ย้อนอดีต คอลัมน์ที่ 13

ช่วงเดือน ม.ค. 2555 เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน และเกิดพายุงวงช้าง

ทำให้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สงขลา ประกาศให้ 12 อำเภอของ จ.สงขลา คือ ระโนด สทิงพระ อ.เมือง สะบ้าย้อย หาดใหญ่ จะนะ นาทวี คลองหอยโข่ง นาหม่อม สะเดา สิงหนคร และบางกล่ำ เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน

โดยเฉพาะพื้นที่ อ.ระโนด ได้เกิด “พายุลมงวงช้าง” พัดบ้านเรือนประชาชน 2 ตำบล ได้รับความเสียหาย 40 หลัง

ปรากฏการณ์พายุงวงช้าง มีชื่อที่ถูกต้องคือพายุนาคเล่นน้ำ หรือพวยน้ำ (Waterspout) คือปรากฏการณ์ที่มีลักษณะคล้ายท่อน้ำขนาดใหญ่เชื่อมต่อระหว่างผืนฟ้าและพื้นน้ำ

เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากลมพัดวนบิดเป็นเกลียว เห็นได้จากเมฆที่มีลักษณะเป็นลำ หรือเป็นกรวยหัวกลับยื่นลงมาจากฐานของเมฆคิวมูโลนิมบัส (เมฆฝนฟ้าคะนอง) ประกอบด้วยหยดน้ำพุ่งเป็นฝอยขึ้นจากผิวพื้นทะเล

มีลมแรงพัดเข้าหาบริเวณศูนย์กลาง ยอดของพวยน้ำอาจเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่แตกต่างไปจากฐาน ทำให้แกนเอียงหรือบิดเบี้ยวแล้วหลุดออกจากกันและสลายตัวไป

รูปแบบการเกิดจะคล้ายกับพายุทอร์นาโดที่เกิดขึ้นเหนือพื้นน้ำ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า มักเกิดบ่อยๆ บนพื้นน้ำในเขตร้อน

ปรากฏการณ์นี้กินเวลาไม่นานนักประมาณ 2-20 นาที บางครั้งอาจกินเวลานานถึงครึ่งชั่วโมง จากนั้นจะสลายตัวไปในอากาศอย่างรวดเร็ว

ลักษณะการเกิดพายุงวงช้าง มี 2 แบบ ได้แก่

1. เป็นพายุทอร์นาโด ที่เกิดขึ้นเหนือผืนน้ำ (ทะเล ทะเลสาบ หรือแอ่งน้ำ) จะเกิดขึ้นระหว่างที่ฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก เรียกว่า พายุฝนฟ้าคะนองแบบซูเปอร์เซลล์ และมีระบบอากาศหมุนวนที่เรียกว่า เมโซไซโคลน (Mesocyclone) จึงเรียกพายุนาคเล่นน้ำแบบนี้ว่า นาคเล่นน้ำที่เกิดจากทอร์นาโด (Tornado waterspout)

2. เกิดจากการที่มวลอากาศเย็นเคลื่อนผ่านเหนือผิวน้ำที่อุ่นกว่า โดยบริเวณใกล้ๆ ผิวน้ำมีความชื้นสูงและไม่ค่อยมีลมพัด อากาศที่อยู่ติดกับผืนน้ำอุ่นในบางบริเวณจะยกตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้อากาศโดยรอบไหลเข้ามาแทนที่ ก่อนจะพุ่งเป็นเกลียวขึ้นไป เรียกว่านาคเล่นน้ำ (True waterspout)

มักเกิดในช่วงอากาศดีพอสมควร ช่วงเวลาที่เกิดมักจะมีพายุฝนฟ้าคะนองร่วมอยู่ด้วย

พายุงวงช้างมีความยาวประมาณ 10-100 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1 เมตร ไปจนถึงหลาย 10 เมตร ในพายุอาจมีท่อหมุนวนเพียงท่อเดียวหรือหลายท่อก็ได้ แต่ละท่อจะหมุนด้วยความเร็ว 20-80 เมตรต่อวินาที

กระแสลมในพายุเร็วถึง 100-190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจสูงถึง 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถคว่ำเรือเล็กๆ ได้สบาย

ชาวเรือควรสังเกตทิศทางการเคลื่อนที่ให้ดี แล้วหนีไปในทิศตรงกันข้าม

พายุงวงช้างเคลื่อนที่เร็วตั้งแต่ 3-130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่จะเคลื่อนที่ค่อนข้างช้าราว 18-28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ในไทยเคยเกิดพายุงวงช้างขึ้นในบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 51 และบริเวณทะเลสาบสงขลาตอนใน

นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัย และฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลก แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะนั้นได้กล่าวไว้ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่วนใหญ่มักจะเกิดในน้ำ โดยเฉพาะในทะเลจะเห็นบ่อยกว่าในน้ำจืด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน