เปิดคำปราศรัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ : ข่าวสดหรรษา

เปิดคำปราศรัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ – “บีบีซีไทย” เปิด คำปราศรัยของ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้สร้างคุณูปการหลายด้านให้ประเทศไทย จากห้องส่งบีบีซีในกรุงลอนดอน เมื่อต้นปี 2517 ว่าด้วยความหวังต่อรัฐบาลและประชาธิปไตย หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 และความประทับใจของอดีตนักศึกษาที่มีต่อ “อ.ป๋วย” ของ พวกเขา

เปิดคำปราศรัยป๋วย อึ๊งภากรณ์

สามเดือนหลังชัยชนะของขบวนการนักศึกษาและประชาชนที่ขับไล่ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีผู้ทำรัฐประหารรัฐบาลของตัวเอง อ.ป๋วย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะนั้น มาเยือนห้องส่งของวิทยุบีบีซี ภาคภาษาไทย เมื่อ 11 ม.ค.2517 โดยกล่าวปราศรัยความยาวราว 12 นาที เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยในขณะนั้น เนื้อหาที่น่าสนใจ คือ

อ.ป๋วยพูดถึง “หลักประชาธรรม” ว่า หลัง 14 ต.ค.2516 ประชาชนและราชการไทยได้พยายามเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองของประเทศให้ถูกต้องชอบธรรมยิ่งขึ้น ให้พยายามยึดหลักประชาธิปไตย ถือประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมเป็นใหญ่ บ้านเมืองจะพึงมีขื่อมีแป จะบริหารราชการด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ด้วยอำเภอใจของคนกลุ่มเล็ก และกฎหมายนั้นจะต้องเป็นธรรมแก่ประชาชน ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของผู้ทรงอำนาจ

เปิดคำปราศรัยป๋วย อึ๊งภากรณ์

 

“หลักการทั้งหมดนี้ผมขอเรียกว่าเป็นหลักประชาธรรม รัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พยายามเร่งรัด ร่างรัฐธรรมนูญอันเป็น กติกาสูงสุดของประเทศให้สำเร็จโดยเร็ว”

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถกเถียงในการร่างรัฐธรรมนูญขณะนั้น คือ ควรจะมีสภาเดียวหรือสองสภา และถ้าจะมีสองสภาสภาสูงจะคัดเลือกสมาชิกกันอย่างไร สภาล่างควรจะมีการเลือกตั้งวิธีใด ซึ่ง อ.ป๋วยเสนอไว้ว่า ถ้าเรายึดมั่นว่าธรรมะเป็นอำนาจ และอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนแล้ว ประเด็นต่างๆ ที่ถกเถียงกันอยู่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งนั้น ควรจะให้ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศมีส่วนในการตัดสินในขั้นสุดท้าย

“ผมยังใคร่จะได้เห็นประเด็นสำคัญๆ ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง มีการรวบรวมขึ้นสักจำนวนหนึ่ง อาจจะไม่เกิน 5-6 ประเด็นเสนอให้ราษฎรทั้งประเทศได้แสดงประชามติ แล้วจึงบัญญัติไปตามประชามตินั้นๆ…เปิดโอกาสให้ราษฎรทั้งประเทศลงประชามติ ว่าจะรับหรือไม่รับเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเราต่อไป”

ในความเห็นของ อ.ป๋วย แม้สภานิติบัญญัติในขณะนั้นมีลักษณะเป็นตัวแทนของราษฎรได้ดีกว่าสภานิติบัญญัติในรัฐบาลก่อน เพราะได้มีการเลือกตั้งจากคนจำนวนกว่า 2,000 คนที่มาจากอาชีพต่างกัน แต่ถึงกระนั้นก็ยังผิดกันกับสภานิติบัญญัติที่อาจจะให้ราษฎรเลือกสมาชิกขึ้นมาโดยตรง

เปิดคำปราศรัยป๋วย อึ๊งภากรณ์

อีกข้อคิดที่ อ.ป๋วยฝากไว้ในคำปราศรัยคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้รัฐธรรมนูญ และหลักการประชาธรรมจะอยู่คงทน “ไม่ถูกบิดเบือนกันได้ง่าย ล้มล้างกันได้ง่าย” เช่นในไทยและอีกหลายประเทศ

“จะเห็นได้ว่าการผูกปัญหาเพื่อลิดรอนจำกัดเสรีภาพนั้นทำได้ง่าย แต่การคลายปัญหาเพื่อส่งเสริมเสรีภาพนั้นยากนัก ฉะนั้นเมื่อชาวไทยเราได้มีโอกาส มีโชค มีวาสนาอย่างนี้แล้ว จะทอดทิ้งเพิกเฉยสิ่งอันประเสริฐ ซึ่งเราได้มาจากการเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตในเดือนตุลาคมที่แล้วมานั้นหาควรไม่”

ในภาวะที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำมัน สินค้าแพง โจรผู้ร้ายชุกชุม อันเนื่องมาจากความยากลำบากทางการเกษตร ปัญหาความยากจนในชนบทและในแหล่ง สลัมในเมือง รวมทั้งปัญหาความไม่สงบในประเทศ อ.ป๋วยเรียกร้องผ่านคำปราศรัย ให้รัฐบาลและประชาชนทุกส่วนร่วมมือกัน แก้ปัญหาที่กำลังเผชิญ รวมทั้งการปกป้อง รักษารัฐธรรมนูญและระบบการปกครองประชาธิปไตยให้ยืนยงคงทน “สติปัญญาของคนไทยเมื่อได้ร่วมกันเมื่อได้ประสานกัน และได้มีโอกาสใช้โดยเสรี ก็ควรจะเป็นสติปัญญาอันประเสริฐอย่างที่เราได้เคยแสดงให้เห็นมาแล้วในอดีต คุณธรรมที่ต้องการมากในระยะนี้ คือความสมานฉันท์

หมายความว่า ความร่วมมือกันอย่างมีจิตใจรักใคร่กัน รัฐบาลก็รักราษฎร ราษฎรก็เห็นอกเห็นใจในความยากลำบากของรัฐบาลใน การบริหารประเทศ นักการเมืองระบบประชาธิปไตยแต่ละคน แต่ละพรรค ก็มุ่งหาประโยชน์ของชาติเป็นใหญ่ ไม่ใช่จะแก่งแย่งกันเพื่อหาอำนาจ”

อ.ป๋วยดำรงตำแหน่งสำคัญในอดีตมากมาย เช่น เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีอายุน้อยที่สุด ในวัย 43 ปี 3 เดือน และดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดถึง 12 ปี 2 เดือน 4 วัน เป็นสมาชิกเสรีไทย (ขบวนการต่อต้านการรุกรานไทยของกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2)

เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนที่ 10 เป็นผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ในปีพ.ศ.2508 ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในปีพ.ศ.2558

เปิดคำปราศรัยป๋วย อึ๊งภากรณ์

อาจารย์ป๋วยเยี่ยมบัณฑิตอาสาทางภาคเหนือ

 

สเตฟาน คอลินยองส์ นักวิชาการร่วมสมัยชาวเยอรมัน ยกย่อง อ.ป๋วย ว่าเป็น “บิดาของประเทศไทยยุคใหม่” ในฐานะผู้วางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย

เกียรติภูมิของ อ.ป๋วย คือความเป็นคนที่ ยืนหยัดต่อสู้กับความไม่ถูกต้องในสังคมไทย ซึ่งทำให้ อ.ป๋วยต้องออกนอกประเทศหลายหน โดยเฉพาะครั้งสุดท้ายคือเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519

การเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2518 ท่ามกลางการขยายตัวของสิทธิเสรีภาพในสังคมไทย ภายหลังชัยชนะของขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 ทำให้ธรรมศาสตร์เป็นศูนย์กลางในการเคลื่อนไหวต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชน บทบาท อ.ป๋วยในฐานะอธิการบดีจึงเป็นภาระอันหนักอึ้ง ที่จะบริหารมหาวิทยาลัย และคุ้มครองดูแลนักศึกษาให้ปลอดภัย

อ.ป๋วยเป็นนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ชื่อเดิมของธรรมศาสตร์) เป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์คนแรกที่ได้เป็นอธิการบดี

ขณะที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ ธปท. โดยได้รับการชักชวนจากกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขณะนั้น ให้เข้ามาช่วยปรับปรุงคณะเศรษฐศาสตร์ที่มีอาจารย์ประจำคณะเพียง 4 คน

เปิดคำปราศรัยป๋วย อึ๊งภากรณ์

อาจารย์ป๋วยในวัยปลาย 60ที่ประเทศอังกฤษ

 

พ.ศ.2507 อ.ป๋วยขึ้นดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และขอลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ ธปท. แต่ถูกจอมพลถนอม นายกรัฐมนตรี ยับยั้งไว้ อ.ป๋วยจึงขอรับเงินเดือนของผู้ว่าฯ ธปท.เพียงครึ่งเดียว

อ.ป๋วยไม่ต้องการให้นักศึกษาเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้นักศึกษาเข้าใจปัญหาของสังคมไทย ได้เรียนรู้ชนบท จึงได้ก่อตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการพัฒนาชนบทลุ่มแม่น้ำแม่กลอง เพื่อให้นักศึกษาได้มีองค์ความรู้พื้นฐานของปัญหาชนบท

พ.ศ.2514 อ.ป๋วยลาออกจากธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อมาเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์เต็มตัว และในปี 2518 อ.ป๋วยได้รับเลือกให้เข้าดำรงตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การเมืองไทยกำลังอยู่ในวังวนของความขัดแย้งระหว่างฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายอย่างรุนแรง โดยศูนย์กลางของการปะทะอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายนักศึกษาและฝ่ายรัฐที่รุนแรงจบลงเมื่อเกิดโศกนาฏกรรม 6 ต.ค.2519 ทำให้ อ.ป๋วยต้องเดินทางไปอยู่ต่างประเทศประสบปัญหาด้านสุขภาพ ตราบจนสิ้นลมหายใจที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อ 28 ก.ค.2542 ในวัย 83 ปี

ภาพ : puey-ungpakorn.org

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน