กัญชง

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

กัญชง – วันนี้ขอข้ามจากกัญชายอดฮิต อยากรู้จัก กัญชง

หยกมณี

ตอบ หยกมณี

ญาติสนิทกัญชากัญชงชื่อสามัญ Hemp (เฮมพ์) ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannnabis sativa L. Subsp. sativa วงศ์ Cannabaceae หรือ วงศ์กัญชา จัดอยู่ในพืชซึ่งให้ประโยชน์หลักทางด้านสิ่งทอเป็นสำคัญ

ข้อมูลจาก medthai.com ระบุว่า จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีอายุเพียงปีเดียว ลำต้นเป็นสีเขียวตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 1-6 เมตร มีลักษณะอวบน้ำเมื่อเป็นต้นกล้า และจะเริ่มสร้างเนื้อไม้เมื่ออายุได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ปลูกโดยใช้เมล็ด

กัญชง

ใบกัญชง

ใบกัญชงเป็นใบเดี่ยวรูปฝ่ามือ แผ่นใบแก่แยกเป็นแฉกประมาณ 7-9 แฉก ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยและเว้าลึกจนถึงโคนใบ ปลายใบสอบและเรียวแหลม ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ดอกมีขนาดเล็กสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 มิลลิเมตร อายุของดอกค่อนข้างสั้น ประมาณ 3-4 สัปดาห์ก็จะติดผล ผลกัญชงเป็นเมล็ดแห้งสีเทา รูปไข่ ผิวเรียบเป็นมันและมีลายประสีน้ำตาล เมื่อแห้งจะเป็นสีเทา

กัญชงและกัญชาเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากพืชชนิดเดียวกัน มีถิ่นกำเนิดในเขตอบอุ่นในเอเชียกลาง ทางตอนใต้ของไซบีเรีย รวมถึงแคว้นแคชเมียร์ของอินเดีย และทางตอนเหนือของประเทศจีน จนได้สายพันธุ์ที่มีความแตกต่างไปจากสายพันธุ์เดิมแล้วเกิดเป็นพืชที่เรียกว่า กัญชง

ทั้งนี้ มักเข้าใจผิดกันว่ากัญชงก็คือกัญชา แต่แท้จริงแล้วต้นกัญชงแค่คล้ายคลึงกับต้นกัญชาด้านลักษณะทางพฤกษศาสตร์เท่านั้น ไม่ใช่พืชที่เป็นสารเสพติดเหมือนกัญชา กัญชงเป็นพืชที่นิยมนำมาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการถักทอ

ต้นกัญชงมีลำต้นสูงมากกว่า 2 เมตร ปล้องหรือข้อยาว แตกกิ่งก้านน้อยและแตกกิ่งไปในทิศทางเดียวกัน เปลือกเหนียวลอกง่าย ให้เส้นใยยาวคุณภาพสูง แผ่นใบเป็นสีเขียวอมเหลือง ใบมีแฉกประมาณ 7-9 แฉก การเรียงตัวของใบค่อนข้างห่าง เมื่อออกดอกจะมียางที่ช่อดอกไม่มาก เมล็ดมีขนาดใหญ่และเป็นลายบ้าง ผิวเมล็ดหยาบด้าน ใบเมื่อนำมาสูบจะมีกลิ่นหอมน้อย ทำให้ผู้เสพปวดหัว มีสาร tetrahydrocannabinol (THC) น้อยกว่า 0.3%

กัญชง

ต้นกัญชง

ขณะที่ต้นกัญชา (Marijuana ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannabis sativa L. Subsp. indica (Lam.) E. Small & Cronquist) มีความสูงไม่ถึง 2 เมตร ปล้องหรือข้อสั้น แตกกิ่งก้านมากและแตกกิ่งเป็นแบบสลับ เปลือกไม่เหนียว ลอกได้ยาก ให้เส้นใยสั้น คุณภาพต่ำ แผ่นใบเป็นสีเขียวถึงเขียวจัด ใบมีประมาณ 5-7 แฉก การเรียงตัวของใบจะชิดกัน เมื่อออกดอกจะมียางที่ช่อดอกมาก เมล็ดมีขนาดเล็ก ผิวเมล็ดมันวาว ใบเมื่อนำมาสูบจะมีกลิ่นหอมคล้ายหญ้าแห้ง มีสาร tetrahydrocannabinol (THC) ประมาณ 1-10%

สรรพคุณของกัญชง ใบเป็นยาบำรุงโลหิต ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น ช่วยให้นอนหลับสบาย ช่วยรักษาอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะหรือไมเกรน และช่วยแก้กระหาย ทั้งใช้รักษาโรคท้องร่วง โรคบิด บรรเทาอาการเจ็บปวด คลายกล้ามเนื้อ รักษาโรคเกาต์ ภูมิปัญญาของชาวม้งใช้เมล็ดสดเป็นยาสลายนิ่ว โดยนำมาเคี้ยวสดๆ

กัญชง

เส้นใยกัญชง

กัญชง

สินค้าแปรรูปจากกัญชง

ประโยชน์ของกัญชง เปลือกจากลำต้นให้เส้นใยที่จัดว่าเป็นเส้นใยที่มีคุณภาพสูงมาก คุณสมบัติแข็งแรงกว่าผ้าฝ้าย ดูดซับความชื้นได้ดีกว่าไนลอน และให้ความอบอุ่นยิ่งกว่าลินิน จึงเหมาะนำใช้ทำเป็นเครื่องนุ่งห่มเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อสวมในช่วงอากาศร้อนจะให้ความเย็นสบาย สวมใส่ในหน้าหนาวจะให้ความอบอุ่น เพราะช่วยดูดความร้อน ดูดกลิ่น และสารพิษจากร่างกายที่ขับออกมาในรูปของเหงื่อได้ดี

อีกทั้งผ้าที่ได้ก็บางเบาสวมใส่ได้สบาย ไม่ระคายผิว ให้สัมผัสอ่อนนุ่ม มีความยืดหยุ่นดี ทนทานต่อการซัก ยิ่งซักยิ่งนุ่ม ไม่มีกลิ่นอับชื้นและไม่ขึ้นราแม้อยู่ในที่อับชื้น

เนื้อของลำต้นที่ลอกเปลือกออกแล้วนำมาผลิตเป็นกระดาษได้, แกนของต้นกัญชงมีคุณสมบัติในการดูดซับกลิ่น น้ำ หรือน้ำมันได้ดี ในต่างประเทศนิยมนำไปผลิตเป็นพลังงานชีวมวลรูปแบบต่างๆ เช่น ถ่านไม้, Alcohol, Ethanol, Methanol สำหรับ เมล็ดกัญชง การศึกษาพบว่า ในน้ำมันจากเมล็ดมีโอเมกา 3 สูงมาก

นอกจากนี้ ยังมีโอเมกา 6, โอเมกา 9, linoleic acid, alpha- และ gamma-linolenic acid และสารในกลุ่มวิตามิน เช่น วิตามินอี ซึ่งเมื่อบริโภคแล้วจะมีประโยชน์ต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด และช่วยลดการเกิดโรคมะเร็งในร่างกาย

น้ำมันจากเมล็ดยังนำไปผลิตเป็นน้ำมันซักแห้ง สบู่ เครื่องสำอาง ครีมกันแดด แชมพู โลชั่นบำรุงผิว ลิปสติก แผ่นมาสก์หน้า และยังพบว่ามีโปรตีนสูงมาก นำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เนย ชีส เต้าหู้ โปรตีนเกษตร นม ไอศกรีม น้ำมันสลัด อาหารเสริม ฯลฯ หรือผลิตเป็นแป้งทดแทนถั่วเหลือง

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน