คอลัมน์ ข่าวสดหลากหลาย

ธีรดา ศิริมงคล

ครอบครัวนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นขององค์ประกอบต่างๆ มากมาย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรใส่ใจ ให้ความสำคัญแม้ในภาวะที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องออกไปเผชิญกับความ “ตึงเครียด” นอกบ้าน ทั้งเรื่องการงาน และความตึงเครียดทางสังคมในปัจจุบัน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย หรือ UNFPA Thailand และภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะกลุ่ม เยาวชน จัดแถลงข่าว “คลี่ครอบครัวไทย 4.0”

โดยจากผลสำรวจสถานการณ์ครอบครัวไทย โดยศูนย์วิจัยด้าน เด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สสส. ยูเอ็นเอฟพีเอ และคณะแพทยศาสตร์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน ม.สงขลานครินทร์ สำรวจความคิดเห็นจากตัวแทนเยาวชนทั่วประเทศ อายุระหว่าง 15-24 ปี จำนวน 824 คน ในเดือนมีนาคม 2560

ประกอบด้วยเพศหญิงร้อยละ 57 เพศชายร้อยละ 42 และอื่นๆ ร้อยละ 1 รูปแบบครอบครัวไทย

ส่วนใหญ่ร้อยละ 59 เป็นครอบครัวพ่อ แม่ ลูก ตามด้วยครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวร้อยละ 16, ครอบครัว 3 รุ่นร้อยละ 15, ครอบครัวข้ามรุ่นร้อยละ 5 ที่เหลือคืออยู่คนเดียว สามี-ภรรยาที่ไม่มีลูก ครอบครัวที่ไม่ใช่ญาติ เป็นต้น

นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า ครอบครัวในความหมายของเยาวชน อันดับ 1 คือ ความรัก ผูกพันต่อกัน ร้อยละ 41 ตามด้วย การอยู่ร่วมกัน ร้อยละ 29 การมีงานทำ มีรายได้ของหัวหน้าครอบครัว ร้อยละ 15 และการให้การศึกษาแก่สมาชิกร้อยละ 15

สำหรับความรู้สึกต่อวันครอบครัวพบว่า เกินครึ่งรู้สึกเฉยๆ (ร้อยละ 54) ตามด้วย ดีใจ ร้อยละ 43 เสียใจร้อยละ 2 และอื่นๆ ร้อยละ 1

สิ่งที่นึกถึงในวันครอบครัวร้อยละ 45 คือความสุข ตามด้วยการไปเที่ยว ทำกิจกรรมร่วมกันร้อยละ 40

เมื่อถามถึงความเข้มแข็งของครอบครัว พบว่า สถานการณ์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเยาวชนมองว่า ครอบครัวมีความเข้มแข็งมากร้อยละ 52 ความอบอุ่นอยู่ในระดับมาก ร้อยละ 52 ทั้งนี้พบว่ามีเยาวชนร้อยละ 10 ที่ระบุว่าครอบครัวไม่เข้มแข็งและไม่อบอุ่นเลย

ส่วนความสุขเมื่อได้อยู่กับครอบครัว 83 เปอร์เซ็นต์ มีความสุขมาก เช่นเดียว กับความปลอดภัยเมื่อได้อยู่กับครอบครัว 92 เปอร์เซ็นต์ เยาวชนรู้สึกปลอดภัย

ส่วนการยอมรับและเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องครอบครัว พบว่า ครอบครัวไทยเปิดโอกาสให้กับเยาวชน ในระดับมาก ร้อยละ 56 ตามด้วยปานกลาง ร้อยละ 37

ทั้งนี้ รูปแบบของครอบครัวพ่อแม่ลูกจะเปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ขณะที่ครอบครัวข้ามรุ่นเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมในระดับที่น้อย

ลักษณะครอบครัวที่เยาวชนต้องการ อันดับ 1 คือ ความรักต่อกันร้อยละ 24 ตามด้วยอันดับ 2 การมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน และไม่ทะเลาะ หรือใช้ความรุนแรง ร้อยละ 22 อันดับ 3 มีบ้าน ที่อยู่เป็นของตนเอง ร้อยละ 20

สำหรับความกังวลต่อครอบครัว ในภาพรวมเยาวชนกังวลเรื่องปัญหาสุขภาพเป็นอันดับ 1 ตามด้วยอันดับ 2 คือ การทะเลาะวิวาท ใช้ความรุนแรง และอันดับ 3 คือ หนี้สิน

อย่างไรก็ตาม หากจำแนกตามกลุ่มรายได้ จะพบว่า เยาวชนในกลุ่มรายได้น้อย มีความกังวลเรื่องหนี้สินเป็นอันดับ 1 ตามด้วยปัญหาอบายมุขและสิ่งเสพติด และการไม่มีบ้าน และรถ

ในสายตาของเยาวชนต่อสถานการณ์ของครอบครัวสังคมไทยในภาพรวม กลับมองว่าอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงถึงร้อยละ 70 ขณะที่มองว่าน่าชื่นชมร้อยละ 20 และเฉยๆ ร้อยละ 10

สำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าการใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวดีขึ้น จาก 2 ชั่วโมง เป็นเกือบ 3 ชั่วโมง คำถามที่ตามมาคือ เวลาที่ให้กับคนในครอบครัว 3 ช.ม. ทำอย่างไรถึงกลายเป็นเวลาที่มีคุณภาพ เช่น เด็กปฐมวัยการเล่นกับลูกตามช่วงวัยที่เหมาะสมกับพัฒนาการ ในวัยเรียนควรหากิจกรรมเพื่อกระตุ้นกระบวนการเรียนรู้และทักษะชีวิตและวัยรุ่น พ่อแม่ต้องใช้ทักษะการฟังให้มากกว่าเดิม และเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติดูแลต่อผู้สูงอายุ

สิ่งสำคัญคือการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว และการให้ใกล้ชิดกับเด็กตั้งแต่เล็ก จะส่งผลต่อภูมิคุ้มกันแก่เด็กเมื่อโตขึ้น

ด้าน น.ส.ณัฐยา บุญภักดี เจ้าหน้าที่บริหารแผนงานเยาวชน UNFPA กล่าวว่า ภาพรวมของครอบครัวไทยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา จากรายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ.2558 พบว่า ครอบครัว 3 รุ่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นครอบครัวประเภทหลักในปัจจุบัน โดยเฉพาะในชนบท

ส่วนครอบครัวพ่อแม่ลูก ซึ่งเคยเป็นครอบครัวหลักลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง ขณะที่ครอบครัวคู่สามีภรรยาที่ไม่มีลูก เพิ่มขึ้น 3 เท่า โดยเพิ่มขึ้นในเขตชนบทสูงกว่าในเมือง

สำหรับครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมีสัดส่วนลดลงเล็กน้อย แต่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 970,000 ครัวเรือน เป็น 1.37 ล้านครัวเรือน พบรูปแบบครอบครัวที่หลากหลาย เช่น ครอบครัวเพศเดียวกัน ครอบครัวที่ไม่ใช่ญาติ

จากการประชุมเชิงปฏิบัติการของตัวแทนเยาวชน จำนวน 91 คน ใน 21 จังหวัด เพื่อแลกเปลี่ยนครอบครัวไทยในมุมมองของเยาวชน ระหว่างวันที่ 26-28 มี.ค.2560 พบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในครอบครัวที่เยาวชนชอบคือ การที่ครอบครัวได้ใช้เวลาและทำกิจกรรมอยู่ด้วยกัน ความเข้าใจและรับฟังปัญหา ให้คำปรึกษาได้ทุกเรื่อง ทั้งเรื่องเรียน ความรัก

สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยและเยาวชนไม่อยากให้เกิดขึ้นในครอบครัว คือ ปัญหาการหย่าร้าง การแยกทางของพ่อแม่ที่ส่งผลต่อความรู้สึกของลูก สิ่งที่เยาวชนอยากเห็น เพื่อช่วยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพคือ การมีเวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้น การแสดงความรัก ความอบอุ่นต่อกัน

ปัจจุบันนี้มีหลายปัจจัยที่ทำให้ครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน พูดคุยกัน ทำความเข้าใจกันน้อยลง บางครอบครัวอยู่ด้วยกันแต่ใช้เวลาก้มหน้าหมดไปกับโซเชี่ยลเสียส่วนใหญ่ พ่อแม่ต้องจัดสรรเวลาให้ลูกและผู้สูงอายุในครอบครัว หาเวลาอยู่ด้วยกันสร้างความอบอุ่นในครอบครัว

เพราะการที่มีพื้นฐานความครัวที่ดีนั้น จะช่วยสร้างกำลังใจให้แก่เยาวชน “เป็นเกราะ” ป้องกันแรกที่แข็งแรงที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน