ยุสุบ สันหมุดสมาร์ตฟาร์มเมอร์สตูล จบม.3เน้นการตลาดนำการผลิต

โดย ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

สมาร์ตฟาร์มเมอร์สตูลหากได้สนทนากับ นายยุสุบ สันหมุด อายุ 42 ปี เกษตรกรในต.เกตรี อ.เมือง จ.สตูล ซึ่งได้รับเลือกจากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จ.สตูล ให้เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดินจ.สตูล ใน ปี2561 และเป็นสมาร์ตฟาร์มเมอร์ของจ.สตูล จะรับรู้ได้ทันทีว่าเกษตรกรรายนี้แม้จะจบการศึกษาแค่ม.3 แต่วิถีการทำเกษตรไม่ธรรมดาเลยทีเดียว สมควรแล้วที่ได้รับการยกย่องจากหน่วยงานต่างๆ แต่กว่าจะมีวันนี้ได้ เขาเองก็ผ่านอุปสรรคในชีวิตมาอย่างสาหัสถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว

นายยุสุบเล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า เมื่อเกือบ 20ปีที่แล้ว ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีรายได้วันละพันบาท แต่พอเจอน้ำท่วมใหญ่ที่หาดใหญ่ทำให้สิ้นเนื้อประดาตัว ขณะที่ก่อนหน้านั้นปี 2540 ก็เจอวิกฤตเศรฐกิจต้มยำกุ้ง จนต้องกลับมาทำเกษตรที่บ้านเกิด

ณ วันนี้เขามีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง 39 ไร่ จำนวน 10 กว่าแปลง จากที่ไม่มีอะไรเลย นั่นเพราะเจ้าตัวยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9

วันนี้ผมมีหน้ามีตาในสังคม สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ มีเงินส่งเสียลูกสองคนเรียนมหาวิทยาลัย และมีเงินออมจำนวนหนึ่ง เกิดจากการนำหลักเศรษฐกิจพอพียงมาประยุกต์ใช้นายยุสุบเล่าอย่างภาคภูมิใจ

นายยุสุบ สันหมุด

แม้นายยุสุบจะมีความรู้แค่ม.3 แต่ในการทำเกษตรของเขานั้น มีการบริหารจัดการแปลงปลูกเป็นอย่างดี รวมถึงเรื่องการตลาดด้วย ซึ่งเขาจะออกขายเองในพื้นที่จ.สตูล อาจมีบ้างที่ขายผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้แต่ละเดือนเขามีรายได้ไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นบาท โดยใช้แรงงานของเขาเองกับภรรยาเป็นหลัก

ตอนนี้เขามีพื้นที่ปลูกพืชทั้งหมด 7 ชนิด พืชหลักคือข้าวโพดหวาน พืชรองคือปาล์มน้ำมันที่มีอยู่ 4 ไร่ มียางพารา แตงกวา พริกขี้หนู อ้อย และมะขามเปรี้ยวยักษ์ นอกจากนี้ยังเลี้ยงปลาดุกด้วย เพื่อให้มีรายได้ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี โดยในฤดูฝนจะปลูกพวกพืชรายวันจำพวก พริกขี้หนู มะเขือ แตงกวา ถ้าฤดูแล้งปลูกพวกผักกาด โดยในส่วนของการปลูกปาล์มน้ำมันพื้นที่ 1 ไร่ สร้างรายได้ 5,000 บาท ซึ่งเขาปลูกอยู่พื้นที่ 4 ไร่ รวมแล้วมีรายได้เกือบ 500,000 ต่อ/ปี

ในการปลูกพืชแต่ละชนิด เขาจะเลือกปลูกในแต่ละช่วงเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการน้ำ ซึ่งเจ้าตัวอธิบายว่า การปลูกพืชก็ต้องมีการบริหารจัดการน้ำด้วย ขั้นแรกต้องรู้จักน้ำก่อน รู้จักฝาย รู้จักชลประทาน รู้จักแหล่งน้ำ รวมไปถึงการรู้จักว่า 10 ปีที่แล้วพื้นที่ที่ใช้ปลูกอยู่นั้นเคยแล้งไหม น้ำขาดขนาดไหน อย่างแปลงที่ปลูกพืชผักสวนครัวอยู่นี้ ช่วงเดือนมกราคมเมษายน น้ำจะแล้ง จึงต้องทำแก้มลิงไว้ มีบ่อปลา มีคูระบายน้ำ และทุกแปลงจะมีพื้นที่เก็บน้ำไว้ใช้

นอกจากนี้เขาจะเลือกปลูกพืชผักผลไม้ที่แตกต่างจากเกษตรกรรายอื่น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด ซึ่งจะส่งผลในเรื่องราคาด้วย

อย่างที่เขาอธิบายให้ฟังว่าผมพยายามจะปลูกพืชที่ไม่ตรงกับเพื่อน ปลูกพืชที่เพื่อนไม่ทำ และจะดูฤดูกาลปลูกด้วย โดยจะเลือกว่าตอนนี้สินค้าชนิดไหนกำลังจะมาถึงจะปลูก อย่างเช่น มะขามเปรี้ยว ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดเพราะสามารถใช้ทดแทนมะนาวในบางช่วงที่มีราคาแพง

ถั่วฝักยาวพืชขายรายวัน

ในการทำเกษตรของเขานั้น พืชผักสวนครัวส่วนใหญ่เขาใช้วิธีการปลูกแบบอินทรีย์ เพื่อให้ขายได้ในราคาที่สูง และสามารถกำหนดราคาเองได้ แต่ก็มีพืชบางอย่างที่ใช้การปลูกแบบเกษตรปลอดภัย อย่างเช่น ข้าวโพดหวาน ซึ่งต้องใช้ปุ๋ยเคมีร่วมด้วย เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

นับเป็นเกษตรกรอีกรายที่ทำเกษตรแบบใช้การตลาดนำการผลิต ทำให้มีฐานะความเป็นอยู่ดี มีเงินเก็บออม เป็นตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ

ว่าไปแล้วสตูลยังมีพืชผักผลไม้ที่น่าสนใจหลายอย่าง เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่รู้ เช่น จำปาดะและข้าวอัลฮัม ที่ได้รับการ ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) นอกจากนี้ยังมีพริกไทยพันธุ์พื้นเมือง สุไหงอุเป อ.ทุ่งหว้า ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่มีกลิ่นหอมๆ รสชาติดี มีความเผ็ดมาก

นายพรหมพจน์ สิริพรชัยเจริญ รองประธานท่องเที่ยวชุมชนต.ทุ่งหว้า ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพริกไทยพันธุ์พื้นเมืองสุไหงอุเป ให้ข้อมูลว่า ได้ศึกษาข้อมูลทดลองปลูกและรวบรวมพันธุ์พริกไทยพื้นเมืองเดิมมาก่อนหน้านี้กว่า 3 ปีแล้ว มีสมาชิกที่จดทะเบียนกับสภาเกษตรสตูล 35 คน แต่ที่ต้องการปลูกจริงประมาณ 10 คน ในพื้นที่ของแต่ละคน รวมกันแล้วประมาณ 3 ไร่

นายพรหมพจน์ สิริพรชัยเจริญ

พันธุ์ที่ปลูกเป็นพันธุ์พื้นถิ่นดั้งเดิมที่บรรพบุรุษนำเข้ามาจากจีนผ่านมาทางปีนัง เรียกกันติดปากว่าพันธุ์สุไหงอุเป วิธีการปลูกค่อนข้างจะซับซ้อนยุ่งยากกว่าพันธุ์อื่น เท่าที่มีประสบการณ์ปลูกมา 4 ปี และที่เตี่ยตนเองเคยปลูกมากว่า 50 ปี จะออกผลผลิต ปีละ 2 ครั้ง แต่ละต้นออกผลสดได้น้อย ปีละ 2 .. โดยไม่มีสารเคมียาฆ่าแมลง ใช้ปุ๋ยธรรมชาติ

วิธีการปลูกใช้แบบโบราณดั้งเดิม คือใช้ไหลมาทำต้นพันธุ์ ปลูกไหลโดยใช้ค้างไม้เล็กปักไว้ใกล้ๆ ต้นพันธุ์ ประมาณ 4-6 เดือน ไหลจะเลื้อยขึ้นค้างเรียกค้างที่ว่านี้ว่าค้างลิงต้นพันธุ์มีความสูง 1-2 เมตร ก็ตัดยอดไหลมาทำต้นพันธุ์ต่อ จะได้ต้นพันธุ์ปริมาณมากกว่าวิธีอื่น แต่ข้อเสียคือต้องใช้เวลา 3 ปี กว่าจะออกผล ไม่เหมือนวิธีการตอนปักชำจะให้ผลผลิตเร็วกว่ามากกว่า แต่อายุไม่ยืนเป็นโรคง่าย

แปลงปลูกพริกไทย

นายพรหมพจน์เล่าว่า หลังจากได้ผลผลิต ทางโรงงานเครื่องแกงติดต่อมาขอซื้อ แต่กลุ่มไม่ขายเพราะต้องการทำให้พริกไทยสุไหงอุเป เป็นเครื่องปรุงบนโต๊ะอาหาร ไม่ใช่เครื่องแกงทั่วไป ซึ่งราคาถูกกว่า เพราะเป็นพริกไทยที่มีคุณภาพดีที่สุดทางตอนใต้ของสยามประเทศในอดีตเคยเป็นสินค้าส่งออก สมัยก่อนพริกไทยสุไหงอุเปหาบละ 6,000 บาท เท่ากับว่าก..ละ 1,000 บาท เมื่อเทียบกับสมัยนี้ เพราะหาบละ 60 .. เนื่องจากลักษณะพันธุ์ที่มาจากประเทศจีนและมีวิธีการปลูกแบบโบราณดั้งเดิม ได้น้ำแร่ธาตุจากพื้นดินทะเลโบราณ น้ำภูเขาหินปูนในยุคก่อนกำเนิดสิ่งมีชีวต เป็นพื้นดินที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

พริกไทยในบรรจุภัณฑ์สวยงาม

หลังจากเก็บเกี่ยวจะคัดเมล็ดและมีขั้นตอนตากแบบธรรมชาติ แต่ละครั้งผลผลิตน้อย ทางกลุ่มจึงจำหน่ายเฉพาะที่กลุ่ม ตอนต้นปีนี้เก็บได้ทั้งหมด 50 .. ใส่ขวดพร้อมบดจำหน่ายที่กลุ่มขวดละ 250 บาท บรรจุ 100 กรัม และได้นำไปแปรรูปทำขนมพริก ขนมเต้าส้อไส้พริกไทย ขนมกรอบเค็ม จำหน่ายที่กลุ่ม โดยมีวิทยาลัยชุมชนสตูลเข้ามาสนุบสนุน

จุดเด่นของพริกไทยพันธุ์พื้นเมืองสุไหงอุเป นอกจากหอมและรสชาติดี ยังร้อนเผ็ดถึงคอ เก็บรักษาไว้ได้นานเมื่อแห้งแล้วเมล็ดสีดำจะมันกรอบ ไม่เหมือนที่อื่น ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ซึ่งทางกลุ่มกำลังอยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียน จีไอ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน