เด็กไทยเสียชีวิตก่อน 5 ขวบ รวม 5,807 ราย ในปี 2560

เด็กไทยเสียชีวิตก่อน 5 ขวบ – การศึกษาภาระโรคทั่วโลก (Global Burden of Disease) เกี่ยวกับการเสียชีวิตในเด็กเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมาพบว่าแนวโน้มของเด็กไทยที่อยู่รอดจน อายุ 5 ขวบนั้น มีความแปรผันระหว่างพื้นที่สาธารณสุขท้องถิ่นทั่วประเทศมากกว่าสี่เท่า

เด็กไทยเสียชีวิตก่อน5ขวบ

จากการศึกษาโดยสถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ (Institute for Health Metrics and Evaluation-IHME) แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เปิดเผยว่าในประเทศ ไทย พ.ศ.2560 มีเด็ก 5,807 ราย เสียชีวิตก่อนอายุครบ 5 ขวบ ในขณะที่เมื่อพ.ศ.2543 เสียชีวิตมากถึง 18,509 ราย

โดยพื้นที่อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี มีอัตราการตายสูงสุดอยู่ที่ 19.6 คน ส่วนอัตราการตายต่ำสุดที่ 4.5 คน อยู่ที่อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ความผิดปกติของทารกแรกเกิดเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในเด็กวัยก่อน 5 ขวบ ทั้งในพ.ศ. 2543 และพ.ศ. 2560 นอกจากนี้ กว่าครึ่งของเด็กที่เสียชีวิตทั้งหมดในช่วงที่ศึกษาล้วนมาจากสาเหตุดังกล่าว

ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาภาวะการเสียชีวิตในเด็กในระดับท้องถิ่นของประเทศที่มีรายได้ระดับล่าง และระดับกลาง 99 ประเทศทั่วโลก ผลการศึกษาตีพิมพ์ในวารสารเนเชอร์ (Nature)

สถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในพ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ที่เสียชีวิตทั้งหมด 5,807 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่อยู่ในช่วงแรกเกิดถึง 28 วันหลังคลอด มี 2,808 คน คิดเป็นร้อยละ 48 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่เสียชีวิตทั้งหมด สาเหตุของการเสียชีวิต สามอันดับแรก ได้แก่ ความผิดปกติของทารกแรกเกิด พิการหรือบกพร่องแต่กำเนิด และการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง

เด็กไทยเสียชีวิตก่อน5ขวบ

ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กก่อนวัย 5 ขวบในประเทศไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ ความผิดปกติของทารกแรกเกิด พิการหรือบกพร่องแต่กำเนิดการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง จมน้ำ และอุบัติเหตุทางถนน

นักวิจัยประเมินว่า หากประเทศที่มีรายได้ระดับล่างถึงระดับกลางที่ทำการศึกษาสามารถทำได้ตามเป้า หมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ จะส่งผลให้มีเด็กเสียชีวิตลดลงอย่างน้อย 2.6 ล้านคน หรือ 25 คนต่อเด็กที่เกิดมา 1,000 คน และหากสาธารณสุขท้องถิ่นทุกแห่งสามารถยกระดับขึ้นมาได้ในระดับเดียวกับโรงพยาบาลชั้นแนวหน้าของประเทศนั้นๆ คาดว่าจำนวนเด็กเสียชีวิตจะลดลงได้ถึง 2.7 ล้านคน

จากสาธารณสุขท้องถิ่น 17,554 แห่งใน 99 ประเทศที่ศึกษานั้น ส่วนใหญ่มีพัฒนาการที่ดีในการลดการเสียชีวิตในเด็ก แต่ในระหว่างการศึกษาระดับของความไม่เท่าเทียมกันระหว่างสาธารณสุขท้องถิ่น แต่ละแห่งนั้นต่างกันไป แม้ว่าโดยมากแล้วการเสียชีวิตในเด็กจะลดลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่อัตราการเสียชีวิตที่สูงที่สุดในพ.ศ. 2560 ก็ยังคงอยู่ในชุมชนเดิมๆ ที่เคยมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดเมื่อพ.ศ. 2543

ดร.ไซมอน ไอ. เฮย์ ผู้อำนวยการกลุ่มภาระโรคท้องถิ่น สถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ นักวิจัยอาวุโสของการศึกษานี้กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าที่โดยเฉลี่ยมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เสียชีวิตเกือบ 15,000 ราย ทุกวันเราต้องเลือกวิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุด เช่น การให้วัคซีนต่างๆ ผลการศึกษาให้รูปแบบข้อมูลสำหรับผู้เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศเพื่อใช้ระบุ พื้นที่ที่ควรเร่งพัฒนาระบบสาธารณสุข

ยกตัวอย่างจากประเทศรวันดา อัตราการเสียชีวิตในเด็กที่ลดลงส่วนหนึ่งมาจาก การลงทุนเพื่อสุขภาพเด็กในชุมชนที่ยากจนที่สุด การขยายตัวของการประกันสุขภาพ และการเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านสาธารณสุขในชุมชน ในขณะเดียวกัน ประเทศเปรู ก็สามารถลดอัตราการเสียชีวิตในเด็ก และความไม่เท่าเทียมลงได้หลังจากริเริ่มโครงการเพื่อสุขภาพและโครงการต้านความยากจนอย่างยั่งยืน

จากการศึกษาพบว่าสัดส่วนการเสียชีวิต ในเด็กเพิ่มสูงขึ้นในบริเวณที่เคยมีการเสียชีวิตโดยรวมต่ำ และพบว่าทั้งการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดและการเสียชีวิตของทารกมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น แนวโน้มเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับวิธีจัดการให้เข้ากับท้องถิ่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน