ำ และให้เวลากับที่นี้ไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน

ถํ้ายุคเก่าสุดนั้นเป็นของศาสนาพุทธนิกายเถรวาท เน้นความเรียบง่าย มีลักษณะเป็นเพียงห้องโถงโล่งๆ มีภาพเขียนสีบนผนัง และรูปแทนพระพุทธเจ้า ในขณะที่ถ้ำที่สร้างขึ้นหลังจากนั้นจะเป็นแบบพุทธหินยาน ซึ่งมีรูปเคารพ และมีการแกะสลักนูนสูงที่ประณีตงดงามมากกว่า

สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของอจันต้าก็คือภาพเขียนที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาอันล้ำสมัยที่ไม่เคยพบมาก่อนในอาณาจักรอินเดียโบราณและยังความสมบูรณ์เอาไว้มากที่สุด

จุดเด่นที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของการวาดภาพไปเลยก็คือภาพเขียนที่นี่นั้นมีมิติ มีการให้น้ำหนัก แสงและเงา ไม่ได้แบนราบเหมือนกับภาพเขียนแบบอียิปต์โบราณที่มีเพียงสองมิติ ทั้งยังคงสีสันสดใสแม้ผ่านมาแล้วกว่า 2,000 ปี เพราะมีการฉาบผนังหินก่อนจะวาดด้วยสีที่สกัดมาจากแร่ธรรมชาติ โดยเรื่องราวส่วนใหญ่ล้วนมาจากชาดกที่เราคนไทยคุ้นเคย จึงเข้าใจได้ไม่ยาก

ทำไมจึงต้องลำบากมาสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมในภูเขาที่ห่างไกลพื้นที่ชุมชน นอกเหนือจากเหตุผลเรื่องความสงบวิเวกหรือความศรัทธาอันแรงกล้าแล้ว อจันต้ายังอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับเส้นทางการค้า มีสปอนเซอร์หลักเป็นมหาเศรษฐี ปรากฏชื่อสลักเอาไว้ด้านหน้าวิหาร

อจันต้าจึงกลายเป็นเครื่องแสดงความร่ำรวยและยิ่งใหญ่ให้คนที่มีโอกาสเป็นคู่ค้าของพวกเขาได้เห็นนั่นเอง

เมื่ออจันต้าล่มสลาย เอลโลร่า (Ellora) ก็เข้ามาแทนที่ หมู่ถ้ำ เอลโลร่ามีจุดประสงค์เดียวกันคือเป็นศาสนสถาน แต่มีขนาดใหญ่กว่าอจันต้าถึง 4 เท่าและประกอบไปด้วยถ้ำนับร้อย แต่ปัจจุบันเปิดให้เข้าชมรวม 34 ถ้ำ

ความแตกต่างนั้นอยู่ที่หมู่ถ้ำเอลโลร่าประกอบไปด้วยถ้ำของ 3 ศาสนาสร้างไล่เรียงกันไปตามความรุ่งเรืองของศาสนานั้นๆ ในแต่ ละยุค เริ่มจากถ้ำของพุทธศาสนา ที่เริ่มสร้างในปี พ.ศ.1100 ต่อด้วยถ้ำของศาสนาฮินดูเริ่มในปี พ.ศ.1200 และถ้ำของศาสนาเชนในช่วงปี พ.ศ.1350

นอกจากจะแตกต่างด้วยศาสนาที่หลากหลายกว่าแล้ว ยังสร้างด้วยเทคนิคที่สลับซับซ้อนกว่า เพราะแทนที่จะขุดจากด้านหน้าเข้าไปด้านใน ถ้ำเอลโลร่าเป็นการขุดเจาะลงไปในหินจากด้านบนของภูเขา นั่นหมายถึงการคิดคำนวณที่แม่นยำและการทำงานที่ถูกต้องไร้ข้อผิดพลาด โดยมองเห็นภาพจากด้านบน

ถ้ำของพระพุทธศาสนานั้นมีทั้งหมด 5 ถ้ำ สร้างตามความเชื่อแบบมหายาน ประกอบไปด้วยวิหารและอุโบสถ การออกแบบเรียบง่าย ถ้ำที่โดดเด่นคือถ้ำที่ 10 ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับโบสถ์คริสต์ แต่มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ตรงกลาง และยังออกแบบมาให้มีเสียงก้องกังวานจนขนลุกเมื่อสวดมนต์

แต่ที่โดดเด่นที่สุดในหมู่ของเอลโลร่าคงหนีไม่พ้นถ้ำของศาสนาฮินดู ซึ่งมีความวิจิตรพิสดารในการแกะสลักและออกแบ ไฮไลต์อยู่ที่ถ้ำที่ 16 อันเป็นวิหารที่สร้างมาเพื่อบูชาพระศิวะ เพราะทั้งวัดแกะออกมาจากหินก้อนเดียวด้านบน แต่มีความสลับซับซ้อน ตัววิหารมีการไล่ระดับหลายชั้น และรูปสลักบูชาเทพเจ้าล้วนวิจิตรอลังการ

ส่วนถ้ำของศาสนาเชน ซึ่งสร้างหลังสุดนั้นมีเพียง 5 ถ้ำ และค่อนข้างจะเน้นความมัธยัสถ์ตามหลักศาสนาเชน นิกายทิฆัมพร ซึ่งนักบวชจะต้องเปลือยกาย รูปเคารพในกลุ่มถ้ำนี้จึง จะสังเกตได้ว่าแม้ใช้โครงร่างเดียวกันกับพระพุทธรูป แต่จะไม่สวมเสื้อผ้า

หมู่ถ้ำเอลโลร่าไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นวิทยาการที่ก้าวหน้าในสมัยโบราณของอินเดีย แต่การที่ศาสนสถานของ 3 ศาสนาสร้างขึ้น ในเวลาทับซ้อนกันในสถานที่เดียวกันนั้น ยังแสดงให้เห็นถึงความอดทนอดกลั้นในการอยู่ร่วมกันอีกด้วย

หมู่ถ้ำอจันต้าและเอลโลร่าได้รับการประกาศให้เปนมรดกโลกโดยยูเนสโก ในปี พ.ศ.2526 ทั้งสองแห่งอยู่ในขอบข่ายที่กระทรวงวัฒนธรรมต้องการสนับสนุนให้คนไทยลองขยับปรับเปลี่ยนจากสังเวชนียสถาน มาลองท่องเที่ยวเชิงพุทธที่นี่กันมากขึ้น เหมือนที่ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรมไปเยือนสถานที่จริงเมื่อวันที่ 9 มี.ค. ก็มีแผนจะหารือถึงความเป็นไปได้ในการช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเหมือนกับที่ได้เคยทำในบริเวณสังเวชนียสถานมาแล้ว

ปีนี้ความสัมพันธ์ทางการทูตของประเทศ ไทยและอินเดียเพิ่งครบรอบ 70 ปี แต่ศิลปะและความเชื่อแบบพุทธที่ปรากฏในหมู่ถ้ำ ตั้งแต่เมื่อ 2,000 กว่าปีก่อน ช่วยตอกย้ำ ให้เห็นว่า เรามีความแนบแน่นทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดสู่กันไปมานานกว่านั้นนับพันปี มาแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน