โจงกระเบน

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โจงกระเบน – ผ้านุ่งไทยกำลังเป็นประเด็น (นัก)การเมือง อันนั้นไม่สนใจค่ะ (แต่ผ้าซิ่นก็สวยดี) ที่สนใจคือโจงกระเบน มีความเป็นมาอย่างไร ดูเป็นกางเกงสะดวกดี

งามลักษณ์

ตอบ งามลักษณ์

มีความรู้จาก ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ที่เคยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า โจงกระเบน เป็นการนุ่งผ้าแบบแขกที่ขอมเขมรนำมาใช้ คำว่า โจง/chong เป็นคำเขมร แปลว่า ผูก คำว่า กะเบน/kaben เป็นคำเขมร แปลว่า หาง สรุป ไทยยืมมาทั้งคำศัพท์และรูปแบบการนุ่ง และน่าจะยืมลอกเลียนมาใช้แต่สมัยสุโขทัยและอยุธยาแล้ว ลาวชั้นสูงก็ยืมไปใช้ด้วยเช่นกัน

โจงกระเบน : รู้ไปโม้ด

ยังมีข้อเขียนของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชน ระบุว่า โจงกระเบนในวัฒนธรรมเขมรที่ถูกกลืนกลายเป็นไทย นุ่งโจงกระเบน แสดงความเป็นไทยได้แจ่มแจ้งสนิทสนมกลมกลืนอย่างยิ่งกับหลักฐานวิชาการทุกด้าน เช่น ประวัติศาสตร์, โบราณคดี, มานุษยวิทยา, ภาษาและวรรณคดี เป็นต้น

โจงกระเบน : รู้ไปโม้ด

โจงเป็นคำเขมรและเป็นวิธีนุ่งผ้าแบบเขมรที่ถูกยืมใช้นาน จนลืม จึงเข้าใจว่าเป็นภาษาไทยและเป็นแบบไทย ทั้งนี้ อยุธยาเป็นทายาทรัฐขอมละโว้ (ลพบุรี) รับมรดกเขมร พูดภาษาเขมร เขียนอักษรเขมร (ไทยเรียกอักษรขอม) ประชากรในรัฐประกอบด้วย คนนานาชาติพันธุ์ร้อยพ่อพันแม่ ต่อมาคนเหล่านั้นใช้ภาษาไต-ไท เป็นภาษากลางทางการค้าและการสื่อสารสาธารณะ

นานเข้าก็กลายตนเองเป็นไทย, คนไทย ดัดแปลงอักษรเขมรเป็นอักษรไทย (ไทยไม่ได้ประดิษฐ์ทั้งหมดขึ้นเอง) ภาษาเขมร บางกลุ่มถูกยกเป็นราชาศัพท์ แต่ทั่วไปจำนวนไม่น้อยถูกใช้เป็นภาษาไทย เช่น จมูก, เดิน ฯลฯ

สุจิตต์ยังเขียนไว้ด้วยว่า ผ้านุ่งในชีวิตประจำวันของคนตระกูลมอญ-เขมร คือโจงกระเบน หรือจูงกระเบน (ได้ต้นแบบจากอินเดีย) แต่ตระกูลไทย-ลาว นุ่งเป็นถุงยาวแบบโสร่ง (มีพยานอยู่บนภาพสลักขบวนแห่พวก(ก๊ก) สยามที่ระเบียงประวัติศาสตร์ปราสาทนครวัด) ต่อมารับผ้านุ่งโจงกระเบนจากเขมร แล้วเรียกตามเขมรว่า โจงกระเบน หรือจูงกระเบน บางทีเรียกผ้าแบบนี้ว่าผ้าหางกระเบน หรือผ้าหาง ถ้านุ่งแบบหยักรั้งเรียก ถกเขมร หรือขัดเขมร

โจงกระเบน : รู้ไปโม้ด

โจงกระเบน เป็นภาษาเขมร หมายถึงรวบชายผ้านุ่งลอดหว่างขาไปเหน็บไว้ด้านหลังตรงก้นกบ (เรียก กระเบนเหน็บ) โจง แปลว่า รั้งขึ้น หรือโยงขึ้น คำเดียวกับจูง, กระเบน แปลว่า หาง (เช่น ปลากระเบน คือ ปลาหางยาว) เรียกชายผ้านุ่งที่ม้วนแล้วดึงเหน็บไปข้างหลังระดับบั้นเอว

โดยแต่เดิมคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นุ่ง “เตี่ยว” ซึ่งเป็นผ้าผืนเล็กแคบยาวปกปิดอวัยวะเพศ ทิ้งชายผ้าหน้าหลัง ต่อจากนั้นจึงมีการเย็บชายผ้าติดกันเป็น ผ้าถุง ผ้านุ่ง ผ้าซิ่น โสร่ง โจงกระเบน ฯลฯ ราว 1,500 ปีผ่านมาคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับวัฒนธรรมต่างๆ จากอินเดียเข้ามา รวมถึงเครื่องแต่งกายแบบ ชาวอินเดีย คือ ผ้านุ่งที่เรียกว่า โธตี (Dhoti) ซึ่งเป็นผ้านุ่งยาวที่นุ่งได้หลายแบบ เช่น นุ่งปล่อยชายเป็นถุงแบบเดียวกับโสร่ง หรือพับจีบชายผ้าข้างซ้ายลอดหว่างขาเหน็บไว้ด้านหลัง และเอา ชายผ้าข้างขวามาพับเหน็บไว้ด้านหน้าเป็นชายพก บางแห่งเรียก “ปัญจะ” เพราะมาจากความยาวผ้าขนาด 5 หลา

จากนั้นก็มีการนุ่งผ้าแบบโจงกระเบน โดยเฉพาะในประเทศไทยและเขมร ซึ่งมีที่มาจากคำว่า “โจง-จูง” แปลว่า โยง กับคำว่า “กระเบน” ที่แปลว่า หาง โดยการจีบหรือม้วนชายผ้าด้านหน้ารวมกันอย่างที่เรียกว่าหางกระเบน แล้วโยงลอดหว่างขาไปเหน็บไว้ที่ขอบผ้านุ่งตรงก้นกบ จัดชายผ้าให้ยาวลงมาใต้ หัวเข่าเล็กน้อย เมื่อจะทำงานต่างๆ ให้คล่องแคล่วก็ถลกชายผ้านุ่งให้สั้นขึ้นไปเหนือเข่าอย่างที่เรียกว่า ถกเขมร

โจงกระเบน : รู้ไปโม้ด

ยังมีเกร็ดเกี่ยวกับการนุ่งโจงในราชสำนักสยาม ซึ่งในยุคสมัยหนึ่งนิยมกันยิ่ง ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี บรรยายไว้ว่า เกิดจากเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5 กับสมเด็จฯ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร หรือ “เสด็จยาย” ในรัชกาลที่ 5 โดยกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรนิยมนุ่งจีบตามแบบโบราณ แต่เจ้าคุณจอมมารดาแพนิยมนุ่งโจงที่เพิ่งนิยมกันช่วงต้นรัชกาล ดังนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงตัดสินพระราชหฤทัยว่า ผู้ใดจะนุ่งจีบหรือนุ่งโจงก็เป็นเรื่องของผู้นั้น แต่การพระราชพิธีต้องนุ่งจีบตามโบราณราชประเพณีเท่านั้น

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน