เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมทั้งเพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันยาวนานแน่นแฟ้น และเฉลิมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น เนื่องในวาระครบรอบ 130 ปี

กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการต่างประเทศ จัดงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และนิทรรศการความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น ครบรอบ 130 ปี ณ มหาวิทยาลัยโซคา กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 12-18 พ.ค.2560

หลังจากที่ทั้งสองหน่วยงานจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และนิทรรศการความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น ครบรอบ 130 ปีไปก่อนหน้านี้ ที่วัดเน็นบุต สึชู จังหวัดเฮียวโกะ ช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมา

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการเมื่อวันที่ 12 พ.ค. โดยมีนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม นายบรรสาน บุนนาค เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว และ พล.ร.อ.อิทธิคมน์ ภมรสูต รองเลขาธิการนายกฯ ร่วมพิธี

เหตุที่เลือกมหาวิทยาลัยโซคาเป็นสถานที่จัดงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และนิทรรศการความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น ครบรอบ 130 ปี เนื่องจาก นายไดซาขุ อิเคดะ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย เคยเดินทางมาประเทศไทย 6 ครั้ง และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถึง 3 ครั้ง

อาจารย์อิเคดะยังเคยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำภาพถ่ายฝีพระหัตถ์มาจัดแสดง “นิทรรศการพิเศษ” นอกราชอาณาจักรไทยเป็นครั้งแรก และในปี 2012 ทางมหาวิทยาลัยโซคาทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเศรษฐศาสตร์แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

นอกจากนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จฯ เยือนมหาวิทยาลัยโซคาในปี 1989 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เคยเสด็จฯ เยือนในปี 1993 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนในปี 2015

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระราชวงศ์ไทยที่ทรงมีต่อผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยโซคา

มหาวิทยาลัยโซคายังได้ลงนามในข้อตกลงแลกเปลี่ยนทางวิชาการกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีนักศึกษาในโครงการแลกเปลี่ยนกันตั้งแต่ปี 1975 จนถึงปัจจุบัน

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดแสดงภาพถ่ายและมีเนื้อหาแบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่

1.การแสดงความอาลัย ประกอบด้วยการแสดงความอาลัยในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการแสดงความอาลัยในประเทศญี่ปุ่น และจากผู้นำและประมุขประเทศต่างๆ มี การฉายวีดิทัศน์สารคดีเกี่ยวกับการแสดง ความอาลัย พระราชปรารภถึงพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยสมเด็จ พระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และการเสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่นของพระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

2.พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

3.พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

4.ความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์ไทยและพระราชวงศ์ญี่ปุ่น โดยทั้งสองพระราชวงศ์เสด็จฯ เยือนไทยและญี่ปุ่นเพื่อกระชับพระราชไมตรี ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองแน่นแฟ้น และภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 13 ต.ค.2559 ราชวงศ์ญี่ปุ่นทรงไว้ทุกข์เป็นเวลา 3 วัน

ภายในนิทรรศการเชิญพระบรมฉายาลักษณ์และภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และวีดิทัศน์งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ชุด “ทรงสถิตในดวงใจไทยนิรันดร” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาต และพระราชทานภาพพระราชกรณียกิจที่เสด็จออกทรงรับ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จ พระจักรพรรดินีมิชิโกะแห่งประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสเสด็จฯ เยือนประเทศ ไทยเป็นการส่วนพระองค์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 5 มี.ค.

รวมทั้งพระรูปที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะแห่งประเทศญี่ปุ่น เสด็จฯ เยือนประเทศไทย เพื่อทรงแสดงความอาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวม 5 ภาพ มาจัดแสดงในงานนี้ด้วย ยังความปลื้มปีติสู่ผู้จัดงานและผู้เข้าชมนิทรรศการเป็นอย่างยิ่ง

นายภากร บันโนะ อายุ 20 ปี นักศึกษาแลกเปลี่ยนปี 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโซคา ลูกครึ่งญี่ปุ่น-ไต้หวัน แต่เกิดในเมืองไทย เล่าให้ฟังว่า ดีใจและภูมิใจมากที่เกิดในประเทศ ไทย ได้เป็นคนไทย แม้ว่าคุณพ่อและคุณแม่จะไม่ใช่คนไทย ตั้งแต่เล็กๆ ติดตาม และซึมซับพระราชกรณีย กิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ท่านทรงงานและดูแลคนไทย ด้วยความรักและพระเมตตาอย่างหาที่สุดมิได้ การจัดนิทรรศการที่มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ยิ่งทำให้นึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงงานเพื่อคนไทยตลอดพระชนม์ชีพ สัญญากับตัวเองว่าจะตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาประเทศไทยต่อไป

นอกเหนือจากนิทรรศการแล้ว กระทรวงวัฒนธรรมนำการแสดงทางวัฒนธรรม อาทิ การขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ Oh I Say การแสดงทางวัฒนธรรม 4 ภาค การแสดงหุ่นละครเล็ก การแสดงชุดมิตรสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น โดยศิลปินแห่งชาติ รวมทั้งศิลปินในสังกัด กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กว่า 50 ชีวิต มาร่วมแสดงที่ห้องประชุม มหาวิทยาลัยโซคา และก่อนหน้านี้ที่โรงละครมิเอะ เซ็นเตอร์ ออฟ ดิ อาร์ตส์ จังหวัดมิเอะ รวมไปถึงที่สวนสาธารณะโยโยงิ กรุงโตเกียว สถานที่จัดงานเทศกาลไทย เพื่อฉลองความสัมพันธ์ของสองประเทศด้วย

ด้วยการแสดงที่สวย งาม อ่อนช้อย สะกดผู้ชมให้ติดตามการแสดงในทุกช่วงนาที เมื่อโชว์สิ้นสุด เสียงปรบมือดังกึกก้องพร้อมรอยยิ้มของผู้ชมชาวอาทิตย์อุทัยที่ต่างประทับใจในศิลปวัฒนธรรมไทยที่มีเอกลักษณ์งดงาม

ในส่วนของงานเทศ กาลไทย หรือ Thai Festival 2017 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 พ.ค. ถือเป็นครั้งที่ 18 แล้ว ภายในงานมีการออกบูธร้านอาหาร ผลไม้ และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปต่างๆ ทั้งจากผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นกว่า 100 บูธ อาหารไทยที่นำมาจำหน่ายมีทั้งข้าวผัดกะเพรา แกงเขียวหวาน มัสมั่น ส้มตำ ยำวุ้นเส้น ต้มยำกุ้ง ผลไม้ไทยเลื่องชื่อทั้งทุเรียนและมะม่วง เรียกความสนใจจากชาวญี่ปุ่นได้อย่างมาก

และที่พิเศษกว่าทุกปีคือการปรากฏตัวของ “เจมส์” จิรายุ ตั้งศรีสุข นักแสดงชื่อดังของเมืองไทย ที่ได้รับคัดเลือกจากสองประเทศให้เป็นทูตวัฒนธรรมในครั้งนี้

วันที่ 13 พ.ค. วันเปิดงาน แม้สภาพอากาศไม่เป็นใจ สายฝนโปรยปรายลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถหยุดยั้งความตั้งใจของชาวญี่ปุ่นได้ ต่างกางร่มเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมงาน พร้อมจับจ่ายซื้อสินค้ากันอย่างคึกคัก ฝนยิ่งหนักเม็ดคนญี่ปุ่นยิ่งทยอยเดินเข้างานกันเนืองแน่น

ได้รับแจ้งจากท่านทูตภายหลังว่าในวันที่ 14 พ.ค.ซึ่งคณะเดินทางกลับไทยแล้ว ปรากฏว่าท้องฟ้าแจ่มใส อากาศปลอดโปร่ง ชาวญี่ปุ่นมาร่วมงานเทศกาลชนิดไหล่ชนไหล่ แทบจะไม่มีที่เดิน คาดว่ามีผู้เข้าร่วมงานเกือบ 4 แสนคน

นับเป็นความสำเร็จร่วมของทั้งสองประเทศ และสื่อถึงมิตรภาพความผูกพันของชาวไทยและญี่ปุ่นอย่างแท้จริง

อภิรตี เขาพลอยแหวน รายงาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน