‘มะเร็งปากมดลูก’ วิธีป้องกันและรับมือ

มะเร็งปากมดลูก – มีหญิงไทยเป็นโรคนี้มากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม และยังเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับ 1 ด้วย โดยทุกปีจะมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 10,000 คน ที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ ในจำนวนนี้จะเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 6,500 คน หรือวันละ 17 คน

นพ.ธีธัช อดทน

นพ.ธีธัช อดทน สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2 ซึ่งเป็น โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด กล่าวว่า

มะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งส่วนใหญ่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ คนที่ติดเชื้อนี้กว่า 80% จะไม่มีอาการ และอาจไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ โดยร่างกายสามารถกำจัดออกไปได้เอง แต่มีบางส่วนที่เมื่อติดเชื้อแล้วจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เป็นระยะก่อนมะเร็ง และนำไปสู่การเป็นมะเร็งในเวลาต่อมา

ดังนั้นคนที่มีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกจึงเป็นคนที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะเซลล์ปากมดลูกมีโอกาสติดเชื้อเร็วกว่าและเปลี่ยนแปลงไปสู่ระยะก่อนมะเร็งหรือมะเร็งได้เร็วกว่า นอกจากนี้ คนที่มีคู่นอนหลายคนก็มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น รวมทั้งคนที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่องบางชนิด และคนที่สูบบุหรี่ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ ร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่ำ ไม่แข็งแรง เมื่อมีการสัมผัสกับไวรัส HPV จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะก่อนมะเร็งหรือมะเร็งตามมาได้สูงกว่าคนที่สุขภาพแข็งแรง สำหรับกลุ่มอายุที่มีอุบัติการณ์เป็นมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 30-50 ปี

นพ.ธีธัชกล่าวถึงวิธีสังเกตอาการที่บ่งบอกว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกว่า อาการหลักๆ คือมีเลือดออกทางช่องคลอด ปกติรอบเดือนจะมาทุก 28 วัน แต่ละรอบไม่ควรเกิน 1 สัปดาห์ และไม่ควรมีเลือดออกก่อนหรือหลังรอบเดือนปกติ หากมีเลือดออกผิดปกติระหว่างรอบเดือน หรือรอบเดือนมานานขึ้น หรือมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ ก็เป็นอาการที่ต้องสงสัยว่า จะมีก้อนที่บริเวณช่องคลอดปากมดลูกหรือไม่ หรือว่าเป็นก้อนเนื้องอกโรคมะเร็งหรือไม่

ส่วนอาการอื่นๆ อาจมีตกขาวมากผิดปกติ หรือถ้าติดเชื้อที่ก้อนก็อาจมีตกขาวหรือมีหนองได้ คนไม่เคยตรวจภายในมาก่อนแล้วมีอาการเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะพบก้อนขนาดใหญ่แล้ว หรือมีรอยโรคค่อนข้างมาก ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการที่มีเลือดออก เมื่อแพทย์ตรวจพบว่ามีก้อนจะตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อดูว่าเซลล์นั้นเป็นมะเร็งหรือไม่

นพ.ธีธัชกล่าวด้วยว่า เป็นความโชคดีที่ทางการแพทย์ทราบสาเหตุของการเป็นมะเร็งปากมดลูก และมีวิธีตรวจค้นหาก่อนระยะเป็นมะเร็งได้ นอกจากนี้ยังมีวัคซีนที่ฉีดป้องกันได้ด้วย

วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ HPV คือ ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่มีคู่นอนหลายคน หากมีเพศสัมพันธ์ต้องป้องกันการติดเชื้อด้วยการใช้ถุงยางอนามัย นอกจากนี้ ควรฉีดวัคซีนที่สามารถกระตุ้นภูมิในการกำจัดเชื้อ HPV อย่างไรก็ตามไม่สามารถตอบได้ว่าวัคซีนจะป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ 100% หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าภูมินั้นเพียงพอมากน้อยแค่ไหนหรือมีการติดเชื้อมาก่อนที่จะได้รับวัคซีน

การป้องกันในขั้นต่อไป คือ การตรวจเพื่อค้นหาระยะก่อนมะเร็ง ถ้ามีแนวโน้มว่าเซลล์บริเวณนั้นมีโอกาสที่จะกลายเป็นมะเร็งสูง การรักษาก็คือตัดบริเวณปากมดลูกบริเวณโดยรอบนั้น โดยไม่ต้องรอให้กลายเป็นมะเร็ง

การตรวจเช็กมะเร็งปากมดลูกแนะนำให้ตรวจเป็นประจำทุกปี หรือไม่ควรห่างกันเกิน 2-3 ปี เริ่มตรวจตั้งแต่มีเพศสัมพันธ์ และตรวจไปตลอดจนกว่าจะอายุ 60 ปี ถ้าไม่พบความผิดปกติ สำหรับคนที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ก็มีโอกาสเกิดได้เช่นกัน แนะนำว่าควรตรวจเช็กตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป

สำหรับข้อสงสัยที่ว่าตัดมดลูกแล้วเป็นมะเร็งปากมดลูกได้หรือไม่ นพ.ธีธัชกล่าวว่าต้องดูประวัติเก่าประกอบด้วย เพราะมดลูกมี 2 ส่วน คือ ตัวมดลูก และปากมดลูก ถ้าตัดแค่ตัวมดลูกแต่ยังเหลือปากมดลูก ก็มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ ถ้าตัดตัวมดลูกพร้อมปากมดลูก มะเร็งก็จะไม่เกิดที่บริเวณปากมดลูก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน