‘บทบาท-สิทธิ’สตรีไทย โจทย์ท้าทายในยุค2020

บทบาทและสิทธิสตรีไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มองเห็น “ก้าว” ที่กล้า และได้รับการยอมรับในด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกันหลายปัญหาของเด็กและหญิงไทยยังคงซ้ำรอยอยู่ที่เดิม และมีอีกหลายปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ในวาระที่โลกหมุนไปไม่หยุดหย่อน

สตรีไทยและผู้เกี่ยวข้องจากหลากหลายวงการร่วมให้มุมมองต่อ “โจทย์” ที่รอท้าทายหญิงไทย “บทบาท” และ “การรับมือ” ในโลกยุค 2020

น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์

ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ

ในปัจจุบันผู้หญิงได้รับการยอมรับทั้งในด้านอาชีพและสิทธิต่างๆ ในการเมืองเองจะเห็นว่า ส.ส.หญิงเข้ามามีบทบาทในสภามากขึ้น เช่นกัน นับว่าเป็นเรื่องดีที่เราได้เห็นถึงการพัฒนา ในการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงใช้ความรู้ความสามารถในด้านที่ถนัด ในอนาคตสิ่งที่มุ่งหวังในบทบาทสตรีคือบทบาทในครอบครัว แน่นอนว่าความรับผิดชอบในบทบาทของแม่บ้านยังจำเป็น แต่ต้องสนับสนุนให้ผู้ชายมีส่วนร่วมเช่นกัน แบ่งเบาหน้าที่งานต่างๆ ร่วมกัน

สตรี

“ด้วยสรีระของผู้หญิงทำให้มีโอกาสตกเป็นเหยื่อได้มากกว่าเพศชาย สิ่งหนึ่งที่อยากให้ความสำคัญคือเรื่องความปลอดภัยของผู้หญิง ภาครัฐต้องดูแลพื้นที่เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเซฟตี้โซนของผู้หญิง เช่น ที่จอดรถตามที่สาธารณะ ไฟฟ้าส่องสว่าง การติดตั้งกล้อง CCTV ที่มีคุณภาพ ในด้านความรุนแรงในครอบครัวอยากให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมช่วยกันป้องกันปัญหา โดยเริ่มจากตัวเราเอง”

น.ส.จิราพร สินธุไพร

ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย

สตรีมีส่วนร่วมในหลายภาคส่วนมากขึ้นในภาพรวมของโลก ผู้นำหลายประเทศเป็นสตรี เช่น สหราชอาณาจักร เยอรมนี และนิวซีแลนด์ ในไทยเคยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก เพราะ ผู้หญิงแสดงหน้าที่ได้หลายบทบาท หากสังคมมีทัศนคติที่เปิดกว้างต่อผู้หญิง ยอมรับในบทบาทหน้าที่มากกว่าเรื่องเพศสภาพ จะทำให้ผู้หญิงแสดงศักยภาพของตัวเองได้มากกว่าที่เป็นอยู่

สตรี

ประเทศไทยให้ความสำคัญต่อสตรีและบทบาทสตรีมากขึ้น ในรัฐธรรมนูญระบุว่าต้องให้ความสำคัญ คุ้มครองสตรี ไม่ให้ถูกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และต้องจัดสรรงบประมาณโดยคำนึง ถึงเพศ วัย และสภาพบุคคล นับเป็นแนวโน้มที่ดี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดหลายพรรคมีนโยบายด้านสังคมที่เกี่ยวกับสตรีที่เป็นจุดร่วมกัน และมีสัดส่วนส.ส.หญิงร้อยละ 15 คาดหวังว่าในอนาคตน่าจะมีสัดส่วนมากกว่านี้ที่ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมแสดง บทบาทนำในระดับการตัดสินใจของประเทศ

“ในปี 2020 ถ้ามองในระดับจุลภาค การรับเข้าทำงาน ในองค์กรต่างๆ อาจยังมีข้อจำกัดในเรื่องเพศ เช่น ผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้วอาจถูกปฏิเสธเข้าทำงาน ปัญหาพวกนี้แก้ได้ด้วยภาครัฐและองค์กรเอกชน หากมองในระดับมหภาค เพศสภาพไม่ใช่ข้อจำกัดในการทำงาน ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย หรือเพศทางเลือก มีศักยภาพที่จะทำงานได้ดีเหมือนกัน อยากเห็นผู้หญิงมีบทบาทในการทำงานระดับตัดสินใจมากขึ้น และอยากให้สังคมเปิดใจยอมรับความสามารถของผู้หญิงมากกว่าให้สิทธิพิเศษโดยใช้เรื่องเพศสภาพเข้ามาตัดสิน”

นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์

ส.ส.พรรคอนาคตใหม่

สิทธิสตรีในปัจจุบันดีกว่าเมื่อก่อนค่อนข้างมาก แต่ในฐานะผู้แทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ ในสังคมเมืองที่เจริญแล้ว สตรีส่วนมากมีการศึกษาที่ดี มีความรู้ สามารถเข้าถึงข่าวสารที่เกี่ยวกับสิทธิสตรีเองได้อย่างสะดวก ขณะที่บทบาทและสิทธิสตรีกลุ่มชาติพันธุ์ ที่บางคนมองว่าผู้ชายไม่ให้เกียรติ ไม่ให้สิทธิเขา ต้องบอกก่อนว่าในกลุ่มชาติพันธุ์มีเรื่องวัฒนธรรม จารีตประเพณีเข้ามาเกี่ยวข้อง

สตรี

“ในส่วนของผมยืนยันว่าเคารพและให้เกียรติสตรีทุกคน โดยเฉพาะสตรีที่ทำให้ผมเกิด ผมจึงอยากให้สตรีในบทบาทความเป็นแม่ได้รับสิทธิมากขึ้นในฐานะผู้ดูแลครอบครัว เป็นเหมือนแม่ทัพของบ้าน แต่ทั้งหมดก็ยังมีเส้นบางๆ อยู่ ในเรื่องศาสนา และประเพณี วันข้างหน้าอยากให้เปิดกว้างขึ้น ส่วนบทบาททางการเมืองอยากให้มีประธานรัฐสภาเป็นผู้หญิง หรือมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง ซึ่งประเทศไทยเคยมีมาแล้ว นอกจากนี้อะไรบ้างที่ผู้หญิงอยากทำ บางเรื่องหากทำได้อยากให้แสดงออกมา”

ชฎาทิพ จูตระกูล

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์

สิ่งที่ยึดมั่นมาตลอดคือไม่ว่าทำอะไรต้องดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นบทบาทแม่ ภรรยา เจ้านาย หรือ ลูกน้อง และควรทำพรุ่งนี้ให้ดีกว่าวันนี้เสมอ การจะทำสิ่งใดสำเร็จได้ต้องเกิดจากความร่วมมือที่ดีของหลายฝ่าย เรียนรู้ที่จะทำงานกับผู้อื่น ใส่ใจรับฟังความเห็น เอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า พันธมิตร ทีมงาน และลูกค้าของเรา ที่สำคัญคือต้องมีทีมงานที่ดี ทีมเวิร์กคือพลังสำคัญ

สตรี

“ปี 2020 จะเป็นปี ที่มีความเปลี่ยนแปลง มากปีหนึ่ง โดยมีผลกระทบมาจากเศรษฐกิจโลกซึ่งผันผวน เหตุการณ์ทั้งหลายในโลก ต่างแปรปรวน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง ความขัดแย้งทางการค้า และการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในโลกดิจิตอล ที่ทำให้หลายธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนมุมมองและวิธีการทำธุรกิจของตนเอง ถือว่าเป็นปีที่ท้าทายมาก

ผู้หญิงในปี 2020 จึงควรเปิดใจกว้าง เรียนรู้ เริ่มใหม่ รับฟังความคิดเห็นใหม่ๆ ที่สำคัญคือต้องมีทักษะการปรับตัวสูงมาก รู้จักปรับตัวปรับใจ ปรับทัศนคติและวิธีการทำงานให้สามารถเปลี่ยนแปลงและรับกับสภาวะต่างๆ ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ปี 2020 นี้ คือปีที่ทุกคนต้องคิดเร็ว ทำเร็ว บนพื้นฐานของการคำนวณความเสี่ยง ต้องมีการจัดการกับความเสี่ยงที่ดี”

นวลพรรณ ล่ำซำ

กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)

แป้งเชื่อในเรื่องการเป็นตัวของตัวเอง ปัจจุบันที่เทคโนโลยีหมุนโลกให้เร็วขึ้นทุกวัน การอัพเดตนวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญ แต่อีกเรื่องที่ไม่ควรลืมคือการถามตัวเองว่าเราต้องการอะไรในชีวิต มีสิ่งไหนที่เราทำได้ หรือทำไม่ได้ ขบคิดหาคำตอบให้เจอ การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักจะทำให้เรามีพลังที่จะพัฒนาตัวเอง ต่อให้เจอปัญหาหนักแค่ไหนก็จะสู้ผ่านไปได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าชีวิตจะเจอแต่เรื่องง่ายๆ

สตรี

“ตลอดชีวิตการทำธุรกิจ แป้งต้องแข่งขันกับผู้ชายหลายคน ในช่วงเวลาเหล่านั้นไม่มีใครยอมอ่อนข้อให้เรา ผู้หญิงที่คิดจะยืนอยู่บนเวทีธุรกิจคุณต้องลืมคำว่าเพศ ถ้าเป็นสถานการณ์ที่ต้องเผชิญหน้ากันตรงๆ ในห้องประชุมยิ่งต้องแข็งแกร่งกว่าเดิมหลายเท่า แต่เมื่อฝ่าฟันอุปสรรคจนประสบความสำเร็จ วันนั้นนั่นแหละที่คุณจะได้รับเสียงชื่นชมและภาคภูมิใจในตัวเอง

ประเทศไทยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมากพอสมควร เห็นได้จากภาคธุรกิจที่มีผู้หญิงเป็นผู้นำองค์กรมากขึ้น แต่สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ข้าราชการ หรือ ส.ส. อาจมีผู้หญิงในสัดส่วนที่น้อย เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ผู้หญิงจะเข้ามามีบทบาทเยอะขึ้น ยกตัวอย่างในองค์กรยุติธรรมของไทยที่มีผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น อีกไม่นานเราอาจได้เห็นประธานศาลที่เป็นสุภาพสตรีก็เป็นได้

อีกเรื่องหนึ่งที่ยังมีความเหลื่อมล้ำสูง คือกีฬา ต้องยอมรับว่าฟุตบอลหญิงและฟุตบอลชายของไทยมีช่องว่างที่ห่างกันมาก ไม่ว่าจะเรื่องการสนับสนุนด้านงบประมาณ โบนัส หรือฟุตบอลลีก การพัฒนาเรื่องนี้ให้ยั่งยืนคงหวังพึ่งหน่วยงานเอกชนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความแข็งแรงของภาครัฐ ถ้าทุกคนรวมหัวใจช่วยเหลือกัน โอกาสที่ฟุตบอลหญิงไทยจะไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เป็นครั้งที่ 3 ก็เป็นความฝันที่เป็น ไปได้”

อังคณา นีละไพจิตร

นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

รางวัลแมกไซไซ ปี 2562

แม้ผู้หญิงมีศักยภาพมากขึ้น แต่โอกาสในการมีส่วนร่วมทางการเมือง กำกับนโยบาย ตัดสินใจ หรือขึ้นสู่ผู้นำในองค์กรยังถูกจำกัด ผู้หญิงที่มีโอกาสเข้าสู่การเมือง หลายคนถูกลดทอนความน่าเชื่อถือหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีการใช้เพศเป็นเครื่องมือในการลดทอนความน่าเชื่อถือ หรือผู้หญิงถูกบูลลี่โดยโซเชี่ยลมีเดียด้วยวาทกรรมดูถูกเหยียดหยามหรือสร้าง ความเกลียดชัง

สตรี

ด้านความรุนแรงจากเพศสภาพ ผู้หญิงมักพบอุปสรรคหลายประการในการเข้าถึงความยุติธรรม ปัญหายิ่งซ้ำซ้อนมากขึ้นเมื่อผู้หญิงอยู่ในกลุ่มเปราะบาง เช่น หญิงไร้รัฐ ไร้สัญชาติ หญิงพิการ หญิงแรงงานข้ามชาติ รวมถึงผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ต้องเผชิญการถูกคุกคามทั้งการฟ้องร้องดำเนินคดี หรือการคุกคามทางเพศโดยนายจ้างหรือเพื่อนร่วมงาน ในขณะที่ความรุนแรงในครอบครัวก็ยังไม่มีทีท่าจะยุติ

“ในยุค 2020 เราคงเห็นการท้าทายของผู้หญิงมากขึ้น ทั้งการเรียกร้องโอกาส ความเสมอภาค ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วมทั้งพื้นที่ทางการเมืองและสังคม เราคงได้ยินคำถามที่ผู้สมัครนางงามจักรวาลต้องตอบในเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิของผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงรุ่นใหม่ต้องตระหนักถึงปัญหารอบตัว หรือปัญหาที่เพื่อนมนุษย์ต้องเผชิญมากกว่าการคำนึงถึงความสวยงามเพียงอย่างเดียว

ผู้หญิงในปี 2020 คงต้องแสดงศักยภาพในการมีส่วนร่วม แก้ปัญหาต่างๆ มากขึ้น เช่น ปัญหาโลกร้อน ปัญหามลพิษ การแก้ปัญหาฝุ่นควัน รวมถึงปัญหาภายในประเทศ เช่น เรื่องธุรกิจที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชน การขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศ การยุติความรุนแรงทางเพศ รวมถึงควรมีส่วนร่วมสนับสนุนให้แก้ไขกฎหมาย การปรับทัศนคติและอคติทางเพศที่ฝังลึกในสังคมไทยมายาวนาน การเข้าถึงสิทธิอนามัยเจริญพันธ์ของผู้หญิงทุกคน”

จะเด็จ เชาวน์วิไล

ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

ผู้หญิงในปี 2020 เป็นผู้หญิงยุคใหม่ที่กล้าแสดงออก มีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ มากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นปัญหา คือยังมีผู้หญิงที่ถูกใช้ความรุนแรงมากอยู่ พอเป็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเขายังไม่สามารถ ลุกขึ้นมาต่อสู้ได้ เรามีความหวังว่าผู้หญิงยุคใหม่จะเติบโตมากขึ้น

สตรี

“ผู้หญิงยุค 2020 ควรเชื่อว่าตนเองมีศักยภาพพอที่จะพึ่งตัวเองได้ มีงานทำ มีการศึกษา ไม่จำเป็นต้องพึ่งใคร พอมีแฟนผมเชื่อว่าคุณจะดูก่อนว่าผู้ชายคนนี้จะทำให้คุณมีปัญหาหรือไม่ ถ้าเขาชอบใช้อำนาจอย่าไปยุ่งกับเขา ไม่เช่นนั้นเราจะอยู่ภายใต้อำนาจเขา เชื่อว่าผู้หญิงยุคใหม่จะเชื่อมั่นในตัวเองมากพอ เรื่องสิทธิต่างๆ ผู้หญิงควรได้สิทธิ์และมีกฎหมายที่ดีที่จะคุ้มครอง ขณะนี้พ.ร.บ.คุ้มครองความรุนแรงในครอบครัวอยู่ในช่วงการแก้ไข ต้องผลักดันให้เกิดการคุ้มครองและเยียวยา”

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน