‘ฟ็อกซ์ฮันต์’ปั้นลูกหนังคุณภาพ

ที่นักเตะได้มากกว่าแค่‘ฟุตบอล’

คอลัมน์ ข่าวสดหลากหลาย

‘ฟ็อกซ์ฮันต์’ปั้นลูกหนังคุณภาพ – ตั้งแต่กลุ่ม คิง เพาเวอร์ เข้าเทกโอเวอร์ และ เปลี่ยนเลสเตอร์ ซิตี้สร้างประวัติศาสตร์ หักปากกาเซียน ด้วยการคว้าแชมป์ พรีเมียร์ ลีก ด้วยอัตรา ต่อรอง. 5000-1

สิ่งที่ คิง เพาเวอร์ ทำนอกจากนั้นคือการสร้างโปรเจ็กต์พิเศษฟ็อกซ์ ฮันต์เพื่อสานฝัน เยาวชนไทยอายุไม่เกิน 16 ปี ได้มีโอกาสเข้าไปฝึกฝน และเรียนรู้ทักษะฟุตบอลแบบมืออาชีพ ที่อังกฤษ เรียกว่า ใต้ชายคาเดียวกับนักเตะระดับโลกของ เลสเตอร์ ซิตี้เลยทีเดียว

โดยที่ผ่านมา ฟ็อกซ์ ฮันต์ รุ่น 1 จำนวน 16 คน และ ฟ็อกซ์ ฮันต์ รุ่น 2 จำนวน 16 คน จบการศึกษาตามหลักสูตร 2 ปีครึ่งแล้ว

‘ฟ็อกซ์ฮันต์’ปั้นลูกหนังคุณภาพ

ฟิล กิลคริสต์ ผู้ดูแลแข้งเยาวชน

‘ฟ็อกซ์ฮันต์’ปั้นลูกหนังคุณภาพ

แข้งฟ็อกซ์ฮันต์ประเดิมฤดูกาล

‘ฟ็อกซ์ฮันต์’ปั้นลูกหนังคุณภาพ

ฟ็อกซ์ ฮันต์เข้าโรงเรียน

ปัจจุบันหลายต่อหลายคนได้สานต่อเส้นทางฝัน อาวิน มหจินดาวงศ์, ณพนันท์ ทิพย์อักษร, ธนธรณ์ น้ำจันทร์ และ วรากร เขตสมุทร ได้ไปต่อกับ โอเอช ลูเวิน ทีมสาขาของ คิง เพาเวอร์ ในลีกเบลเยียม และกำลังต่อสู้เพื่อการก้าวขึ้นไปเป็นนักเตะอาชีพเต็มตัวที่นั่น

อีกส่วนกลับมาเมืองไทย และทีมในไทยลีก ทั้งลีกบน ลีกรองกระโดดตะครุบเข้าทีมตั้งแต่ยังอยู่ที่นู่น เช่น ราชัน ประสิทธิทอง ค้าแข้งอยู่กับ นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี, จิรัฐติกาล วาพิลัย และ อนนต์ สมากร อยู่กับ การท่าเรือ เอฟซี ฯลฯ

แต่ใครจะรู้ว่า นักเตะฟ็อกซ์ ฮันต์ ที่ถูก สต๊าฟโค้ชเลสเตอร์ เลือกไปนั้น ใช้ชีวิตอย่างไรในอังกฤษ และพวกเขามีโอกาสมากแค่ไหนในเส้นทางฟุตบอลอาชีพที่นั่น

‘ฟ็อกซ์ฮันต์’ปั้นลูกหนังคุณภาพ

จอห์น เรดดิน ผอ.แรตคลิฟฟ์รับแข้งฟ็อกซ์ ฮันต์วันเปิดเทอม

‘ฟ็อกซ์ฮันต์’ปั้นลูกหนังคุณภาพ

เข้าชมสุสาน พระเจ้าริชาร์ดที่ 3

‘ฟ็อกซ์ฮันต์’ปั้นลูกหนังคุณภาพ

แข้งฟ็อกซ์ ฮันต์ ชมเมืองเลสเตอร์

ข่าวสดมีโอกาสร่วมคณะไปกับคิง เพาเวอร์ ในการเดินทางไปยังเลสเตอร์ เพื่อส่งนักเตะเยาวชน ฟ็อกซ์ ฮันต์ รุ่น 3 และ รุ่น 4 เข้าเรียนที่โรงเรียน แรตคลิฟฟ์ คอลเลจ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นโรงเรียนเอกชน ที่ดีที่สุดติดท็อป 10 ของสหราชอาณาจักร

สภาพแวดล้อม

สภาพแวดล้อมของ แรตคลิฟฟ์ คอลเลจ หากอธิบายง่ายๆ ให้เห็นภาพ ไม่ได้ต่างจากโรงเรียนในภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์เลย ที่นี่เป็นโรงเรียนประจำ

มีการแบ่งบ้านเป็น 4 บ้าน คือ บ้าน อลันเดล, เอมิรี่, ลีธาม, เดอ ลาย ซึ่งเป็น การแยกเด็กนักเรียนสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งรูปแบบนี้เป็นรูปแบบของโรงเรียนคาทอลิก ในอังกฤษ ทำให้นักเรียนต่างแดนได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับเพื่อนชาวต่างชาติ

‘ฟ็อกซ์ฮันต์’ปั้นลูกหนังคุณภาพ

เปิดเรียนในชุดเต็มยศ

บรรยากาศแรตคลิฟฟ์ คอลเลจ แทบไม่ต่างจาก ร.ร. ฮอกวอตส์

การกีฬา ที่โรงเรียนนี้ก็โดดเด่นไม่ย่อย ตามบอร์ดจะเห็นข่าวศิษย์เก่า ติดรักบี้ทีมชาติอังกฤษบ้าง นักเรียนปัจจุบันบางคนถูกเซ็นสัญญาไปเล่นกับทีมอะคาเดมีของสโมสรดังๆ

ราคาค่าเล่าเรียนก็ไม่ใช่เล่นๆ เพราะอย่างที่บอก เป็นสถาบันตัวท็อปที่ว่ากันว่า ค่าเทอมตก 50,000 ปอนด์ กดเครื่องคิดเลข ดูแล้วกันว่า โครงการฟ็อกซ์ ฮันต์ ใช้ งบประมาณสำหรับสร้างนักเตะเลือดใหม่ขนาดไหน ว่ากันว่าตกหัวละ 8 หลักเงินบาทไทยกันเลยทีเดียว

แน่นอนว่า นอกจากเรื่องของโอกาส ทางเกมลูกหนังแล้ว นี่คือโอกาสด้านการศึกษาที่เด็กบ้านนอก ยิ่งกว่าฝันที่ได้อยู่ใน โปรเจ็กต์นี้

ตั๋ม อภิวัฒน์ ไพรสน

เจ้าตั๋มอภิวัฒน์ ไพรสน กองหน้าจากโรงเรียนเทศบาล วัดจอมคีรีนาคพรต .นครสวรรค์ กองหน้า ฟ็อกซ์ ฮันต์ รุ่น 3 เล่าว่าชีวิตผมไม่ได้ร่ำรวย ครอบครัวต้องดิ้นรน พ่อเลิกทำสวนไปเป็นรปภ. แม่ยัง ทำสวนอยู่ ผมมีแค่ฟุตบอล ชีวิตนี้ก็คิด แค่ว่า อยากเล่นฟุตบอล แต่ตอนนี้ผมได้โอกาสมาเรียนต่อถึงอังกฤษ ได้สัมผัสประสบการณ์ที่ทุกวันนี้ผมยังคิดว่าผมยังฝันอยู่ด้วยซ้ำ

สิ่งที่ได้นอกจากฟุตบอล คือเรื่อง ของภาษา แม้ผมจะยังช้าอยู่ ยังตามเพื่อนพอสมควร แต่ก็พยายามมากๆ เพราะมันสำคัญมาก เพราะนี่คือสิ่งที่ผมต้องเก็บเกี่ยวกลับไป และมันส่งผลต่อการเล่นฟุตบอลของผมที่อังกฤษด้วย เพราะต้องทำความเข้าใจเรื่องแผนการเล่นกับโค้ช ที่เลสเตอร์ส่งมาดูแลพวกเรา

ครูชมพู่-ภฤศกร ชาวงศ์

นักเตะฟ็อกซ์ ฮันต์มีครูชมพู่ภฤศกร ชาวงศ์ ครูชาวไทย ซึ่งมาทำงานที่อังกฤษ สอนวิชา Btec Sport teacher Assistance EAL Support และยังทำหน้าที่ครูที่ปรึกษา และ ฟิล กิลคริสต์ อดีตนักฟุตบอลของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่ เป็นผู้ดูแลแข้งเยาวชนจากโครงการ Fox Hunt

ตลอดจันทร์ถึงศุกร์ 09.05-13.00 . อัดกันไปเลย 3 วิชา คือ BTEC Sports First, EAL (English as an Additional Language) และ ECDL (วิชาคอมพิวเตอร์) ช่วงบ่าย จะไปฝึกซ้อมที่สนามฝึกซ้อมของเลสเตอร์

3 วิชานี้ก็ถือว่าครอบจักรวาลเลยทีเดียว แค่วิชา BTEC ซึ่งให้ความรู้ด้านกีฬาทุกๆมิติ ไม่เพียงแค่เรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬาที่สอนให้นักเตะ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ร่างกายเล่นกีฬาแล้ว ยังต่อยอดไปถึงการ บริหารธุรกิจกีฬา และกฎหมายด้านกีฬา

เฉพาะกับ BTEC Sport นั้นจะสอนให้ นักเตะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การกีฬาแบบละเอียดยิบ ตั้งแต่การคำนวณโภชนาการ คำนวณสปีดความเร็วต่างๆ การวางแผนฝึกซ้อมตามหลักสถิติ การฟิตเนสเทสต์ต่างๆ การเรียนรู้การใช้ออกซิเจน และเก็บค่าสถิติของร่างกาย เพื่อให้นักเตะได้รู้จัก และเสริมสร้างสมรรถนะร่างกายของตัวเอง ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเตะอะคาเดมีที่อังกฤษ ทำตั้งแต่เด็ก แต่สิ่งเหล่านี้กว่านักเตะไทยจะได้สัมผัสก็ต้องเข้าสู่สโมสรอาชีพไปแล้ว

นั่นหมายความว่า แข้งฟ็อกซ์ ฮันต์ ได้เริ่มต้นเร็วกว่านักเตะไทยในรุ่นราว คราวเดียวกันเกือบ 10 ปี

โจชินวัตร ชีมูล อีกหนึ่งแข้งฟ็อกซ์ ฮันต์ เล่าว่าผมได้อะไรมากมาย เรื่องวิชาเกี่ยวกับการกีฬานั้น ทำให้เราเข้าใจร่างกาย และรู้ว่าเราต้องทำอย่างไรเพื่อให้ร่างกายเราเค้นศักยภาพออกมาให้มากที่สุด อย่างก่อนหน้านี้ผมไม่ได้กินน้ำก่อนเตะเลย แต่วิชานี้สอนให้รู้ว่าร่างกายต้องการอะไร และนั่นส่งผลต่อผลงานในสนามมากๆ ผมสามารถนำไปต่อยอดในการเล่นกีฬา ได้มาก และเรื่องแบบนี้ผมไม่เคยรู้มาก่อนที่เมืองไทย

นีโอ คณพศ กาดี ผู้รักษาประตูวัย 16 ปี

เรายังได้พูดคุยกับนีโอคณพศ กาดี ผู้รักษาประตูวัย 16 ปี ที่พาเดินชมโรงเรียนประจำของพวกเขาว่าอาหารการกินที่นี่ก็มีส่วนครับ ผมให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพราะผมเล่นในตำแหน่งที่ต้องใช้ความสูง ตอนนี้ผมสูงขึ้นหลายเซนติเมตร ตอนนี้ราวๆ 185 ..แล้ว ผมคิดว่าวัตถุดิบของอาหารที่อังกฤษมีผลมากๆ ทั้งพวกนม พวกเนื้อ หรือขนมปังต่างๆ ประกอบกับที่ได้เรียนวิชา BTEC Sport ทำให้ผมรู้ว่าผมต้องทานอะไร และต้องออกกำลังกายอย่างไร แถมที่โรงเรียนก็มีห้องออกเวตเทรนนิ่งที่พร้อมมากๆ ยิ่งช่วยพวกผมได้มาก

หอพักเด็กประจำ

จากนั้นช่วงบ่าย ฟ็อกซ์ ฮันต์ จึงจะเดินทางไปฝึกซ้อมที่ เลสเตอร์ เทรนนิ่งกราวด์ ใต้ชายคาเดียวกับนักเตะอย่าง เจมี่ วาร์ดี้, เจมส์ แมดิสัน ฯลฯ เพียงแต่ในส่วนของ ฟ็อกซ์ ฮันต์ จะมีทีมงานของเลสเตอร์ มาดูแลเฉพาะ นำโดย สตีฟ ฮีลีย์ หัวหน้าผู้ฝึกสอน

และล่าสุดแข้งฟ็อกซ์ ฮันต์ เปิดสนามนัดแรกของปีการศึกษาด้วยการเฉือนเอาชนะ ทีมนอร์ธ เกนต์ ไป 3-2 ประเดิมอย่างสวยงามทีเดียว

ถามว่า โอกาสของนักเตะ ฟ็อกซ์ ฮันต์ กับการเป็นนักเตะอาชีพบนแผ่นดินอังกฤษ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากข้อจำกัดด้าน กฎหมายต่างๆ ที่อังกฤษนั้น ไม่เอื้อให้ นักเตะไทย ซึ่งกำแพงที่นั่น เรียกว่าหลายชั้นเอามากๆ การจะเข้าอะคาเดมีที่นั่นได้ ต้องมีสัญชาติอังกฤษ ถ้าไม่มีก็มองที่ข้อ ถัดไป ทีมชาติก็ต้องมี ฟีฟ่า แรงกิ้งที่สูงพอ ระดับท็อป 50 ของโลก และก็มีอีกข้อ คือ นักเตะต้องติดทีมชาติตามเกณฑ์ที่กำหนดอีก

ห้องฟิตเนส ครบวงจร

แต่ด้วยวิสัยทัศน์ และมรดกที่คุณวิชัย ศรีวัฒนประภา อดีตประธานสโมสร ทิ้งไว้ กับการเข้าเทกโอเวอร์ กิจการของสโมสรในเบลเยียม เพื่อเป็นสะพานให้นักเตะไทยที่ดีพอ ไปชุบตัวที่นั่นอย่างน้อย 3 ปี เพื่อให้เข้าเกณฑ์ในการเป็นนักเตะที่อยู่ในสหภาพยุโรป

ตรงนั้นเป็นเรื่องของอนาคต ยังไม่มีใครตอบได้ว่าแข้ง ฟ็อกซ์ ฮันต์ จะก้าวไปถึงฝั่งฝันได้กี่คน การเดินทางไกลของ ฟ็อกซ์ ฮันต์ จะถึงดวงจันทร์หรือไม่ แต่ตอนนี้พวกเขาหลายคนก็ดีพอที่จะอยู่ท่ามกลางดวงดาวแล้ว

เพราะสุดท้ายหากนักเตะในโครงการจะไม่ได้เล่นในพรีเมียร์ลีก ตามเป้าหมาย แต่ประสบการณ์มากมายที่ได้จากโครงการนี้ก็มากพอที่จะช่วยต่อยอดในการไล่ตามความฝันการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ทั้งที่บ้านเกิดประเทศไทย หรืออาจจะในลีกต่างชาติอื่นๆ ช่วยเสริมทีมชาติให้แข็งแกร่งในทางหนึ่งอยู่ดี

ชัยรัตน์ ศิริวุฒิ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน