เกษตรกรชัยภูมิแห่ปลูกผลไม้

‘ทุเรียน-สะตอ’ทำเงินก้อนโต

รายงานพิเศษ – แม้ชัยภูมิจะไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวหลัก แต่เป็นจังหวัดที่มีอะไรดีเยอะแยะ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีอุทยานแห่งชาติอยู่ถึง 4 แห่ง รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตร ซึ่งเกษตรกรหลายรายทำเป็นโฮมสเตย์ให้ผู้มาเยือนได้พักผ่อนในบรรยากาศสวนผลไม้ล้อมรอบ อย่าง นายบุญชู จูงใจ ชาวต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต ที่ทำสวนแบบผสมผสานในเนื้อที่ 15 ไร่ ซึ่งนอกจากจะปลูกผลไม้หลากชนิดแล้วยังปลูกสะตอด้วย

เจ้าของไร่จูงใจเล่าว่า พอ 3 ปีสะตอก็ให้ผลผลิตแล้ว เดิมปลูก 20 กว่าต้น แต่ต่อมาปลูกเพิ่มอีกเป็นต้นเล็กๆ มี 40-50 ต้นโดยใช้วิธีเพาะเมล็ด และเพาะเมล็ดเพิ่มอีกพันกว่าต้น โดยเลือกเมล็ดแก่ที่ใหญ่และสมบูรณ์ แกะเปลือกแล้วเพาะใส่ถุง 1 สัปดาห์ก็งอกแล้ว การดูแลไม่มีอะไรมากแค่ใส่ปุ๋ยขี้วัวเท่านั้น

บุญชู จูงใจ

ตอนนี้ผลไม้ที่ปลูกไว้ต่างให้ผลผลิตแล้ว ทั้งทุเรียนและสะตอ รวมถึงผลไม้อื่นๆ อย่างหม่อน และมะยงชิด สำหรับสะตอมีแม่ค้ามารับซื้อถึงสวนในราคาก.ก.ละ 60 บาท ถ้าขายเองอาจจะได้ก.ก.ละ 80-100 บาท แล้วแต่ทำเลขาย ซึ่งในการปลูกสะตอนั้นไม่ได้ดูแลอะไร ปล่อยเป็นไปตามธรรมชาติ สะตอของชัยภูมิรสชาติดี กลิ่นไม่ฉุนเหมือนสะตอภาคใต้

ด้วยเหตุที่สะตอขายดีและได้ราคา ชาวบ้านในอ.เทพสถิต โดยเฉพาะที่ต.บ้านไร่ จึงนิยมปลูกสะตอกันทุกบ้าน บางบ้านปลูกกันตามหัวไร่ปลายนา ในขณะที่หลายบ้านเริ่มปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจกันแล้ว เนื่องจากไม่ต้องดูแลอะไร แค่ให้ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักเท่านั้น ซึ่งใช้เวลา 3-4 ปีก็ออกฝักแล้ว เปรียบเทียบแล้วดีกว่าปลูกมันสำปะหลังที่บางปีราคาตกต่ำ

 

ส่วนการปลูกทุเรียนนั้น คุณบุญชู แจกแจงว่า ที่สวนปลูกร้อยกว่าต้น เป็นพันธุ์หมอนทองกับก้านยาว ซื้อต้นพันธุ์ที่เสียบกิ่งมาปลูกเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว พอ 3 ปีก็ออกลูก ทุเรียนจะสุกประมาณเดือนพ.ค. ทุเรียนโอโซนของ อ.เทพ สถิตคนเมืองนนท์มากินยังบอกว่ารสชาติดี ไม่แพ้ทุเรียนนนท์ เพราะเป็นพื้นที่ที่ปลูกในบริเวณใกล้กับอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อากาศดีและอยู่ในจุดที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 700-800 ม.

เขาให้ข้อมูลว่า ทุเรียนดูแลยากกว่าผลไม้อย่างอื่น เริ่มจากการขุดหลุมปลูกถ้าลึกไปก็ไม่ดี ลูกไม่โต หลุมควรลึกประมาณ 30 ซ.ม. กว้าง 50 ซ.ม. พอปลูกไปได้สักพักให้รากเจริญเติบโตก็ให้ปุ๋ยขี้วัว พอต้นโตก็ให้ปุ๋ยเพิ่มจำนวนขึ้นอีก ซึ่งจะเลือกขี้วัวจากฟาร์มเพราะมีแร่ธาตุสารอาหารเยอะ แต่ถ้าเป็นขี้วัวของชาวบ้านมักมีเมล็ดวัชพืชติดมาด้วย จึงไม่ใช้

ในการขายทุเรียนนั้นที่สวนขายก.ก.ละ 120 บาท ขณะที่ข้างนอกขายกันก.ก.ละ 150 บาท นอกจากนี้ที่สวนยังปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าและโรบัสต้าด้วย ช่วงแรกปลูก 400 กว่าต้น แต่มีปัญหาเรื่องการตลาด จึงปลูกไว้เป็นไม้ประดับรั้ว ไม่ได้ดูแลอะไรทำให้ตายไปเยอะ เพราะพอลูกดกมาก น้ำเลี้ยงไม่พอก็ตาย ในส่วนกาแฟนั้นถ้าเป็นหน้าฝนจะให้ปุ๋ยขี้วัวเยอะหน่อย อย่างไรก็ตามแม้หาตลาดไม่ได้ก็ทำเป็นกาแฟคั่วบดไว้กินกันเอง

อย่างที่เกริ่นไปแต่แรกว่าที่สวนจูงใจแห่งนี้เปิดโฮมสเตย์ด้วย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม มีบ้าน 3 หลังไว้ให้บริการ ถ้าเป็นช่วงเทศกาลหรือวัดหยุดยาว ราคาก็จะแพงหน่อย ตกหลังละ 2,000-3,000 บาท นอนได้ตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป ผู้สนใจติดต่อได้ที่ 08-6049-8318

ขณะที่นายประเสริฐ แดนทองหลาง ผู้ใหญ่บ้านเทพพนา หมู่ที่ 10 ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต เน้นปลูกสะตอมากกว่าผลไม้ โดยเล่าที่มาที่ไปของการปลูกสะตอให้ฟังว่า หลายปีก่อนคนในหมู่บ้านไปเที่ยวภาคใต้ จึงนำสะตอมาปลูกเพราะเห็นว่าอากาศที่ภาคใต้กับที่อ.เทพสถิตเหมือนกัน คือ อากาศค่อนข้างเย็น ผลปรากฏว่ารสชาติไม่ฉุนเหมือนสะตอใต้ และออกหวาน ทานง่าย คนภาคกลางมากินแล้วบอกว่ารสชาติอร่อย ยิ่งมานำไปทำพะแนงใส่หมูรสชาติดีมาก

ผู้ใหญ่บ้านเทพพนาบอกว่า ชาวบ้านในต.บ้านไร่มักปลูกสะตอกันตามหัวไร่ปลายนา ครอบครัวละ 4-5 ต้น เพื่อเก็บไว้กินในครัวเรือนเท่านั้น ส่วนใหญ่ทำไร่มันสำปะหลัง ช่วงหลังเห็นว่าขายได้ราคาดี จึงปลูกกันเป็นพืชเสริมมากขึ้น อย่างตนเองปลูก 30 กว่าต้นอยู่ตามแนวเขตริมรั้วบ้านเพราะมีพื้นที่ไม่มาก ปลูกมาได้ 5 ปีและออกฝักแล้ว เพราะสะตอที่นี่พอขึ้นปี 3-ปี 4 ก็ออกฝัก แต่ปีแรกออกไม่เยอะ เท่าไหร่ จะเยอะในปีต่อๆไป

 

ในบรรดาลูกบ้าน 382 ครัวเรือนนั้น ทุกบ้านปลูกกันเกือบหมด แต่ไม่ได้เป็นแปลงใหญ่ มากที่สุดเพียง 5-6 ไร่ น้อยสุดปลูกในบริเวณบ้านแค่ 3-5 ต้น โดยราคาส่งที่เก็บจากสวนก.ก.ละ 60 บาท และพ่อค้านำมาขายต่อก.ก.ละ 70-90 บาท ถ้าฝักสวยจะแพง ฝักไม่สวยราคาจะถูกกว่าสำหรับการปลูกสะตอนั้นใช้วิธีการเพาะจากเมล็ด อย่างที่นายประเสริฐให้รายละเอียดว่า ต้องใช้ฝักสะตอแก่ๆ รอให้ฝักขึ้นสีดำแล้วนำเมล็ดมาเพาะใส่ถุง โดยใช้แต่เนื้อใน เริ่มจากนำแช่น้ำไว้หนึ่งคืนแล้วนำมาปลูกได้เลย ส่วนใหญ่ใช้ 1-2 เมล็ด ขุดหลุมปลูก 20-30 ซ.ม. เป็นพืชที่ปลูกง่าย โดยเฉพาะที่บ้านไร่เพราะอากาศเย็น บางคนใช้ฝักแก่ๆ นำมาเพาะเอง หรือบางคนไปซื้อต้นพันธุ์มาปลูก

ในการดูแลต้นสะตอไม่มีอะไรมาก แค่กำจัดวัชพืช ถึงเวลาก็ใส่ปุ๋ย ส่วนใหญ่เป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยขี้ไก่ โดยใส่ตอนก่อนออกผลผลิต ตอนเริ่มต้นฤดูฝน ใส่ปีละ 2 ครั้งก็พอ ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีหรือพ่นสารเคมีอะไร น้ำก็ไม่ต้องการเยอะ ถ้าหน้าแล้งไม่ต้องไปรดน้ำ แค่ถอนวัชพืชพอ ส่วนช่วงกำลังติดดอกออกผลมีศัตรูพืชบ้างแต่ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ก็ไม่ได้พ่นสารเคมีอะไร

 

แม้เกษตรกรในต.บ้านไร่จะปลูกสะตอเป็นรายได้เสริม แต่ก็ทำให้มีเงินก้อนใหญ่ใช้จ่ายในครัวเรือน เพราะมีผลผลิตออกปีละ 2 ครั้ง โดยรุ่นแรกออกในเดือนพ.ค. รุ่นที่สองออกในช่วงเดือนก.ย. ห่างกัน 3 เดือน เก็บขายได้ครั้งละ 1,000-2,000 บาท บางครอบครัวขายได้ปีละหลายหมื่น ขณะที่บางบ้านขายได้หลักแสน

และใช่จะมีรายได้เสริมจากสะตอเท่านั้น เกษตรกรของต.บ้านไร่ยังปลูกผลไม้อื่นๆ ด้วย เนื่องจากเห็นว่าราคามันสำปะหลังไม่คงที่และราคาไม่ดีโดยปลูกทุเรียน เสาวรส สตรอว์เบอร์รี่ และอาโวคาโด อย่างผู้ใหญ่ประเสริฐเองก็ปลูกเสาวรสด้วย ขายได้ก.ก.ละ 25-30 บาท แต่ต้องใส่ปุ๋ยและฉีดยาบ้าง โดยจะให้ผลผลิตตอนช่วงฤดูฝน เป็นผลไม้ที่ต้องดูแลอย่าง เช่น ต้องพรวนดิน และถ้าปลูกหน้าแล้งต้องรดน้ำด้วย ไม่เหมือนสะตอที่ดูแลง่ายกว่า

ผู้ใหญ่ประเสริฐบอกด้วยว่า ในเนื้อที่ที่มีอยู่ 6 ไร่ จะปลูกสะตอเพิ่ม และคิดจะเพาะต้นสะตอขาย ซึ่งเวลานี้ขายกันต้นละ 20 บาท ส่วนทุเรียนนั้นไม่คิดปลูกเพราะเป็นผลไม้ที่ต้องดูแลเอาใจใส่มาก ทุกๆ 3 วันต้องให้น้ำ

นับเป็นอีกจังหวัดที่เกษตรกรหันมาปลูกผลไม้แบบผสมผสาน แทนที่จะทำไร่มันเหมือนแต่ก่อน ซึ่งทางราชการเองก็สนับสนุนเพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมีความเสี่ยงสูง

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน