ปิดทองหลังพระฯ ปลื้มเกษตรกรน้ำป้ากปลดหนี้

ร่วมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ-ชุมชนเข้มแข็ง-ครอบครัวอยู่ดีมีสุข

ชุมชนเข้มแข็ง-อยู่ดีมีสุข – “น่าน” จังหวัดที่ขึ้นชื่อว่ามีภูมิประเทศที่มีความสวยงามแห่งหนึ่งของไทย ทั้งเคยเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางธรรมชาติ เป็นพื้นที่มีความสำคัญเชิงภูมิศาสตร์ และภูมิสังคม อีกทั้งมีแม่น้ำน่านที่เป็นหนึ่งในลำน้ำสาขาต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นเส้นเลือดที่สำคัญของไทย

แต่ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา “น่าน” ประสบปัญหาอย่างรุนแรงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะป่าต้นน้ำน่านถูกบุกรุกแผ้วถางทำลายแปลงสภาพเป็นไร่เลื่อนลอยจำนวนมาก สิ่งที่ตามมาคือปัญหาภัยแล้ง และปัญหาน้ำป่าไหลหลาก มวลน้ำมหาศาลไหลบ่าท่วมทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ผลผลิตทางการเกษตรถูกทำลายสิ้น เกษตรกรไม่มีกิน เกิดหนี้สิน ตามมาด้วยปัญหาความยากจน และเข้าสู่การเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤต

ด้วยเหตุดังกล่าว ช่วงปี 2552 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสารแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสารแนวพระราชดำริ จึงเดินหน้านำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เข้ามาขยายผลสู่การปฏิบัติงาน เริ่มจัดโครงการนำร่องแบบบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาสู่ชุมชนท้องถิ่น ทั้งเน้นย้ำให้ประชาชนนำแนวพระราชดำริกลับไปพัฒนาตัวเองและท้องถิ่นให้ดีขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความยากจนแบบยั่งยืน

จุดนี้ถือเป็นการเริ่มต้นของการประกาศภารกิจโครงการ “ปิดทองหลังพระ ณ ต้นน้ำน่าน” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กลับมาดีขึ้น โดยการนำเอาหลักการองค์ความรู้ 6 มิติ ทั้ง มิติน้ำ ดิน เกษตร พลังงานทดแทน ป่า สิ่งแวดล้อม และหลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ซึ่งเป็นบันได 3 ขั้นในการนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนมั่นคง

อ่าวข่าวเพิ่มเติม – 10 ปี พื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระ จ.น่าน สืบสานแนวพระราชดำริเพิ่มผืนป่า สร้างอาชีพ

ล่าสุดมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสารแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จัดกิจกรรมสัญจรศึกษาดูงานชุมชนเข้มแข็ง สืบสานแนวพระราชดำริ จ.น่าน โดยพาคณะเข้าพื้นที่ “เนินจุดประกาย” บ้านน้ำป้าก ต.ตาลชุม อ.ท่าวังผา เพื่อรับฟังบรรยายสรุป ครบรอบ 10 ปี การดำเนินงานโครงการพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดน่าน

โดยมี นายธนากร รัชตานนท์ ผู้จัดการโครงการปิดทองหลังพระฯ จังหวัดน่าน กล่าวบรรยายสรุปโครงการปิดทองหลังพระฯ ตลอด 10 ปี พร้อมด้วย นายทรวง ศิริ ผู้ใหญ่บ้านน้ำป้าก นางศรีคำ มังคละ เกษตรกรต้นแบบ นายดวง คำจิตร เจ้าของแปลงเกษตรเนินจุดประกาย นายดนุพล สุปัน นักพัฒนาหมู่บ้าน และนายฤทธิ์ กันนิกา เกษตรกรต้นแบบที่ยึดแนวทฤษฎีใหม่ปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง

นายธนากร รัชตานนท์ ผู้จัดการโครงการปิดทองหลังพระฯ จังหวัดน่าน เปิดเผยว่า มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และสถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในจังหวัดน่านเป็นแห่งแรกในปี 2552 โดยดำเนินการใน 20 หมู่บ้านใน 3 อำเภอ ประกอบด้วย 3 หมู่บ้าน ในลุ่มน้ำยาว ตำบลยอด อำเภอสองแคว, 3 หมู่บ้าน ในลุ่มน้ำสบสาย ตำบลตาลชุม ตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา และ 14 หมู่บ้าน ในพื้นที่ต้นน้ำน่าน ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ รวมพื้นที่ 250,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทางการเกษตร 72,409 ไร่ ประชากร 8,190 คน 1,945 ครัวเรือน ด้วยหลักการทำงาน “แก้ปัญหาที่จุดเล็กและทำตามลำดับขั้นตอน”

ตลอดระยะเวลาการทำงานร่วมกันกับชาวบ้านในพื้นที่ต้นแบบทั้ง 3 อำเภอ ถือว่าประสบความสำเร็จ ชาวจังหวัดน่านมีความพร้อมในการเข้าร่วมกิจกรรม ทั้งสำรวจแปลงพื้นที่ทำกิน ไม่รุกล้ำแนวเขตอุทยานฯ ลงแรงพัฒนาระบบน้ำ ปรับพื้นที่ลาดชันเป็นแนวขั้นบันได ปรับปรุงบำรุงดิน ปลูกพืชเศรษฐกิจที่ใช้พื้นที่น้อย ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และเนื่องจากจังหวัดน่านมีพื้นที่ราบที่เหมาะสมกับการทำเกษตรเพียง 1.09 ล้านไร่ หรือ ร้อยละ 15 ทำให้เกิดการขยายพื้นที่เพาะปลูกไปในป่าเขา ดังนั้น โครงการปิดทองหลังพระฯ จึงมุ่งพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อให้ประชาชนสามารถทำเกษตรที่เพิ่มรายได้และลดการใช้พื้นที่ป่าไปในตัว

โครงการได้ร่วมกับจังหวัดน่านและชุมชนพัฒนาโครงการแหล่งน้ำ 1,058 โครงการ จัดสร้างฝายอนุรักษ์รวม 8,259 ตัว เพื่อส่งเสริมการเกษตรและเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ดิน ผลจากการดำเนินงานตลอดระยะเวลาสิบปี ทำให้พบว่า การใช้แนวพระราชามาพัฒนาชีวิตเกษตรกร ได้ผลน่าพอใจกล่าวคือ รายได้ทางการเกษตรของประชาชนเพิ่มจาก 41,359 บาทต่อครัวเรือนในปี 2554 เป็น 91,681 บาท ในปี 2561 คือเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากการพัฒนาเกษตรทางเลือกทดแทนเกษตรเชิงเดี่ยว นอกจากนี้ ยังใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรลดลงทำให้มีพื้นที่ป่าและป่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นสองแสนไร่ในพื้นที่ต้นแบบ

นายธนากรกล่าวอีกว่า นอกจากประชาชนในพื้นที่ต้นแบบจะมีพัฒนาการอย่างชัดเจนแล้ว ปิดทองหลังพระฯ ยังได้ร่วมกับจังหวัดน่านในการขยายผลโครงการไปยังพื้นที่อื่นๆ จนปัจจุบันได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำและเกษตรครอบคลุม 50 หมู่บ้าน ใน 15 อำเภอของจังหวัดน่าน

“เมื่อพิจารณาตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ เราก็คาดว่าประชาชนในพื้นที่ต้นแบบจะอยู่รอดได้แล้ว มีการเพิ่มขึ้นของทั้งรายได้ ป่าไม้ และเริ่มมีการบริหารจัดการตนเอง ดังนั้น ก็ควรจะก้าวเข้าสู่ทฤษฎีใหม่ที่ก้าวหน้า คือการทำให้สามารถบริหารจัดการตนเองได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งบทบาทของปิดทองหลังพระฯ ก็จะเปลี่ยนไป”

นายธนากรกล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ต้นแบบทั้ง 3 อำเภอ เมื่อ 10 ปีก่อนมีสภาพที่แตกต่างกัน ปัญหาก็แตกต่างกันออกไปตามภูมิสังคม แต่เราก็ร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหา แนวพระราชดำริ เรื่องการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เดินไปถึงเป้าหมายที่เราตั้งไว้ด้วยกัน แน่นอนบางพื้นที่พัฒนาช้า บางพื้นที่พัฒนาเร็ว แต่ทุกพื้นที่เราเห็นความตั้งใจและการร่วมใจ และยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่ตั้ง ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติและกำลังเดินก้าวไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งพิจารณาได้จากในอดีตชาวบ้านในกระเป๋าไม่มีตังค์ ปัจจุบันมีชีวิตที่ดีขึ้นมีเงินติดกระเป๋าตังค์

ทั้งหมดเกิดจากการให้พื้นที่ทุกพื้นที่มีน้ำเป็นตัวตั้ง เมื่อมีน้ำก็สามารถทำการเกษตรได้ ทำนาทำไร่ได้ ปลูกไม้เศรษฐกิจ ปลูกพริกหลังทำนาก็ได้ หรือแม้แต่ปลูกป่าคืนพื้นที่ต้นน้ำ นอกจากนี้ ปิดทองหลังพระฯ ยังเชื่อมโยงกิจกรรมและข้อมูลกับมหาวิทยาลัยชุมชน ซึ่งลงพื้นที่นำแนวคิดและข้อมูลที่ดีๆ เข้าสู่ชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านนำไปใช้ในวิถีของชุมชนแต่ละแห่งเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนต่อไป

“ความสำเร็จของโครงการเกิดจากการยึดหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ไม่มีการยัดเยียดความคิด แต่ยึดเอาความต้องการของประชาชนป็นหลัก หรือทฤษฎี “พืชในดวงใจ” ประชาชนจะเป็นคนเลือกแนวทางการเกษตรของตนเอง เราเพียงแต่สนับสนุนหรือติดอาวุธความรู้ทางการเกษตรให้ชาวบ้าน ทำความเข้าใจ ให้องค์ความรู้ หรือพาไปดูภาพความสำเร็จ ยอมรับว่าตอนแรกชาวบ้านไม่เชื่อเพราะในอดีตเคยถูกกลุ่มคนไม่หวังดีหลอก แต่ก็มีบางคนที่หัวไวใจกล้าลุกขึ้นมาดำเนินการเป็นต้นแบบ กระทั่งสามารถเรียกความศรัทธา ทำให้ชาวเกิดความเข้าใจและไว้ใจในโครงการปิดทองหลังพระฯ และนำมาซึ่งการปลอดหนี้ และดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข”

ผู้จัดการโครงการปิดทองหลังพระฯ เผยต่อว่า “ในส่วนการปลูกข้าวโพดนั้นยังมีการปลูกอยู่ในบางพื้นที่แต่ไม่มากเหมือนในอดีต และยืนยันว่าข้าวโพดไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่ให้ความรู้ในการปลูกให้ถูกที่ และเราให้เน้นความรู้และความสำคัญเกี่ยวกับพืชทางเลือกกับชาวบ้านว่า ปลูกพืชปลูกไม้ผลชนิดไหนให้ผลผลิตและรายได้มากกว่า หรือแม้แต่การแนะนำการปลูกพืชบนที่ราบที่เห็นปริมาณผลผลิตที่มากกว่าพืชบนดอย ทำให้ชาวบ้านเห็น และให้ชาวบ้านตัดสินใจ ตรงนี้ทำให้เห็นว่าบางพื้นที่เลิกทำไร่ข้าวโพดไปแล้ว และในหลายพื้นที่ปลูกข้าวโพดน้อยลง หรือปลูกไม้ผลและแซมด้วยข้าวโพด”

สำหรับปีหน้าปิดทองหลังพระฯ เตรียมดำเนินการนำเรื่องของระบบโลจิสติกส์ เพื่อนำผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านเข้าสู่ตลาด ดังนั้น เราจึงต้องพัฒนาชุมชนและพัฒนาคนให้เข้ากับองค์ความรู้ทั้งระบบ อีกทั้งเตรียมส่งชุมชนที่พร้อมให้กับระบบราชการเข้ามาช่วยดูแลชาวบ้าน นอกจากนี้ เตรียมเดินหน้าส่งเสริมเรื่องของการท่องเที่ยวชุมชนเพราะกำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว จึงต้องเน้นเรื่องของชีววิถี แต่หัวใจสำคัญที่ดีต้องวางระบบให้ชัดเจน

ขณะนี้กำลังดำเนินการเรื่องของการท่องเที่ยวชุมชนบ้านยอด ตำบลยอด อำเภอสองแคว หมู่บ้านแห่งนี้มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีน้ำตก และที่สำคัญคือมีปัจจัยที่น้ำจากท้ายหมู่บ้านมุดลงดินมาโผล่หน้าหมู่บ้าน ดังนั้น ปิดทองหลังพระฯ จึงนำน้ำที่มุดหายไปนั้นส่งเป็นน้ำตัวอย่างไปให้หน่วยงานด้านน้ำตรวจคุณภาพ และผลการตรวจพบว่าน้ำดังกล่าวเป็นน้ำแร่ธรรมชาติ จึงเตรียมส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเรื่องสุขภาพ หรือสปาร์น้ำแร่ แบบออนเซนของประเทศญี่ปุ่น

พื้นที่นี้สามารถพัฒนาชุมชนให้เป็นอุตสาหกรรมแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ในอนาคต อีกทั้งยังมีแนวคิดผลิตน้ำแร่ จึงส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจค่าน้ำ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่กำลังปรุงแต่งสารบางชนิดเพื่อให้ได้มาตรฐาน อย. ตรงนี้เราก็จะประสานกับภาครัฐและเอกชน ทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การท่องเที่ยวจังหวัดน่าน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงชีววิถี ในอนาคตเชื่อว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ

โครงการปิดทองหลังพระ จังหวัดน่าน จะเพิ่มความสำคัญด้านส่งเสริมการบริหารจัดการ ครอบคลุมทั้งการผลิต การตลาด การบริหารและการเงิน เพื่อให้ประชาชนสามารถยืนได้ด้วยตนเองอย่างสมบูรณ์ในอนาคต

ด้าน นายดวง คำจิตร เกษตรกรบ้านน้ำป้าก ทำกินบนที่ดินบริเวณเนินจุดประกาย ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553 เปิดเผยว่า “เนินจุดประกาย” อยู่บนพื้นที่ป่าต้นน้ำของลุ่มน้ำสบสาย ลุ่มน้ำสายสำคัญของแม่น้ำน่าน สามารถเห็นสภาพภูมิประเทศโดยรอบ ที่ในอดีตเคยใช้ปลูกพืชไร่หมุนเวียน เช่น ข้าวโพด และข้าวไร่ ทำให้สภาพป่าต้นน้ำถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อทำการเพาะปลูก จนมีสภาพเป็น “เขาหัวโล้น” ปัจจุบันจัดสรรเพื่อทำการเกษตรควบคู่กับรักษาสภาพป่า

หลังจากเข้าร่วมโครงการกับปิดทองหลังพระ หลังปี 2552 สามารถพลิกผืนดินจากเขาหัวโล้นสู่สีเขียวขจี เลิกปลูกข้าวโพดมาปลูกป่า 3 อย่าง เน้นประโยชน์ 4 อย่าง น้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทำการเกษตรทฤษฏีใหม่ มีการแบ่งพื้นที่ 24 ไร่ ส่วนหนึ่งเป็นบ่อน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร ปลูกพืชพันธุ์หลากชนิด อาทิ ปลูกไผ่ ปลูกกล้วย ปลูกหวาย ไม้ผสมผสาน มะม่วงหิมพานต์ มะนาว ส้ม ฯลฯ จากเดิมปลูกแค่ข้าวพันธุ์ซิวแม่จันไว้สำหรับบริโภค เริ่มหันมาปลูกข้าวพันธุ์ข้าวก่ำลืมผัว ทำให้ปัจจุบันมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า หลังฤดูเก็บเกี่ยวยังมีการปลูกพืชผักสวนครัวไว้กิน ช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน

“ปีนี้ 2562 ได้ข้าวซิวแม่จัน จำนวน 16 กระสอบ และข้าวพันธุ์ลืมผัว อีก 22 กระสอบ ส่วนหนึ่งบริโภคในครัวเรือน บางส่วนก็ขายเป็นรายได้เสริม อย่างข้าวพันธุ์ลืมผัว ขายในราคากิโลกรัมละ 20-25 บาท ส่วนพืชผักสวนครัว มะม่วงหิมพานต์ มะนาว ส้ม ที่ปลูกไว้ก็ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือนได้ด้วย”

ส่วน นายฤทธิ์ กันนิกา เกษตรทฤษฏีใหม่ช่วยปลดหนี้ เปิดเผนว่า เริ่มต้นทำการเกษตรเชิงเดี่ยว บนพื้นที่ 15 ไร่ ปลูกข้าวโพด และข้าวไร่ ปรากฏว่ามีรายได้หลังหักค่าปุ๋ยและยาแล้วเหลือเพียง 80,000 บาทต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อการจุนเจือครอบครัว ต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ มีวิถีชีวิตดำเนินอยู่อย่างนั้นปีแล้วปีเล่า จนหนี้สินเพิ่มขึ้นถึง 60,000 บาท

กระทั่ง ปี 2551 เกิดอุทกภัยรุนแรงที่หมู่บ้านน้ำป้ากและหมู่บ้านข้างเคียง ทำให้พื้นที่เกษตรและบ้านเรือนเสียหาย ส่งผลให้กำลังใจที่จะมีชีวิตต่อก็หมดไป กระทั่งในปี 2552 ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาร่วมกับโครงการปิดทองหลังพระฯ ที่แนะทำให้ทำเกษตรแบบ “ทฤษฎีใหม่” ตามแนวพระราชดำริ

นายฤทธิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อแบ่งพื้นที่ที่ทำอยู่เดิม ออกเป็นที่อยู่อาศัย 1 ไร่ ทำนา 5 ไร่ พื้นที่สวน 5 ไร่ เพื่อปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผลและพืชเศรษฐกิจ มีบ่อน้ำ 8 บ่อ สำหรับเลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน ปลาดุก ส่วนเนื้อที่อีกประมาณ 4 ไร่ เลี้ยงไก่พื้นเมือง และเป็ด เพื่อเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้เสริม พบการเปลี่ยนแปลง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคือ ชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถปลดหนี้ 60,000 บาทและมีเงินออมสำหรับลงทุนในอนาคตกว่า 120,000 บาท

“โครงการปิดทองหลังพระฯ สนับสนุนบ่อพวงสันเขา ฝายอนุรักษ์ ในพื้นที่ ทำให้ที่นี่มีน้ำใช้ตลอด จะปลูกอะไรก็ปลูกได้ สามารถปลูกพืชหลากหลาย ปลูกข้าวนา สำหรับบริโภค ปลูกข้าวโพดหลังนา ปลูกไม้ผลผสมผสาน เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ปลูกพืชผักหลากหลาย เหลือกินก็ขาย มีรายได้ตลอดปีสามารถปลดหนี้สินได้ ชีวิตดีขึ้น ทุกวันนี้ดำรงชีวิตอยู่อย่างพอเพียง”

นายทรวง ศิริ ผู้ใหญ่บ้านบ้านน้ำป้าก เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ชาวบ้านเข้าร่วมโครงการปิดทองหลังพระฯ ทำให้ชาวบ้านเกือบทุกครัวเรือนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผลผลิตของชาวบ้านที่เหลือจากินในครอบครัวแล้วยังสามารถเอาออกจำหน่ายได้ ซึ่งหลังจากนี้จะช่วยประสานชาวบ้านหากใครมีปัญหาชาวบ้านจะร่วมกันแก้ไขปัญหา และส่วนหนึ่งชาวบ้านเริ่มคิดถึงการตั้งกลุ่มเกษตรกรน้ำป้าก ซึ่งอยู่ระหว่างวางการพูดคุยวางแนวทางร่วมกัน

ทั้งหมดนี้เพื่อให้ชาวบ้านบ้านน้ำป้ากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และที่สำคัญชาวบ้านเริ่มรักษาป่า ช่วยกันดูแลป่าต้นน้ำให้ดี เมื่อป่าให้น้ำ พืชผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านก็ดีด้วยเช่นกัน ความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีไปด้วยเช่นกัน ตนในฐานผู้ใหญ่บ้านจะดูแลภาพรวมให้ดีที่สุด

 


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน