ป่าแก่งกระจานกับมรดกโลก (ตอนแรก) : รู้ไปหมด

ป่าแก่งกระจานกับมรดกโลกน้าชาติ ทำไมแก่งกระจานถึงไม่ได้เป็นมรดกโลก ลูกเพชรอยากรู้

ลูกเพชร

ตอบ ลูกเพชร

ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 43 ที่เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ซึ่งมีขึ้นระหว่าง 29 มิ.ย.-10 ก.ค.2562 และประเทศไทยมี นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตเอกอัครราชทูตประจำกรุงปารีส เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมตัวแทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้าร่วมประชุม และนำเสนอพื้นที่ “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ให้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ

ป่าแก่งกระจานกับมรดกโลก (ตอนแรก) : รู้ไปหมด

วาระดังกล่าวมีการพิจารณากันอย่างยืดเยื้อตั้งแต่วันที่ 5-7 ก.ค. เริ่มจากการประชุมวันที่ 5 ก.ค.ที่ไม่สามารถพิจารณาได้ จากนั้นคณะทำงาน 6 ประเทศจากกรรมการรัฐภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลก 21 คือ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นอร์เวย์ คิวบา ตูนิเซีย และคูเวต ได้หารือรายละเอียดร่วมกัน ต่อมาในวันที่ 6 ก.ค. มีผู้คัดค้านกรณีที่ประเทศไทยยังแจกแจงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชุมชนในพื้นที่ได้ไม่กระจ่าง ทำให้วาระการประชุมต้องเลื่อนออกไปอีก

ในที่สุดคณะกรรมการมีมติ “ไม่รับรองขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกปีนี้” ให้ไทยทำเอกสารเพิ่มเติมและส่งกลับเข้าสู่การพิจารณาใหม่ในปีต่อไป หรือภายใน 3 ปี

คณะกรรมการระบุให้ไทยทำข้อมูลเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็น คือ 1.ให้ดำเนินการเรื่องขอบเขตระหว่างไทยและพม่าให้ชัดเจน 2.ให้ทำข้อศึกษาเปรียบเทียบเรื่องขอบเขตพื้นที่ที่ลดลงว่ายังอยู่ภายใต้ข้อกำหนดระเบียบข้อที่ 10 ของการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติที่ว่าด้วยเรื่องทางหลากหลายชีวภาพ และ 3.ให้ทำข้อห่วงกังวลเรื่องชุมชนในพื้นที่ ซึ่งคณะกรรมการเป็นห่วงประเด็นสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่

ป่าแก่งกระจานกับมรดกโลก (ตอนแรก) : รู้ไปหมด

“ข่าวสด” รายงานเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา “เปิดปูมเบื้องลึก กลุ่มป่าแก่งกระจาน ชวดเป็นมรดกโลก ปัญหาชาวบ้านไม่แก้ แต่ยังดื้อไปเสนอ” หลังมีข้อสรุปแน่ชัดแล้วว่ากลุ่มป่าแก่งกระจานไม่ได้รับคัดเลือกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก นายสีหศักดิ์ชี้แจงว่า เหตุเนื่องจากการส่งข้อมูลที่ล่าช้า ทั้งเรื่องการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับเมียนมา และเรื่องสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งดำเนินการแก้ปัญหาแล้ว ข้อมูลทั้งหมดต้องถึงที่ประชุมภายในวันที่ 1 ก.พ. 2562 แต่การแก้ปัญหาของเราไม่ว่าจะเป็นการแก้กฎหมาย คนและชุมชนอยู่กับป่านั้น กฎหมายเพิ่งประกาศเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลอีกด้านพบว่าปัญหาหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขคือสิทธิความเป็นคนของกะเหรี่ยงในพื้นที่ ซึ่งทุกวันนี้ชาวบ้านยังต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก หลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานเผาขับไล่ลงมาจากใจแผ่นดิน ทั้งนี้ นิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้าน บางกลอย กล่าวว่า ชาวกะเหรี่ยงอยู่ที่นี่มาเนิ่นนานแล้ว บรรพบุรุษของตนเกิดในพื้นที่นี้ ตนเกิดที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เพิ่งถูกให้อพยพลงมาเมื่อไม่นานนี้ ยืนยันว่าชาวกะเหรี่ยงไม่คัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่ต้องแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านเสียก่อน เพราะเป็นความเดือดร้อนหลังจากอพยพย้ายชาวบ้านลงมา

โดยเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ชาวกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย 120 คน ได้ลงชื่อเรียกร้องเป็นหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลก เนื้อความในจดหมายระบุว่า ชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอยไม่เห็นด้วยกับการเสนอมรดกโลกในช่วงเวลานี้ เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินการของหน่วยงานรัฐไม่ยอมรับการมีตัวตนของชาวกะเหรี่ยง และยังไม่ได้แก้ไขปัญหาที่อพยพย้ายชาวกะเหรี่ยงใจแผ่นดินบางกลอยบนออกจากชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ตลอดจนที่ผ่านมาชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ยังไม่มีการรับรู้และความเข้าใจแนวทางการเตรียมการเสนอเป็นมรดกโลกและการมีส่วนร่วมที่เพียงพอ

ฉบับพรุ่งนี้ (10 ก.ย.) อ่านกันต่อ หนังสือจากชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานถึงคณะกรรมการมรดกโลก

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน