สำเพ็ง

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

สำเพ็ง – สนใจใคร่รู้ประวัติ ความเป็นมาของสำเพ็ง รบกวนถามมายังน้าชาติ และถามว่า สำเพ็งแปลว่าอะไรด้วย

คนเก่า

ตอบ คนเก่า

สำเพ็ง หรือปัจจุบันรู้จักกันดีในชื่ออย่างเป็นทางการว่า ซอยวานิช 1 เป็นย่านการค้าสำคัญแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ในแขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ ใกล้กับย่านเยาวราช, ถนนราชวงศ์ และต่อเนื่องไปถึงสะพานหัน (ช่วงระหว่างสะพานหันถึงถนนจักรวรรดิเรียกว่า ตรอกหัวเม็ด), พาหุรัด และวังบูรพา ในพื้นที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร

ย้อนไปครั้งรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรีทรงปราบดาภิเษก และขึ้นครองราชย์เมื่อพ..2325 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นบนฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นราชธานีแห่งใหม่แทนที่กรุงธนบุรี โดยกำหนดที่ตั้งพระบรมมหาราชวังในพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวจีน

สำเพ็ง

โดยเฉพาะบริเวณท่าเตียน จึงให้ย้ายชุมชนชาวจีนนั้นออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในที่สวนนอกประตูพระนคร ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ขนานไปกับลำน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ คลองวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) ไปจนถึงคลองวัด สามเพ็ง

มีข้อความระบุถึงวัดชื่อสามเพ็งในพระราชพงศาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าให้พระยาราชาเศรษฐี และพวกจีน ย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ที่สวนตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง…”

ชาวจีนตั้งหลักใหม่ สร้างชุมชนและย่านการค้าจนรุ่งเรือง ขยายพื้นที่ออกไปอย่างกว้างขวาง จัดเป็นตลาดบกที่ใหญ่ที่สุด ในพระนคร สินค้าที่นำมาจำหน่ายมีมากมายหลายประเภท เช่น เครื่องกระดาษ ของไหว้เจ้า อาหารแห้ง ปลาเค็ม ฯลฯ และด้วยความเป็นแหล่งการค้า มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นจึงทำให้เกิดปัญหาไฟไหม้อยู่บ่อยครั้ง

สำเพ็ง

สมัยรัชกาลที่ 5 กิจการค้าของชาวจีนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในย่าน สำเพ็งเติบโตขึ้นเป็นลำดับ ..2434 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนเยาวราชแทรกระหว่างถนนเจริญกรุงกับถนนสำเพ็ง และสร้างตึกขึ้นตลอดแนวสองฝั่งถนน ทำให้เกิดศูนย์กลางธุรกิจและการค้าแห่งใหม่บนถนนสายนี้

ชาวตะวันตกที่เข้ามาติดต่อการค้ากับสยาม เรียกขานย่านสำเพ็งว่า ตลาดจีน หรือ Chinese Bazaar ในบันทึกของมิชชันนารีที่เข้ามาเยี่ยมดูย่านสำเพ็งในปีพ..2378 ระบุความไว้ตอนหนึ่งว่า

ตลาดทั้งหมดดูแล้วน่าจะเรียกว่า เมืองการค้า (trading town) มากกว่า ที่นี่มีร้านค้ามากมายหลากหลาย ตั้งอยู่บนสองฝั่งฟากถนนยาวราว 2 ไมล์ แต่ด้วยเหตุที่ร้านค้าต่างๆ ตั้งอยู่ปะปนกัน เดินเพียงไม่กี่หลาก็สามารถหาซื้อสินค้าประเภทต่างๆ ได้ครบตามที่ ต้องการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการตัดถนนสายอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น ทรงวาด ราชวงศ์ อนุวงศ์ ฯลฯ ขอบเขตที่เป็นใจกลางการค้าของสำเพ็ง ก็ถูกบีบให้ลดลงเหลืออยู่เพียงแนวถนนสำเพ็ง หรือเปลี่ยนชื่อเป็น ซอยวานิช 1 ในปัจจุบัน

ขณะเดียวกันสำเพ็งก็เป็นสถานที่ขึ้นชื่อในเรื่องซ่องโสเภณี สุนทรภู่รจนาเรื่องนี้ไว้ในนิราศเมืองแกลง ความว่าถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ แพประจำยอดเรียงเคียงขนาน มีซุ้มซอกตรอก นางจ้างประจาน ยังสำราญร้องขับไม่หลับลงจนครั้งหนึ่งคำว่า อีสำเพ็ง กลายเป็นคำด่าที่รุนแรงที่หมายถึงโสเภณี

สำเพ็ง

ปัจจุบันสำเพ็งเป็นย่านการค้าที่คึกคักมากที่สุดแห่งหนึ่ง ของกรุงเทพมหานคร เปิดขายตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 . ในเวลากลางวัน และเวลากลางคืนตั้งแต่ 01.00-06.00 . ในยามเช้า สินค้ามากมายมีทั้งขายปลีกและขายส่ง เช่น กิฟต์ช็อป เครื่องประดับตกแต่ง เสื้อผ้า ของใช้ นาฬิกา ตุ๊กตา ของเล่น และอาหาร เป็นต้น

คำตอบนำมาจากเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม www.silpa-mag.com ระบุว่า บุบผา คุมมานนท์ ผู้เขียนบทความสำเพ็ง ศูนย์การค้าแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์เชื่อว่า เป็นชื่อที่เพี้ยนมาจากคำว่า สามเพ็ง ซึ่งเป็นชื่อวัดและชื่อคลองที่อยู่ละแวกนั้น คนจีนในย่านเดียวกันชินกับการออกเสียงสั้น จึงทำให้จาก สามเพ็ง กลายเป็น สำเพ็ง ในทุกวันนี้

หรืออีกข้อสันนิษฐานเชื่อว่า เพี้ยนมาจาก สามแผ่น ที่หมายถึงลักษณะภูมิประเทศของย่านที่มีคลองขวาง 2 คลอง ได้แก่ คลองเหนือวัดสำเพ็ง และคลองวัดสามปลื้ม ทำให้ตัดแผ่นดินเป็นสามตอน หรือสามแผ่น ต่อมาจึงเพี้ยนไปตามสำเนียงคนจีนกลายเป็น สำเพ็ง หรืออาจเพี้ยนมาจากคำว่า สามแพร่ง ที่เป็นลักษณะของภูมิประเทศเช่นกัน

หรืออีกข้อสันนิษฐานว่า มาจากชื่อพืชตระกูลเฟิร์นชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายใบโหระพา เรียกว่า ลำเพ็ง ซึ่งพบเห็นมาก ในบริเวณนี้ ผู้คนจึงเรียกกันว่า ลำเพ็ง และเพี้ยนมาเป็น สำเพ็ง ในภายหลัง

ไม่ว่าที่มาของชื่อย่านนี้มาจากไหน แต่ สำเพ็ง ก็เป็นย่านที่เปลี่ยนแปลงจากท้องที่เปลี่ยวนอกกำแพงพระนคร พัฒนามาเป็นพื้นที่การค้าที่เจริญรุ่งเรืองจนเป็นสถานที่ยอดนิยมอีกแห่งในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้

เมื่อชาวจีนย้ายมาอยู่ที่บริเวณนี้ บุบผา คุมมานนท์ บรรยายว่า ด้วยความถนัดในด้านค้าขาย เมื่อตั้งบ้านเรือน จึงเริ่มค้าขายในบ้าน บ้านของชาวจีนกลุ่มนี้มีลักษณะกึ่งที่พักอาศัยกึ่งร้านค้า ถือเป็นวัฒนธรรมของฝั่งตะวันออก หลังจากนั้นจึงเริ่มกลายเป็นย่านการค้าแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์

ในมุมมองของ ปิยนาถ บุนนาค ผู้เขียนบทความสำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานครยังมองว่า ถือได้ว่าเป็นชุมชนชาวจีนแห่งแรกที่ก่อตัวขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์นับตั้งแต่สถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานีของไทยเมื่อพ..2325

กลับไปสมัยนั้น สำเพ็งไม่ได้เป็นแหล่งรวมสินค้าหลากหลาย แต่เป็นแหล่งธุรกิจหลายประเภท เช่น รับจ้างปะชุนเสื้อผ้า รับจ้างเขียนหนังสือส่งไปถึงพี่น้องในจีน เป็น China Town หรือย่านคนจีนของกรุงรัตนโกสินทร์ได้อีกทาง

ย่านสำเพ็งในอดีตยังมีชื่อเสียงด้านโลกียสำราญ มีทั้งโรงโสเภณี บ่อนพนัน แพร่หลายและเปิดเผย มีโคมสีเขียว (น่ำแช) เป็นสัญลักษณ์ ผู้หญิงที่ค้าขายกลุ่มนี้เป็นหญิงกวางตุ้ง หรือถ้าเป็นชาวไทยก็เปลี่ยนเป็นชื่อจีน และในบรรดาผู้หญิงที่มีชื่อเสียงในสำเพ็ง ต้องมีชื่อ อำแดงแฟง ที่กลายเป็นชื่อตรอกซึ่งในจดหมายเหตุสมัยรัชกาลที่ 4 ก็มีระบุ

ครั้นเป็นแหล่งเริงสตรีแล้ว เหล่าชายหนุ่มสมัยนั้นโดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกว่า นักเลง ก็ย่อมเข้าไปท่องเที่ยวกันเป็นประจำ ความนิยมในกิจการสตรีในย่านนี้ถึงกับทำให้ทางการต้องจัดตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ดังปรากฏหลักฐานเริ่มมีกิจการตำรวจนครบาล เมื่อ ..2404 เรียกกันในสมัยนั้นว่า โปลิส เริ่มออกปฏิบัติราชการครั้งแรกก็ในย่านสำเพ็ง

เกร็ดเพิ่มเติมอีกประการของสำเพ็งคือวลีที่คนสมัยหนึ่งคุ้นกันว่า ไฟไหม้สำเพ็ง ซึ่งหมายถึงความชุลมุนวุ่นวายของฝูงชน หรือเรื่องไม่คาดว่าจะเกิดขึ้น อันเป็นวลีที่มาจากเหตุไฟไหม้ในสำเพ็งซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้ง

ด้วยสภาพที่เป็นชุมชนที่มีประชากรหนาแน่น ร้านค้าเบียดติดกัน เมื่อเกิดไฟไหม้ก็มักลุกลามรวดเร็วทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ชุมชนที่ประชากรหนาแน่นแล้วเกิดอัคคีภัยขึ้นคงสะท้อนสภาพความชุลมุน ตามความหมายของวลี ไฟไหม้สำเพ็ง

อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบข้อมูลเรื่องระดับความเสียหายอย่างชัดเจน แต่ในที่นี้ต้องกล่าวว่า หยิบยกข้อมูลเพื่อการศึกษาบริบทเชิงพื้นที่ทางสังคมและย้อนดูประวัติความเป็นมาเท่านั้น และต้องแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียทุกราย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน