สะพานติณสูลานนท์

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

ขอประวัติการจัดสร้างสะพานติณฯ หน่อยครับ

หนุ่มยุ้ย

ตอบ หนุ่มยุ้ย

สะพานติณสูลานนท์ – เป็นสะพานคอนกรีตที่ยาวที่สุดในประเทศไทย อยู่ในจังหวัดสงขลา สะพานแบ่งเป็น 2 ช่วง โดยเชื่อมเกาะยอทั้ง 2 ด้าน ช่วงแรกเชื่อมระหว่างชายฝั่งบ้านน้ำกระจาย อำเภอเมืองสงขลา กับตอนใต้ของเกาะยอ และช่วงที่ 2 เชื่อมระหว่างตอนเหนือของเกาะยอกับชายฝั่งบ้านเขาเขียว อำเภอสิงหนคร ความยาวของสะพาน 940 เมตร และ 1,700 เมตร ตามลำดับ รวมทั้งสองตอนมีความยาวทั้งสิ้น 2,640 เมตร นับเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข 4146 ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างทางหลวงหมายเลข 4083 (ระโนด-เขาแดง) กับทางหลวงหมายเลข 407 (สงขลา-หาดใหญ่)

สะพานติณสูลานนท์

ก่อสร้างขึ้นในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จุดประสงค์เพื่อรองรับการคมนาคมทางรถยนต์ เพื่อไม่ต้องรอข้ามแพขนานยนต์ซึ่งมีไม่เพียงพอกับปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การเดินทางต้องใช้เวลานาน ทั้งเมื่อข้ามฝั่งมาแล้วก็ยังทำให้การจราจรติดขัดในตัวเมืองอีกด้วย

ดังที่ทราบกันดีว่า สงขลาเหมือนจังหวัดอกแตก ถูกผ่าซีก ปล่อยเกาะอำเภอระโนด อำเภอสทิงพระ และอำเภอสิงหนคร จะไปมาหากันทุลักทุเล ต้องข้ามฝั่งด้วยแพขนานยนต์จากฝั่งหัวเขาแดงไปขึ้นที่ตัวเมืองฝั่งแหลมสมิหลา รถราติดกันยาวเหยียด ในปี พ.ศ.2524 รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาจังหวัดสงขลาและอำเภอหาดใหญ่ให้เป็นเมืองหลัก จึงให้สร้างสะพานแห่งนี้ โดยกรมทางหลวงเป็นเจ้าของโครงการ และบริษัทจากไต้หวันเป็น ผู้ดำเนินการก่อสร้าง เปิดให้ใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2527

สะพานติณสูลานนท์

ชาวสงขลาเรียกสะพานนี้ติดปากว่า สะพานป๋าเปรม, สะพานติณ, สะพานเปรม และนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่ขึ้นชื่อของจังหวัด โดยมีการบรรจุชื่ออย่างไม่เป็นทางการของสะพานแห่งนี้ไว้ในคำขวัญจังหวัดสงขลาว่า “นกน้ำเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานป๋า ศูนย์การค้าแดนใต้”

สะพานติณสูลานนท์

หลังการสร้างสะพาน มีการสร้างรูปเหมือน “ป๋าเปรม” เป็นเชิงสัญลักษณ์ของปูชนียบุคคลแห่งความซื่อสัตย์สุจริตและยึดมั่นในการกระทำความดี พร้อมสวนป๋าเปรม เชิงสะพานหมู่ที่ 2 ตำบลพะวง อำเภอเมือง และสร้างอาคารอเนกประสงค์พร้อมการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ เพื่อเป็นองค์ประกอบให้สะพานติณสูลานนท์สมบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง การก่อสร้างในส่วนต่างๆ เหล่านี้ ลงมือดำเนินการเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 นายบรรหาร ศิลปอาชา ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์

สะพานติณสูลานนท์

สวนป๋าเปรม ณ เชิงสะพานติณสูลานนท์ หรือสวนประวัติศาสตร์พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ปัจจุบันแบ่งพื้นที่การใช้ประโยชน์เป็น 3 ส่วน คือ บริเวณที่ 1 หอประวัติพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รูปเหมือนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และบ้านพธำมะรงค์ (จำลอง), บริเวณที่ 2 สวนสาธารณะ ประติมากรรมกลางแจ้ง สวนพฤกษศาสตร์ สวนตาลโตนด แหล่งน้ำกลางสวน เวทีเปิดและอัฒจันทร์ธรรมชาติ ลานวัฒนธรรมกลางแจ้ง ศูนย์จำหน่ายเครื่องดื่ม อาคารบริการท่าเทียบเรือ และศูนย์บริการท่องเที่ยวทางน้ำ บริเวณที่ 3 ศูนย์บริการการเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน มีสะพานเดินศึกษาธรรมชาติชีวภาพป่าชายเลน (walk way) ความยาว 800 เมตร ศาลานิทรรศการเพื่อศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลน ลานพักแรม (Camping) สำหรับนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ศูนย์ฝึกอบรม (ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 11) อาคารบ้านพักพนักงาน และเรือนเพาะชำ

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน