พ.ร.บ.อุ้มหาย! เป้าหมายที่คงอยู่ ‘อังคณา’แมกไซไซ

พ.ร.บ.อุ้มหาย! เป้าหมายที่คงอยู่ ‘อังคณา’แมกไซไซ – “ช่วงที่ขึ้นไปรับรางวัล ได้กล่าวขอบคุณและพูดถึงบทบาท ที่ผ่านมาในฐานะที่เราเป็นเหยื่อและพลิกตัวเองขึ้นมาเป็น ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติ โดยสรุปคือได้กล่าวว่าเรื่องประชาธิปไตยและเรื่องสิทธิมนุษยชนสำคัญมาก ทุกคนขึ้นมาแสดงบทบาทแบบนี้ได้

รับรางวัลรามอน แมกไซไซ จากรองประธานาธิบดีหญิง

เราสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งที่เราไม่เคยคาดหวัง สุดท้ายมันเป็นการเปลี่ยนแปลงของผู้หญิง เป็นการเปลี่ยนแปลงของครอบครัว นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับชาติ

ในฐานะที่เป็นผู้หญิงคนเดียวที่ได้รับรางวัลแมกไซไซในปีนี้ เป็นความภาคภูมิใจที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงสามารถทำงานที่ยากลำบากและท้าทายได้ไม่ต่างจากผู้ชาย

เปิดใจให้สัมภาษณ์

โดยเฉพาะการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงในการวางรากฐานการเคารพในสิทธิ ศักดิ์ศรี และคุณค่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลทุกคนในสังคม”

คำให้สัมภาษณ์ของสตรีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนรางวัล แมกไซไซคนล่าสุด อังคณา นีละไพจิตร จากเหยื่อสู่นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ในระหว่างเปิดใจให้สัมภาษณ์ “ข่าวสด” หลังเดินทางกลับจากการรับรางวัลรามอน แมกไซไซ ค.ศ.2019 ซึ่งเปรียบเสมือน “โนเบลแห่งเอเชีย” ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา

การมอบรางวัลจัดขึ้นที่ศูนย์วัฒนธรรมฟิลิปปินส์ โดยมี นางลีโอนอร์ โรเบรโด รองประธานาธิบดีหญิงฟิลิปปินส์ เป็นประธานในพิธีและเป็นผู้มอบรางวัลให้อังคณา มีผู้ร่วมรับรางวัล แมกไซไซในปีนี้อีก 4 คน ได้แก่ คิม จอง กิ ชาวเกาหลีใต้, ราวิช กุมาร นักข่าวอินเดีย, โก ฉ่วย วิน นักข่าวเมียนมา และไรมุนโด ปูจันเต คายับยับ ชาวฟิลิปปินส์ ทุกคนต่างพูดเหมือนกันว่ารางวัลนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่บอกว่าจะต้องทำงานให้มากขึ้นและต่อเนื่อง

อังคณาเล่าว่าการเดินทางไปรับรางวัลครั้งนี้มีโอกาสทำกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งการไปบรรยายให้นักศึกษาฟิลิปปินส์ซึ่งค่อนข้างตื่นตัวในเรื่องสิทธิมนุษยชน และรู้สึกดีใจมากที่มีโอกาสพบครอบครัวอดีตประธานาธิบดี รามอน แมกไซไซ

ลูกๆ เคียงข้างวันรับรางวัล

กำลังใจสำคัญของอังคณาซึ่งก็คือลูกๆ ร่วมเดินทางมาพร้อมคุณแม่ในงานรับรางวัลด้วย อังคณาบอกว่า “ลูกๆ ก็ตื่นเต้น เพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่าเราจะได้รับรางวัล ของไทยเอง หลังจากเภสัชกรหญิง กฤษณา ไกรสินธุ์ ได้รับรางวัลนี้เมื่อสิบปีที่แล้ว ก็ไม่มีใครได้รับรางวัลนี้อีก และมีโอกาสได้เห็นพระรูป สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระองค์ท่านเคยได้รับรางวัลมีอาจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จอน อึ๊งภากรณ์ และอีกหลายๆ ท่านที่เป็นคนไทยและเคยได้รับรางวัลนี้ทุกคนเป็นกัลยาณมิตรที่ดี ของเรา”

อังคณากล่าวต่อว่าดีใจที่มีคนเห็นคุณค่า เป็นกำลังใจให้เราต่อไป มักจะบอกเพื่อนๆ ว่าเรามาจากคนที่ไม่ได้มีฐานอะไรเลย เป็นเหมือนคนอื่น เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เหมือนกับว่าทุกคนที่ทำงานมีคนเห็นนะ ถึงแม้ว่าวันนี้หลายคนถูกข่มขู่คุกคาม ก็ยังมีคนเห็นคุณค่า เห็นความดี ตรงนี้เป็นความภาคภูมิใจที่เราได้รับ

“การไปรับรางวัลที่ฟิลิปปินส์ครั้งนี้ เราได้ไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเขาในเรื่องการอุ้มหาย ที่ฟิลิปปินส์เขาก็เจอปัญหาเรื่องการอุ้มหายเยอะ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงสงครามยาเสพติดเหมือนในเมืองไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

ในงานรับรางวัลมีนักศึกษาเข้ามาขอถ่ายรูป มาพูดคุยด้วยเยอะมาก อย่างที่บอกเขาค่อนข้างตื่นตัวเรื่องสิทธิมนุษยชน เขามีคำถามที่หลากหลายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมระหว่างเพศ เป็นปัญหาที่อาเซียนเผชิญร่วมกัน เช่น เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนชนข้ามพรมแดน และมีคำถามเรื่องความขัดแย้งในภาคใต้ ในฟิลิปปินส์เขามีความขัดแย้งมานานที่มินดาเนา มีคำถามที่ท้าทายเช่นว่าแล้วเราจะทำอย่างไร เยาวชนในอาเซียนจะมีบทบาทอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลง อย่างเช่น ที่ฮ่องกงแกนนำที่ออกมาตั้งคำถามก็เป็นเยาวชน

ในขณะที่อังคณาเดินทางไปรับรางวัล แมกไซไซ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศไทยมีข่าวใหญ่ เมื่อกรมสอบสวน คดีพิเศษ หรือดีเอสไอแถลงว่า บิลลี่ หรือ นายพอละจี รักจงเจริญ บุคคลที่สูญหายเป็นระยะเวลา 5 ปี พบว่าเสียชีวิตแล้ว

อังคณาเล่าว่าตอนนั้นมีโอกาสไปที่สมาพันธ์ผู้ถูกบังคับสูญหายของเอเชีย ตั้งอยู่ที่ฟิลิปปินส์ ญาติคนหายเข้ามาพบมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการบังคับสูญหายกับเรา เพราะเขารู้ว่าเราทำงานด้านนี้เยอะ ฟิลิปปินส์มีกฎหมายด้านการบังคับสูญหาย จึงให้ความคุ้มครองเยียวยาได้ ไทยยังไม่มีเลย แม้ว่าครม.ปี 2559 มีมติให้สัตยาบันมีกฎหมาย แต่สนช.ไม่พิจารณากฎหมายฉบับนี้

“คนรุ่นใหม่ตื่นตัวเกี่ยวกับการอุ้มหายมากขึ้นหลังจากคดีบิลลี่ ที่ผ่านมาสังคมเหมือนจะชาชินกับเรื่องนี้ทั้งที่เรามีอนุสาวรีย์ถังแดงที่พัทลุงชาวบ้านก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่มีใครตระหนักว่าจริงหรือไม่ เป็นแค่ข่าวลือว่ามีการถีบลงเขาเผาลงถัง ตั้งแต่คดีสมชาย นีละไพจิตร ดีเอสไอก็ตรวจสอบพบถัง 4 ถัง แต่ยังไม่มีการยืนยันว่าเป็นสมชาย พอของบิลลี่พบกระดูกตรวจสอบยืนยันว่าเป็นบิลลี่ ทำให้สังคมไทยช็อก เพราะไม่คิดว่าจะมีเรื่องโหดเหี้ยมอำมหิตขนาดนี้ ต้องขอบคุณสังคมที่ร่วมรณรงค์ให้ประเทศไทยมีกฎหมายเรื่องการอุ้มหาย เพื่อป้องกันยุติเรื่องการบังคับสูญหาย เรื่องนี้ต้องให้สังคมช่วยผลักดัน

คดีบิลลี่ เจ้าหน้าที่ตำรวจเก่ง ดีเอสไอก็เก่งมาก คิดว่าถ้าจะติดตามตัวผู้กระทำผิดโดยไม่เกรงกลัวอิทธิพล ให้ความคุ้มครองพยาน เชื่อว่าสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ เรื่องของทนายสมชายเป็น บทเรียนหนึ่งที่เราเรียนรู้ว่าสุดท้ายถ้าพยานหวาดกลัว เอกสารไม่น่าเชื่อถือ จะไม่สามารถเอาผิดใครได้เลย อยากให้ดีเอสไอใช้บทเรียนจากคดีสมชายหาหลักฐานให้รัดกุม

หวังว่าครอบครัวจะได้รับการเยียวยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเยียวยาทางจิตใจ กับ ‘มึนอ’ ภรรยาบิลลี่ ที่จริงติดต่อกันตลอด อยากบอกว่ามีหลายคนพร้อมจะยืนเคียงข้างเขา ผู้คนในสังคมเองด้วย จะเป็นกำลังใจให้ครอบครัวเขาเข้มแข็ง เพราะการต่อสู้เรื่องคดียังอีกนาน

ถ้าถามว่าเห็นคดีบิลลี่แล้วเรามีความหวังขึ้นหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าคดีสมชายในความรู้สึกเรามันยาก ผู้ต้องสงสัยหรือผู้ที่มีหลักฐานเชื่อมโยงในการใช้โทรศัพท์เป็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนให้มีตำแหน่งที่ก้าวหน้าขึ้น ทุกคนหวาดกลัว คดีนี้ไม่เหมือนกัน ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความเต็มใจของรัฐบาลที่จะช่วยคลี่คลายในคดีนี้มากกว่า ดีเอสไองดการสืบสวนไปแล้ว และบอกเราว่าถ้าครอบครัวมีหลักฐานเพิ่มเติมให้ไปบอก ไม่ใช่เรื่องง่าย เราไม่มีอำนาจที่จะไปสืบสวน แต่เชื่อว่าวันหนึ่งนานแค่ไหนไม่รู้ ความจริงจะปรากฏ”

จากนั้นอังคณาเล่าถึงความพยายามยื่นหนังสือผลักดันพ.ร.บ.อุ้มหายว่า เนื่องจากวันที่ 30 ส.ค. เป็นวันระลึกถึง ผู้ถูกบังคับสูญหายสากล จึงอยากยื่นหนังสือผลักดันพ.ร.บ.บังคับสูญหายก่อน แต่วันนั้นไม่ได้ยื่นเพราะประธานสภาฯ ไม่สะดวก ก็ยังพยายามขอนัด อยากกระตุ้นเพราะทราบว่าร่างพ.ร.บ.ที่เข้าไปมีการปรับแก้เยอะจนสาระสำคัญหายไป จึงอยากไปหารือกับประธานสภา ในขณะที่เรายังไม่มีกฎหมายเรื่องนี้ ประเทศไทยควรให้สัตยาบันอนุสัญญาคนหายของสหประชาชาติไปก่อน เพราะจะแสดงถึงเจตจำนงทางการเมืองว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทยด้วย ทั้งนี้จะนำเสนอร่างพ.ร.บ.ของภาคประชาชนพิจารณาควบคู่ไปกับร่างของกระทรวงยุติธรรม

ได้รับความสนใจจากเยาวชนฟิลิปปินส์

“อยากฝากให้สังคมไทยร่วมรณรงค์ให้รัฐบาลยอมรับกฎหมายฉบับนี้ ตอนนี้เป็นร่างพ.ร.บ.การป้องกันและยุติการทรมานบังคับสูญหาย จะเกิดกลไกในการคุ้มครองจริงๆ ก็ต่อเมื่อพระราชบัญญัติสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศของสหประชาชาติ การที่เราไม่มีกลไกการคุ้มครองจะทำให้ ผู้กระทำผิดหรือเจ้าหน้าที่บางคนใช้อำนาจตามอำเภอใจใน การทำอะไรก็ได้กับคนที่คิดว่าเป็นภัยแก่ตัวเอง รัฐบาลควรแสดงความจริงใจที่จะยุติการทรมานและการบังคับสูญหายโดยการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับสูญหายให้ผ่าน ร่างฉบับนี้โดยเร็ว”

อังคณากล่าวด้วยว่าจากบทเรียนของคดีทนายสมชายทำให้อยากขับเคลื่อนเพื่อไม่ให้เกิดการอุ้มหายทรมานในประเทศไทยอีกต่อไป ไม่ได้รู้สึกว่าต้องทำเพื่อคดีสมชาย นานมาแล้วที่ไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้ แต่คิดว่าทำอย่างไรให้มีการปกป้องคุ้มครองคนอื่นๆ ต่อไป

“รางวัลแมกไซไซที่ได้รับเป็นกำลังใจสำคัญอันหนึ่งที่เห็นว่ามีคนเห็นคุณค่า สิ่งที่เราทำมามีประโยชน์ ขอบคุณทุกๆ คน ขอบคุณสังคมไทยที่สนับสนุนการทำงานมาตลอด

นอกจากรางวัลที่ได้รับซึ่งเป็นกำลังใจให้เราแล้ว ก็คงเป็นครอบครัวที่อยู่เคียงข้างให้กำลังใจกัน ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น มิตรสหาย คนมากมายในสังคม ไปไหนก็เหมือนเรามีเพื่อน ตรงนี้มีคุณค่ามากเพราะเราซื้อไม่ได้ด้วยเงิน เป็นเหมือนมิตรภาพที่สังคมมอบให้ เป็นกำลังใจสำคัญให้เราทำงานต่อไปเพื่อปกป้องคนอื่นด้วย

มันยาก แต่ต้องมีคนที่ออกมายืนแถวหน้าเพื่อที่จะเกิดสิ่ง เหล่านี้ขึ้นได้จริง

เราไม่อยากให้คนอื่นต้องมาเจอเหมือนเรา รู้สึกเหมือนเรา หรือเด็กๆ ต้องมารู้สึกแบบที่ลูกเราเคยรู้สึก” สตรีนักต่อสู้!! รางวัลแมกไซไซกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน