นุ่งสยามสามฤดู ใส่ผ้าไทยเที่ยวไทย
คอลัมน์ ข่าวสดหรรษา
นุ่งสยามสามฤดู - ผ้าไทย หรือผ้าพื้นเมือง ที่ใครๆ ก็มองว่าเก่าแก่ โบราณ ใส่ออกงานบ้างเป็นครั้งคราว แต่ใครจะคิดว่ากระแสผ้าไทยในปัจจุบัน กำลังจะเปลี่ยนวิถีผ้าไทยที่ดูเป็นเรื่องไกลตัวให้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว
สามารถหยิบจับมาร้อยเรียงเป็นแฟชั่นสุดสร้างสรรค์ พร้อมใส่ออกมาโลดแล่นสู่สายตาผู้คน ผ่านการเดินทางท่องเที่ยวที่จะเปิดประสบการณ์เก๋ไก๋ได้อย่างไม่รู้ลืม
นางจิราณี พูนนายม ผอ.กองตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.กำหนดแผนยุทธศาสตร์แผนวิสาหกิจ ปี 2560-2564 ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาด ผู้หญิง ด้วยการเปิดตัวแคมเปญ “นุ่งสยามสามฤดู” ด้วยแนวคิด “ซื้อผ้าไทย ใส่ผ้าไทย เที่ยวเมืองไทย”
เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผ้าไทยในมุมมองใหม่ในรูปแบบที่ทันสมัย นำเสนอการท่องเที่ยวแบบลึกซึ้งถึงประสบการณ์ท้องถิ่น เน้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางเรียนรู้สัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น วิถีชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น
โดยแคมเปญนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ปี 2562 มีนักท่องเที่ยวภายในประเทศเดินทางตามเป้าหมายที่ ททท.กำหนดไว้จำนวน 166 ล้านคนต่อครั้ง มีรายได้กว่า 1.12 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิม 5 เปอร์เซ็นต์

เวิร์กช็อปที่หมู่บ้านชาวไทดำ

กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาป่าหนาด
สร้างแรงบันดาลใจในการเดินทางแบบเก๋ไก๋ ด้วยการจัดทำ “Look Book นุ่งสยามสามฤดู” พร้อมจับมือกับ “ตุ้ม” กรรณิการ์ แสงจันทร์ สไตลิสต์สาวผู้หลงใหลผ้าไทย งานฝีมือท้องถิ่น มาร่วมออกแบบผ้าไทยให้ดูทันสมัย เหมาะใส่ในทุกโอกาส สร้างแรงบันดาลใจการแต่งผ้าไทยให้สวยเปรี้ยว นำเสนอเรื่องราวการเดินทางท่องเที่ยวผสมผสานกับแฟชั่นผ้าไทยในทริปนี้ด้วย
เมื่อชุดพร้อมจึงออกเดินทางไปร่วมกิจกรรมที่ จ.เลย เรียนรู้วัฒนธรรมอีสานที่หลากหลายมากด้วยสีสัน

ฝ้าย
จุดแรกเยี่ยมชม “กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาป่าหนาด” อ.เชียงคาน มาทำความรู้จักผลิตผ้าฝ้ายธรรมชาติ นางโสภา คุ้มคำ ชาวบ้านกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาป่าหนาด เล่าว่าเมื่อก่อนทุกบ้านในชุมชน ผู้หญิงจะต้องทอผ้าเป็นทุกคน
เมื่อตอนเด็ก ไม่เข้าใจแม่เลยว่าทำไมต้องมานั่งทอผ้าหลังขดหลังแข็งด้วย เพราะใครๆ ก็อยากจะใส่แต่เสื้อผ้าในตลาดทั้งนั้น จนเมื่อโตขึ้น ถึงได้เข้าใจว่าการทอผ้า ไม่ว่าจะเป็นไหม หรือฝ้าย มันคือภูมิปัญญาที่มีคุณค่ามากขนาดไหน
“งานทอผ้าด้วยวิธีโบราณที่ทำด้วยมือ แตกต่างจากงานที่ทำจากเครื่องจักรอย่างเห็นได้ชัด เพราะงานฝีมือ คนทำต้องใส่จิตใจลงไป ต้องอดทน ต้องมีใจรักในงานนั้นจริงๆ ผลงานที่ออกมาจึงไม่ได้เป็นแค่ผลิตภัณฑ์ แต่มีเรื่องราว ร่องรอยที่แฝงอยู่ตั้งแต่เริ่มทำจนกระทั่งเสร็จ มันไม่ได้เนี้ยบแต่มันมีชีวิตชีวา” นางโสภากล่าวอย่างภาคภูมิใจ

ชาวไทดำ
จากนั้นเดินทางไปต่อกันที่ “หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ” เป็นกลุ่มไทดำแห่งเดียวในภาคอีสาน จุดเด่นคือการแต่งกายของชาว ไทดำ เน้นสีดำเป็นหลัก ผ้าพื้นเมืองที่ตัดเย็บออกมาถ่ายทอดวิถีชีวิตชาวบ้านเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นกระดุมเรียงเม็ดถี่ๆ ของผู้ชายในหมู่บ้าน แสดงถึงการดำเนินชีวิตด้วยความรอบคอบ หรือกระดุมผีเสื้อของผู้หญิง สื่อถึงความสวยงาม และเรื่องเล่าตำนานมากมาย
นอกจากนี้ ยังมีเวิร์กช็อปเรียนรู้ผ้า จ.เลย และวิธีมิกซ์ แอนด์ แมตช์ ผ้าไทยให้ดูทันสมัย เหมาะสมใส่ทุกโอกาส โดย ตุ้ม กรรณิการ์ แสงจันทร์ มาเป็นผู้ช่วยชี้นำให้ผ้าไทยไม่น่าเบื่ออีกต่อไป

ร้านรวงในเชียงคาน
“การใส่ผ้าไทยไม่อยากให้ใส่แล้วมองว่ามันไทยจ๋าอะไรขนาดนั้น มันสามารถผสมผสานได้ มีเศษผ้าอะไรในบ้านก็นำมาดัดแปลงให้ดูเก๋ได้ ประยุกต์ได้ ที่สำคัญคือคนกล้าใส่ เพราะเสื้อผ้าเป็นอะไรได้มากกว่านั้น เราอยากจะเป็นต้นแบบ เป็นแรงบันดาลใจให้คนเห็นว่ามันใช้ได้หลากหลายและใช้ได้จริง ยิ่งเมืองไทยเป็นเมืองที่เที่ยวได้ทุกฤดู เราก็ถือโอกาสนี้รับสิ่งใหม่ๆ และสร้างสรรค์ผ้าไทยขึ้นมาจากสถานที่ท่องเที่ยวได้” สไตลิสต์ผู้หลงใหลในผ้าไทยกล่าว
มาเชียงคาน ต้องไม่พลาดเดินถ่ายรูปกับแสงแดดยามเย็น บรรยากาศริมแม่น้ำโขง ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตา ออกมาเดินชมตลาดถนนคนเดินอันเลื่องชื่อ โดยหนึ่งในตลาดร้านรวงริมทาง ยังมีความน่ารักของผลิตภัณฑ์ทำมืออย่าง “ผ้าห่มนวมฝ้าย” ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางย่านถนนคนเดิน

วิวแม่น้ำโขงเชียงคาน
หรือ “ร้านนิยมไทย” ที่ยังคงไว้ซึ่งงานหัตถกรรมพื้นบ้านมาแต่โบราณ ชมวิธีการทำผ้าห่มกันแบบเจาะลึก ฝ้ายแท้ๆ ในรูปของผ้า ห่มนวมหนานุ่ม ฤดูหนาวใช้ห่ม ฤดูร้อนใช้ปูนอนได้แบบสบายๆ
กระแสผ้าไทยที่กำลังมาในตอนนี้ไม่ใช่เล่นๆ การแต่งผ้าไทยในแบบประยุกต์ ผสมผสานเรื่องราว และความเก่าแก่ดั้งเดิมตามแบบฉบับท้องถิ่นเรียบง่าย แต่อัดแน่นไปด้วยความสร้างสรรค์ พร้อมออกเดินทางท่องเที่ยวในรูปแบบที่เก๋ไก๋ ไม่ซ้ำใครได้ทุกฤดูกาล “น้อย...แต่มาก เรียบ...แต่โก้” ของจริง