หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

ผ่าตัดผ่านกล้อง-ลดแทรกซ้อนฟื้นตัวไว

คอลัมน์ ข่าวสดสุขภาพ

ข่าวสดสุขภาพ – จากเวทีประชุมวิชาการ ‘ผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทผ่านกล้อง’ ที่กลุ่ม PMC ซึ่งประกอบด้วย โรงพยาบาลพญาไท 1 โรงพยาบาลพญาไท 2 และ โรงพยาบาลเปาโลพหลโยธิน จัดขึ้นเพื่อการพัฒนาทางวิชาการและทักษะทางการแพทย์ เสริมการเรียนรู้ เพื่อประโยชน์ในการแนะนำแนวทางรักษาที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วย ที่โรงพยาบาลเปาโลพหลโยธิน

ศ.นพ.ธไนนิธย์ โชตนภูติ ผู้อำนวยการสถาบันกระดูกและข้อ โรงพยาบาลกลุ่ม PMC เปิดเผยว่า โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ปัจจุบันกลายเป็นโรคยอดฮิตของกลุ่มคนทำงานอายุตั้งแต่ 25-50 ปี แทบทุกอาชีพก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน จากพฤติกรรมที่ส่งผลให้หมอนรองกระดูกเสื่อมจนเกิดการฉีกขาด ของเหลวที่อยู่ภายในเคลื่อนออกมาทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ร้าวไปตามเส้นประสาทที่ถูกกดทับ นานเข้าจะมีอาการชาและอ่อนแรงร่วมด้วย

แม้ผู้ป่วยร้อยละ 80 จะหายได้จากการรักษาแบบประคับประคอง เช่น การให้ยา และทำกายภาพบำบัด แต่เมื่ออาการไม่ดีขึ้น หรือมีการกดทับขั้นรุนแรงแพทย์จึงจำเป็นต้องแนะนำให้ผ่าตัดเอาส่วนที่เกิดการกดทับออกเป็นวิธีสุดท้าย ซึ่งผู้ป่วยมักปฏิเสธการรักษา เนื่องจากในมุมมองของผู้ป่วยการผ่าตัดเป็นเรื่องใหญ่และน่ากลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดกระดูกสันหลังซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงเส้นประสาททั่วร่างกาย

ผศ.นพ.พรภวิษญ์ ศรีภิรมย์ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง อธิบายถึงการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป Endoscopic Spinal Surgery ว่า เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ช่วยลดความเจ็บปวด และยกระดับคุณภาพการรักษาให้กับผู้ป่วย โดยแพทย์จะผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือที่ติดกล้องขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 0.8 เซนติเมตร สอดลงไปยังจุดที่เป็นสาเหตุ เพื่อตัดส่วนที่กดทับออกผ่านหน้าจอแสดงผล ทำให้มองเห็นความผิดปกติได้ชัดเจน จึงมีความแม่นยำมากกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผลปกติ

ศ.นพ.ธไนนิธย์ โชตนภูติ

การผ่าตัดรูปแบบนี้มีโอกาสในการผ่าตัดสำเร็จเพิ่มขึ้นมากถึง กว่าร้อยละ 90 นอกจากนี้แผลผ่าตัดยังมีขนาดเล็กมาก ไม่ถึง 1 เซนติเมตร ที่สำคัญคือส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อโดยรอบน้อยมาก ทั้งยังลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว หลังผ่าตัดผู้ป่วยหายปวดทันที ร้อยละ 95 สามารถลุกเดินได้เลย และใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้น

นอกจากนี้การผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคปยังเหมาะกับผู้ป่วยสูงอายุที่มีภาวะกระดูกเสื่อมกดทับเส้นประสาท เนื่องจาก ผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัว จึงมีข้อจำกัดหลายอย่าง หากผ่าตัดแบบ เปิดแผล

แม้การผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคปจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่จะต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีประสบการณ์ และมีความคุ้นชินกับเครื่องมือ จึงจะได้ผลการรักษาที่ดี และเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย

 

ผศ.นพ.พรภวิษญ์กล่าวย้ำว่า แม้การผ่าตัดจะประสบความสำเร็จ หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผู้ป่วยก็มีโอกาสเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทซ้ำอีก ผู้ป่วยหลังผ่าตัดต้องระวังเรื่องการใช้หลังเป็นพิเศษ สำหรับใครที่เริ่มมีอาการปวดหลังร้าวลงขา หรือปวดคอร้าวลงแขนควรรีบพบแพทย์ เพราะหากทำการรักษาก่อนที่อาการจะหนักก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด นอกจากนั้นหากปล่อยไว้ เส้นประสาทจะทำงานได้น้อยลง ไปจนถึงตายในที่สุด ทำให้เกิดอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไปจนถึงควบคุมการขับถ่ายไม่ปกติ

หากทำการรักษาช้าเกินไป แม้ผ่าตัดเอาส่วนที่กดทับออกก็อาจไม่สามารถกลับมาใช้งานกล้ามเนื้อได้เหมือนเดิม

“ขอเตือนคนทำงานทุกอาชีพควรระวังการใช้หลัง อย่านั่งหลังค่อม หรือนั่งนานเกินไป ควบคุมน้ำหนัก เพื่อไม่ให้เป็นภาระของกระดูกสันหลังในการแบกรับน้ำหนักตัว และที่สำคัญควรออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อสามารถช่วยพยุงกระดูกสันหลังได้ ลดโอกาสการเกิดกระดูกสันหลังเสื่อม” ผศ.นพ.พรภวิษญ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน