วิสาหกิจชุมชน‘บ้านฮ่องฮี’

แปรรูปจิ้งหรีดทำน้ำพริก-ปั้นขลิบ

รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ – แม้กาฬสินธุ์จะติดอันดับจังหวัดยากจนในอันดับต้นๆของเมืองไทย แต่ในความเป็นจริงที่นี่ก็มีของดี-สินค้าเด่นหลายอย่างที่หลายคนอาจยังไม่รู้ อย่างเช่นเป็นแหล่งใหญ่ในการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามส่งไปขายทั่วภาคอีสานและบางพื้นที่ในลาว และยังเป็นแหล่งเลี้ยงจิ้งหรีดอีกแห่งที่หันมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เกษตรกรจำนวนไม่น้อยใน จ.กาฬสินธุ์ หันมาเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพเสริม เพื่อหารายได้เพิ่มเติมจากอาชีพหลักในการทำไร่ ทำสวน

ขณะที่บางคนยึดเป็นอาชีพหลักเลย และต่อยอดด้วยการแปรรูป อย่างเช่นกลุ่มแมงสะดิ้ง จิ้งหรีด บ้านฮ่องฮี ต.ยางตลาด อ.ยางตลาด ที่มี “นางอรวรรณ วอทอง” เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแมงสะดิ้ง จิ้งหรีด บ้านฮ่องฮี ซึ่งเธอได้รับเลือกเป็นยังสมาร์ตฟาร์มเมอร์ของจ.กาฬสินธุ์ เมื่อปี 2557 ด้วย

ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มได้แปรรูปเจ้าแมลงพวกนี้ อาทิ ข้าวเกรียบจิ้งหรีด, จิ้งหรีดทอดสมุนไพร, จิ้งหรีดอบกรอบ , น้ำพริกจิ้งหรีด และปั้นขลิบจิ้งหรีดที่มีที่นี่แห่งเดียว ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าหลากหลายกลุ่ม เวลาไปออกบูธที่ไหนก็มีเสียงตอบรับดีเพราะลูกค้าจะได้ลิ้มชิมรสก่อนตัดสินใจซื้อ

อรวรรณ วอทอง (ซ้ายสุด) และสมาชิกกลุ่ม

นางอรวรรณเล่าว่าเป็นคนกาฬสินธุ์ หลังเรียนจบปวส. ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีชนะพลขันธ์ จ.นครราชสีมา ก็มาทำงานเป็นเสมียนบริษัทจิวเวลรี่ ที่กทม. แต่พอทำแล้วรู้สึกไม่ชอบ จึงอยากมาทำเกษตรที่บ้านเกิด มาปลูกผัก และเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นรายได้เสริมตั้งแต่ปี 2550 และแนะนำคนในชุมชนให้เลี้ยง พอปี 2559 ไปจดทะเบียนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีสมาชิก 45 ราย และพอปี 2560 ได้ลงทะเบียนทำเกษตรแปลงใหญ่

ปัจจุบันมีสมาชิก 51 ราย ราคาขายส่งหน้าฟาร์ม จิ้งหรีดจะขายก.ก.ละ 90 บาท สะดิ้งขาย ก.ก.ละ 80 บาท เฉลี่ยแล้วแต่ละวันจับขายได้ประมาณ 300-400 ก.ก.เดิมนั้นเธอเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อเป็นรายได้เสริม แต่ที่สุดท้ายได้เงินเป็นกอบเป็นกำและมีช่องทางการขาย จึงตัดสินใจทำเป็นอาชีพหลัก โดยปีหนึ่งๆ เลี้ยงได้ 5-6 รอบ

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแมงสะดิ้ง จิ้งหรีด บ้านฮ่องฮี เล่าว่า เริ่มต้นด้วยการเลี้ยง แค่ 2 บ่อ แต่ละบ่อขนาด 2 คูณ 4 เมตร ลงทุน 5000 บาท ขายได้ ก.ก.ละ 100 บาท จึงตัดสินใจขยายบ่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ช่วงแรกเลี้ยงแล้วไม่พอขาย เลยชวนญาติพี่น้องและคนที่ว่างงานมาเลี้ยง โดยส่งให้พ่อค้าที่ขายแมลงทอดตามตลาดต่างๆในจ.กาฬสินธุ์ และขยายไปยังจังหวัดต่างๆมีทั้งที่อุดรธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น และที่ตลาดไท ในกทม.

นำ้พริกจิ้งหรีด

ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มทั้งหมดเลี้ยงจำนวน 1,003 บ่อ บางที่เรียกว่าบล็อกหรือกล่อง บางคนมี 5-10 บ่อ แต่ของเธอเองมี300บ่อ

สำหรับวิธีการเลี้ยง หลังจากได้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ที่สุดก็บ่มไข่ให้ฟักตัว การบ่มคือ ใช้ผ้าพลาสติกคลุมไว้7วัน ฟักตัว ให้อาหาร เป็นอาหารจิ้งหรีดโดยเฉพาะ ใช้เวลาเลี้ยง 45 วันต่อรุ่น โดยก่อนที่ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อน ใช้เวลาราว 10 วัน ระยะตัวอ่อน 14 วัน ช่วงโตเต็มวัย 20 วัน ซึ่งก่อนจะจับขาย 25 วัน จะงดให้อาหารสำเร็จรูปของจิ้งหรีด แต่ให้ฟักทองและรำอ่อนแทน เป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติ ทำให้จิ้งหรีดไม่มีกลิ่นเหม็นสาบ

นางอรวรรณบอกว่า จากการเข้าร่วมเกษตรแปลงใหญ่ของทางราชการ มีผลดีหลายอย่าง คือ ช่วยในการลดต้นทุน โดยมีการรวมกลุ่ม รวมหุ้น มีเงินก้อน ในการซื้ออาหาร ทำให้เลี้ยงจิ้งหรีดมีประสิทธิภาพ และได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตรยังมาแนะนำเทคนิควิธีการเลี้ยงต่างๆให้ด้วย

จิ้งหรีดทอดกรอบ

ในการเลี้ยงจิ้งหรีดนั้น เธอว่าปัญหาอุปสรรคเป็นเรื่องอากาศ เพราะถ้าหนาวเกินไปจิ้งหรีดก็ตาย ร้อนเกินไปก็ตายเช่นกัน จึงสร้างโรงเรือนแบบเปิด เพื่อให้อากาศถ่ายเท ซึ่งจะช่วยได้ระดับหนึ่ง กรณีหากอากาศหนาวก็จะใช้ผ้าปิดให้ลมผ่านน้อยที่สุด แต่ให้มีแสงด้านบน ส่วนหน้าร้อนใช้วิธีฉีดน้ำบนหลังคาโรงเรือน เพื่อลดความร้อน โดยแต่ละโรงเรือนใช้งบประมาณสร้างประมาณ 130,000 บาท ซึ่งก็ยังไม่ดีนัก อยู่ในขั้นตอนที่จะต้องปรับปรุงให้ได้มาตรฐานมากกว่านี้

เรื่องของการแปรรูปนั้น นางอรวรรณให้ข้อมูลว่า ทางกรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) มาช่วยในเรื่องพัฒนารูปแบบกระป๋อง เพื่อให้เก็บไว้ได้นานขึ้น

โดยผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีวางขายที่ชุมชน และขายผ่านออนไลน์ทางเฟซบุ๊กชื่อ “อรวรรณ วอทอง” รวมทั้งขายผ่านไปรษณีย์ไทยด้วย

สำหรับจิ้งหรีดกระป๋อง น้ำหนัก 20 กรัม ราคา 40 บาท 3 กระป๋อง 100 บาท เวลาออกบูธตามงานต่างๆ สินค้าขายดี คือจิ้งหรีดสดที่ทอดใหม่ๆ รองลงมาเป็นน้ำพริกเผาจิ้งหรีด น้ำหนัก 50 กรัม ขายกระปุกละ 50 บาท ขนมปั้นขลิบก็ขายดีเช่นกัน ในส่วนน้ำพริกเผานั้นรสชาติเผ็ดจัดจ้าน โดยผสมเนื้อจิ้งหรีดล้วนๆ 30%

ข้าวเกรียบจิ้งหรีดเป็นผลิตภัณฑ์อีกอย่างที่ขายดีในชุมชนจนผลิตไม่ทัน เพราะในสัดส่วนผงแป้งหนึ่งก.ก. ใช้จิ้งหรีดถึง 6 ขีด

ด้วยการแปรรูปจิ้งหรีดในหลากหลายประเภท รวมทั้งการขายผ่านออนไลน์ ทำให้ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแมงสะดิ้ง จิ้งหรีด บ้านฮ่องฮี ได้รับรางวัลผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ จากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อปี 2560 และได้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น

เธอพูดถึงแผนธุรกิจในปีหน้าว่าจะเน้นส่งออกจิ้งหรีดทอดใส่กระป๋อง ซึ่งอยู่ระหว่างติดต่อกับทางลูกค้าจีน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะในตลาดมีคู่แข่งเยอะ อย่างไรก็ตามถ้าเป็นคอแมลงจริงๆ จะรู้จิ้งหรีดของกลุ่มสะอาดมีคุณภาพและรสชาติดี ได้รับเครื่องหมายอย.เรียบร้อยแล้ว

ที่ผ่านมามักมีกลุ่มศึกษาดูงานและกลุ่มเกษตรกรพื้นที่ต่างๆเข้ามาศึกษา ดูงานเป็นประจำ หากสนใจติดต่อสอบถามได้ที่ 09-8139-0108

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน