แมวดำ

คอลัมน์ แมวสำคัญของโลก

โดย…ขึ้นหนึ่งค่ำ

แมวดำ – เวลาที่ใครสักคนพูดถึงแมว หรือการรับแมวมาเลี้ยง แมวดำมักจะเป็นตัวเลือกท้ายๆ ตามสถิติที่พบทั้งศูนย์สงเคราะห์สัตว์จรจัด มูลนิธิดูแลสัตว์ต่างๆ พูดตรงกันว่า แมวดำเป็นแมวที่หาบ้านได้ยากที่สุดจริงๆ

สิ่งหนึ่งที่มีผลต่อความนิยมของแมวดำคือเรื่องของความเชื่อที่พูดต่อกันมานาน มีทั้งที่หาที่มาได้และหาที่มาไม่ได้ เรามีความเชื่อที่ปรากฏทั้งในหนังสือนิยาย การ์ตูน ภาพยนตร์ และละครทีวี ว่าแมวดำเป็นแมวร้าย เป็นแมวปิศาจ มีการระมัดระวังห้ามไม่ให้แมวดำเข้ามายุ่มย่ามในงานศพเพราะมีความเชื่อว่าหากแมวเข้าใกล้ศพหรือกระโดดข้ามโลงศพจะทำให้คนที่ตายไปกลายเป็นผีหรือวิญญาณเฮี้ยน ลุกมาอาละวาดหลอกหลอนคนอื่น หรือทำให้ดวงวิญญาณวนเวียน อาฆาตแค้นไม่ยอมไปผุดไปเกิด

ยังมีอีกแนวคิดเกี่ยวกับแมวดำกับความเชื่อของคนไทย คือตำนานเทพฮินดูองค์หนึ่ง คือพระษัษฐี ซึ่งเป็นเทวีแห่งความตายของทารก โดยพระษัษฐี มีบริวารหรือสัตว์พาหนะเป็นแมวดำ

ตำนานนั้นเล่ากันว่า มีหญิงสาวคนหนึ่ง มีนิสัยชอบลักขโมยของ โดยเฉพาะข้าวปลาอาหารของชาวบ้าน เมื่อเจ้าของทรัพย์สินเกิดรู้ตัวว่าข้าวของหายขึ้นมา หญิงสาวคนนี้ก็มักจะโยนความผิดให้กับแมวดำ ว่าเป็นตัวขโมยของกินเหล่านั้น ทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิด ทำร้าย ไล่ ทุบตี และฆ่าแมวดำไปจำนวนมาก

ต่อมาหญิงคนนั้นเกิดตั้งครรภ์ และคลอดบุตร ทว่าบุตรที่คลอดออกมาใหม่ๆนั้นมันสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยทุกครั้ง ไม่อาจตามหาได้ว่าหายไปไหนเพราะอะไร เรื่องแปลกๆที่เกิดขึ้นกับนางทำให้ชาวบ้านเกิดความสงสัยและหวาดกลัว พากันตั้งข้อสงสัยว่านางเป็นผีร้ายหรือแม่มดหมอผี

หญิงสาวขี้ขโมยเกิดความหวาดกลัวเป็นอย่างมากจึงวิ่งหนีเข้าไปร้องไห้อยู่ในป่า ตอนนั้นเอง พระษัษฐีจึงปรากฏตัวขึ้นต่อหน้านาง และว่า สิ่งที่นางได้รับอยู่นี้เกิดเพราะกรรมที่นางทำความผิดแต่กลับไปโยนความผิดให้กับแมวดำ ซึ่งเป็นบริวารและสัตว์พาหนะของท่าน ท่านจึงลงโทษ

หญิงสาวจึงสำนึกผิด และให้สัญญาว่า ต่อไปนี้จะไม่ใส่ร้ายแมวอีกและจะบูชาพระษัษฐีและบูชาแมวบริวารของท่านเสมอ พระษัษฐีได้ยินดังนั้นก็พอใจ ในที่สุดก็คืนลูกๆให้กับหญิงสาว

ส่วนในทวีปยุโรป ยุคกลาง ยุคที่มีการล่าแม่มด แมวดำถูกกล่าวหาว่าเป็นสัตว์เลี้ยงของแม่มด สีดำที่ดูลึกลับและการออกหากินในเวลากลางคืนถูกเชื่อมโยงเข้ากับความเชื่อแบบปากต่อปากเกี่งกับภูติผีปิศาจ และความหวาดกลัวของมนุษย์ แมวจำนวนมากถูกเผาทั้งเป็นในช่วงเวลานี้ ในบางประเทศถึงกับไล่ล่าฆ่า และเผาแมวดำกันเป็นเกมกีฬา

ตรงกันข้าม ในความเชื่อโบราณของไทย ลักษณะแมวมงคล 17 ชนิดที่มีบันทึกในสมุดข่อย มีแมวที่มีพื้นสีดำอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก แมวที่มีสีดำล้วน มีความเป็นมงคลต่อผู้เลี้ยงอย่างยิ่ง และยังมีอยู่ในปัจจุบันนี้คือแมวโกญจา

แมวโกญจาเป็นแมวสีดำสนิททั้งตัว ขนสั้น ไม่มีสีอื่นใดปะปน ขนเส้นเล็กละเอียดนุ่มและเรียบตรงทั้งลำตัว ส่วนหัวกลมเล็ก ปากเรียวแหลม หูตั้ง นัยน์ตาเป็นสีเหลืองอมเขียวหรือทองอ่อน หรืออย่างที่เรียกกันว่าเหลืองเหมือนดอกบวบหรือทองดอกบวบ รูปร่างเพรียว สะโอดสะองคล่องแคล่ว หางยาว ปลายหางแหลมตรง อุ้งเท้าทอดคล้ายเท้าสิงห์ เคลื่อนไหวองอาจสง่างาม เสียงร้องดังก้องกังวานไกล

ดั่งโคลงที่บรรยายไว้
กายดำคอสุดท้อง ขาขนเลเอียดเฮย
ตาดั่งศรีบวบกล ดอกแย้ม
โกนจาพนนิพนธ์ นามกล่าว ไว้นา
ปากแลหางเรียวแฉล้ม ทอดเท้าคือสิงห์

นอกจากแมวโกญจาแล้วยังมีแมวดำล้วนอีกชนิดที่เป็นมงคลแต่ไม่พบอีก คาดว่าอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว คือแมวนิลรัตน์ เป็นแมวไทยขนสีดำวาวทั้งตัวเช่นเดียวกับโกญจา แต่ต่างกันตรงที่มี นิลรัตน์ สีดำทั้งตัว รวมถึงเล็บ ลิ้น ฟัน ดวงตา และกระดูก หางยาวตวัดได้จนถึงหัว เลี้ยงไว้แล้วเชื่อว่าจะมีความเจริญ มีทรัพย์ ปราศจากอันตราย ได้ทรัพย์สินเพิ่มพูน

เนื่องด้วยกระแสต่อต้านแมวดำนี้ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงได้ประกาศให้มีวันพิเศษสำหรับแมวดำขึ้นมานั่นคือ

วันที่ 17 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันยกย่องแมวดำโลก (Black Cat Appreciation Day) จุดประสงค์หลักคือเพื่อให้ผู้คนตระหนักเห็นถึงคุณค่าของแมวดำ และให้ความสำคัญกับพวกมันเช่นเดียวกับแมวสีอื่นๆ ถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญของสหรัฐอเมริกา ตามสถานสงเคราะห์สัตว์หลายแห่ง หรือบ้านพักพิงสัตว์ต่าง ๆ จะออกมารณรงค์และโปรโมตให้รับแมวดำไปเลี้ยง โดยจะมีข้อเสนอและโปรโมชั่นพิเศษต่าง ๆ ให้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนรับแมวดำไปอุปถัมภ์เลี้ยงดู

นอกจากนี้ยังมีวันสำคัญของแมวดำอีก 1 วันในรอบปี นั่นคือ

วันแมวดำ 27 ตุลาคม ตั้งใจจัดขึ้นก่อนวันฮาโลวีนเพียงไม่กี่วัน เพื่อเน้นย้ำให้ผู้คนเห็นถึงนิสัยที่น่ารัก ขี้อ้อน เป็นมิตร รูปร่างหน้าตาสวย เก๋ เท่ สง่างาม คุยเก่ง เป็นเพื่อนที่ดีของมนุษย์ และไม่แนะนำให้นำไปเชื่อมโยงกับเรื่องผีๆหลอนๆในช่วงเทศกาลฮาโลวีนนั่นเอง

 

ที่มา ภาพของแมวดำจากสมุดข่อย : ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน และผู้วาดภาพ รวมถึงวันที่ที่ทำการบันทึก แต่คาดว่าน่าจะเป็นตำราที่เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันถูกเก็บรักษาอยู่ที่ห้องสมุด British Library

ที่มาภาพพระษัษฐี : Philadelphia Museum of Art

www.philamuseum.org


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน