ป่าแก่งกระจานกับมรดกโลก (ตอนจบ)

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

ป่าแก่งกระจาน – ฉบับวันก่อน “ลูกเพชร” ถามมาว่า ทำไมแก่งกระจานถึงไม่ได้เป็นมรดกโลก เมื่อวาน “เปิดปูมเบื้องลึก กลุ่มป่าแก่งกระจาน ชวดเป็นมรดกโลก ปัญหาชาวบ้านไม่แก้ แต่ยังดื้อไปเสนอ” อ้างอิงรายงานจาก “ข่าวสด” ว่าด้วยหนังสือจากชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานถึงคณะกรรมการมรดกโลก เมื่อวานตอบส่วนต้นไปแล้ว วันนี้อ่านกันต่อ

ป่าแก่งกระจาน

ชาวกะเหรี่ยงมีข้อเสนอให้รัฐยอมรับในวิถีชีวิตและวิถีวัฒนธรรมชุมชนกะเหรี่ยงอย่างแท้จริง มิใช่การยอมรับเพียงการร้องรำทำเพลงหรือเพียงศิลปะการละเล่น อีกทั้งไม่ยอมรับการดำเนินการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติในการกำหนดพื้นที่หลักควบคุม (แปลง CN) ตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย. 2541 แต่ให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค. 2553 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ปฏิบัติและดำเนินการต่อชาวกะเหรี่ยง ตลอดจนขอกลับไปทำกินตามวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม คือบ้านใจแผ่นดินและบ้านบางกลอยบน มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินที่เพียงพอตามวิถีวัฒนธรรมและระบบการผลิตแบบไร่หมุนเวียน

ข้อเรียกร้องสุดท้ายคือ ขอให้ยกเลิกการท่องเที่ยวซึ่งดำเนินการโดยบุคคลภายนอก จนกว่าชุมชนจะมีความพร้อมในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเอง ในตอนท้ายของจดหมายชาวบ้านกะเหรี่ยงหวังว่า คณะกรรมการมรดกโลกจะรับฟังข้อมูลจากชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมที่มีพื้นเพอยู่อาศัยมาก่อนประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกว่าหลายร้อยปี

ขณะที่ สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ที่ให้ความรู้เรื่องกฎหมายกับชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน กล่าวว่า จากที่ติดตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอยที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ชาวบ้านเห็นด้วยกับการที่จะขึ้นทะเบียนให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก แต่ถ้าจะขึ้นแล้วต้องไม่มองเฉพาะ สัตว์ป่า ต้นไม้ แม่น้ำ พันธุ์พืชต่างๆ เท่านั้น แต่ต้องมองถึงวิถีของคนกับป่าด้วย

ป่าแก่งกระจาน

สำหรับแก่งกระจาน ชาวบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินช่วยกันรักษาป่าไม้ให้อุดมสมบูรณ์จนสามารถเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับคือถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานบุกขึ้นไปเผาบ้านและยุ้งข้าวจนต้องเอาเรื่องขึ้นมาสู้กันในศาลปกครอง ซึ่งมีคำพิพากษายืนยันว่าพวกเขาเป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิม

อีกทั้งที่ผ่านมาชาวบ้านเคยทำข้อมูลเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยที่ขับเคลื่อนเรื่องการขึ้นมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน แต่ไม่ได้รับความสนใจ จนเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ก็ทำหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลก ระบุว่ายังไม่มีการแก้ปัญหาในพื้นที่ แต่เจ้าหน้าที่ไทยยังดื้อที่จะนำเสนอให้กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลก ปรากฏว่าทั่วโลกเห็นว่ายังมีปัญหาตรงนี้อยู่ จึงขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไม่ได้

สุรพงษ์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐไทยต้องทบทวนใหม่ร่วมกับ ชาวบ้านในพื้นที่ ให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการขอขึ้นทะเบียน ตอนนี้มีเวลาอย่างน้อย 1 ปี รัฐบาลต้องลงมาคุยกับชาวบ้านและปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค.2553 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง พร้อมกันนี้ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ปัญหาชาวบ้านในพื้นที่ พิสูจน์ว่าเขาอยู่ในพื้นที่มาก่อนหรือไม่ ถ้าเขาอยู่มาก่อนต้องให้เขาได้เลือกกลับไปอยู่บ้านเดิมบนใจแผ่นดิน และดำเนินวิถีชีวิตของเขาได้เหมือนดังเดิม สามารถทำไร่หมุนเวียน ปลูกพืชผักได้

ป่าแก่งกระจาน

ถ้าไทยจะนำเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานให้ถูกพิจารณาเป็นมรดกโลกอีกครั้งในครั้งต่อไป สิ่งสำคัญที่ต้องทำทันทีคือแก้ปัญหาคนกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้ตามวิถีที่ยึดถือสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน และต้องให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมด้วย หากทำสำเร็จ การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป

  • ข่าวเกี่ยวข้อง

ป่าแก่งกระจานกับมรดกโลก (ตอนแรก)

เปิดคลิป บิลลี่ แฉปัญหาแก่งกระจาน ยันชาวบ้านถูกเผาไล่ที่ จนไร้ที่อยู่!

กะเหรี่ยงแก่งกระจาน ยื่น 6 ข้อ จี้แก้ปัญหาคนกับป่า พร้อมขอมีส่วนร่วมขึ้นทะเบียนมรดกโลก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน