บูลลี่ (ตอนจบ)

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย… น้าชาติ ประชาชื่น

บูลลี่ (ตอนจบ) – “ฮวย” ถามว่า บูลลี่ ถูกบูลลี่ คืออะไร เป็นยังไง ป้องกันได้ไหม เมื่อวานตอบถึงที่มาและลักษณะบูลลี่ไปแล้ว จากอรรถาธิบายของ ผศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้วิจัยเรื่อง cyberbullying (ไซเบอร์ บูลลี่) ในประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย เผยแพร่ในเว็บไซต์ thepotential.org วันนี้มาดูปัจจัยป้องกันเด็กจากพฤติกรรมจอมบูลลี่

บูลลี่ (ตอนจบ)

ในต่างประเทศโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ มักจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ การใช้ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้สิ่งที่ชุมชนมีช่วยดูแลเด็กจะทำให้เด็กมีคุณภาพ ข้อดีของโรงเรียนขนาดเล็กคือจะแบ่งเด็กเป็นแต่ละประเภทได้ เด็กกลุ่มที่ถนัดเชิงตรรกะ กลุ่มศิลปินชอบศิลปะ กลุ่มชอบกิจกรรมกลางแจ้ง กลุ่มความถนัดทางกาย กลุ่มนักดนตรี กลุ่มภาษาวรรณกรรม หรือด้านอื่นๆ

เพราะเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาไม่เหมือนกัน เราควรแบ่งเด็กทั้งเชิงความสามารถและเชิงนิสัยตัวตน การแยกเด็กออกเป็นแต่ละประเภทจะทำให้ครูเข้าใจเด็กแต่ละคนได้อย่างเต็มที่ ครูจะรู้ว่าเด็กคนนี้มีความสามารถทางกาย เรียนไม่เก่ง แต่ชอบแข่งกีฬาและมีอารมณ์อ่อนไหว ควรจะดูแลในเรื่องใดบ้าง ขณะที่โรงเรียนใหญ่ผลิตคนแบบสายพาน เหมาโหล-เหมาเข่ง จะผลักให้จินตนาการและตัวตนของเด็กค่อยๆ หายไป

สำหรับโลกโซเชี่ยลในปัจจุบัน บ้านเราหยิบยื่นโทรศัพท์มือถือให้อย่างอิสระ ความรุนแรงในเกมหรือภาพที่ว่องไว ส่งผลต่อการเป็นสมาธิสั้นต่อเด็กเล็ก และมีผลบ่มเพาะความรุนแรงจากเนื้อหาเกมที่ไม่เหมาะสม ชีวิตเด็กอยู่แค่ 2 ที่เท่านั้น ไม่โรงเรียนก็บ้าน อยากให้ปัญหาเด็กเล็กเล่นโทรศัพท์กลายเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อทุกคนยื่นโทรศัพท์ให้กับเด็ก

เพราะจะได้เลี้ยงง่าย เด็กจะอยู่นิ่ง พ่อแม่จะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่น จริงๆ ไม่ใช่ ของเล่นที่สำคัญที่สุดในชีวิตของลูกที่ลูกต้องการ คือ พ่อแม่ ช่วงวัย 1-12 ปี ตั้งแต่คลอดมาจนพ้นอก มันเป็นช่วงเวลาเข้มข้นที่ลูกจะได้อยู่กับพ่อแม่ จนค่อยๆ ห่างออกไป

บูลลี่ (ตอนจบ)

ถ้าใน 12 ปีนี้ พ่อแม่จริงจังและเป็นทุกอย่างให้ลูก เมื่อเกิดอะไรก็ตามเขาจะกลับมาบอกพ่อแม่ จะคิดถึงพ่อแม่ก่อน แล้วในเวลาเดียวกันถ้าพ่อแม่ใส่ความรับผิดชอบ สอนเรื่องดีๆ เข้าไป เขาจะเปิดรับและฟัง เมื่อโตขึ้นเขาจะมีภูมิคุ้มกันในใจ เริ่มคิดได้ด้วยตัวเองว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ แต่ถ้าเราหยิบยื่นมือถือให้เขาตั้งแต่วันนี้ เวลาที่พ่อแม่จะให้กับลูกจะถูกดึงออกไป เวลาเขาโตเป็นวัยรุ่น ลูกไม่ฟัง ก็ไปโทษลูก

เมื่อเด็กขาดเซลฟ์จากทางบ้านและโรงเรียน จึงเป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้เขาต้องแกล้งคนอื่น เขารู้สึกเซลฟ์ตัวเองไม่เต็ม อาจจะเป็นความรู้สึกแค่ชั่วเวลาหนึ่ง หรือรู้สึกยาวๆ ก็ได้เหมือนกัน เมื่อเสียเซลฟ์ จะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่ดี ทำไม่ได้ ถ้าไม่เข้มแข็งพอก็อาจจะทำให้ฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง วิธีการดึงเซลฟ์กลับมา ก็จะมีหลายวิธี รวมถึงการกลั่นแกล้งคนอื่น

บูลลี่ (ตอนจบ)

คุณสมบัติทางใจเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มทำก่อน คนญี่ปุ่นบอกว่าการจะสร้างคนที่ดี ต้องสร้างใจให้แข็งแรงก่อน ฝึกให้ล้มลุกคลุกคลาน ให้รับผิดชอบ สอนให้ทำงานหนัก เอาความผิดพลาดมาเป็นบทเรียน แชร์ความผิดพลาดออกไป พลาดไม่ใช่เรื่องน่าอาย

เด็กไทยเวลาทำโจทย์ น้อยมากที่จะยกมือตอบ อาย กลัวตอบไม่ถูก กลัวเพื่อนล้อ ต่างจากญี่ปุ่น ถ้ามีเด็กตอบผิด ครูจะขอบคุณเด็กคนนั้น เพราะทำให้รู้ว่ามีอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้เกิดอีกหนึ่งคำตอบได้ และเพื่อนๆ ในห้องก็จะโค้งขอบคุณด้วยความจริงใจ

วิธีเช่นนี้จะทำให้เด็กกล้าตอบและไม่กลัวเสียเซลฟ์ ที่สำคัญครูต้องเปลี่ยนการประเมินบ้าง ครูประเมินนักเรียน นักเรียนประเมินครู เพื่อนประเมินเพื่อน ไม่ขึ้นอยู่กับเกรด จึงจะผลักปัญหาบูลลี่ออกไปได้

ในส่วนของพ่อแม่ ถ้ามั่นใจว่าดูแลลูกดีพอ จะสังเกตอาการได้ง่าย เพราะการโดนบูลลี่มันจะเกิดสิ่งที่ไม่ปกติขึ้น ถ้าเครื่องรีเช็กของพ่อแม่ดีพอ ใส่ใจลูกทุกวัน จะรู้เลยว่าลูกกำลังเศร้าหรือรู้สึกอย่างไรอยู่ เวลาเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับลูก แบ่งคุยกับเขาทุกวัน ให้เล่าว่าในแต่ละวันเกิดอะไรขึ้นบ้าง พ่อแม่จะรู้โดยอัตโนมัติทันทีว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา จะได้จัดการปัญหาและรักษาแผลที่เกิดขึ้นได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน