ลุ่มน้ำยม ยังจมยาว อีสานเศร้า เขื่อนใหญ่เร่งระบาย

เขื่อนอุบลรัตน์วิกฤต เร่งพร่องน้ำรอรับน้ำบ่า พายุฝนกระหน่ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจชัยภูมิ ราษฎรกว่าพันหลังคาเรือนจมน้ำ พื้นที่เกษตรเสียหายนับหมื่นไร่ ปริมาณน้ำเขื่อนลำตะ คองเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังไม่จ่ายน้ำออก เตรียมรองรับปริมาณน้ำไหลเข้าเพิ่มเติม เหตุพื้นที่ท้ายเขื่อนยังมีปริมาณฝนตกหนัก ต้นไทรในอุทยานไทรงามอายุหลายร้อยปีกว่าร้อยต้นถูกน้ำท่วมสูงกว่าครึ่งเมตร แม่น้ำยม จ.พิจิตร วิกฤตเช่นกัน เหตุรับน้ำจากสุโขทัย-พิษณุโลก เตือนประชาชน 4 อำเภอลุ่มน้ำยมเฝ้าระวัง น้ำในแม่น้ำป่าสักเอ่อล้นเข้าท่วมวัด-บ้านเรือนกรุงเก่า หลังเขื่อนพระราม 6 เร่งระบาย ประชาชนกว่า 2 หมื่นครัวเรือนใน 7 อำเภอเดือดร้อนหนัก โบสถ์วัดอัมพวาท่วมสูงกว่า 1.2 เมตร จันทบุรีเร่งช่วยราษฎรบ้านดินทรุดเหตุดินอุ้มรับน้ำไม่ไหว ขณะที่ดอยอินทนนท์ยะเยือกแล้ว 8 องศา นักท่องเที่ยวแห่สัมผัสอากาศหนาวชมทะเลหมอก

วันที่ 8 ต.ค. นายสุทธิโรจน์ กองแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เผยถึงสถานการณ์ปริมาณน้ำภายในเขื่อนลำตะคอง ภายหลังจากในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีปริมาณฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดปริมาณน้ำกักเก็บภายในเขื่อนลำตะคองมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และในพื้นที่ อ.ปากช่อง ซึ่งเป็นพื้นที่เหนือเขื่อนมีปริมาณฝนตกอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอยู่ที่ 6 ล้าน ลบ.ม. โดยล่าสุดมีปริมาณน้ำกักเก็บภายในเขื่อน 88.034 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 28 อย่างไรก็ตามทางเขื่อนชลประทานยังคงสั่งการให้งดจ่ายน้ำออกจากเขื่อน เนื่องจากต้องรักษาและเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บภายในเขื่อน อีกทั้งในพื้นที่ท้ายเขื่อนยังมีปริมาณฝนตกลงมาเติมตามแหล่งน้ำต่างๆ อยู่จำนวนมาก

นายสุทธิโรจน์กล่าวว่า ขณะที่หลายฝ่ายเป็นห่วงถึงมวลน้ำในแต่ละพื้นที่ที่ตกลงมาในพื้นที่ท้ายเขื่อนที่อาจไหลลงมาท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อน รวมทั้งเขตเศรษฐกิจที่ตัวเขตเทศบาลนครนครราชสีมานั้น ยืนยันว่าจากการจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบยังไม่พบว่ามีพื้นที่ใดที่อาศัยติดริมลำตะคองได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อล้นตลิ่ง เนื่องจากทางเขื่อนลำตะคองประชาสัมพันธ์ไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ประตูระบายในลุ่มน้ำลำตะคอง ทั้ง 5 อำเภอ ตั้งแต่ อ.สีคิ้ว ซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่มวลน้ำจะไหลเข้าถึงให้เตรียมความพร้อมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่และติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นยังสั่งการให้เจ้าหน้าที่เริ่มเปิดประตูระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำลงสู่พื้นที่ต่ำไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อเตรียมรับปริมาณน้ำที่จะไหลเข้ามาสมทบในพื้นที่และป้องกันน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ (เขื่อนระบายน้ำพิมาย) เร่งนำเครื่องสูบน้ำขนาด 6 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง มาติดตั้งเพื่อเร่งสูบน้ำที่ท่วมขังอุทยานไทรงาม หลังมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นไทรอายุหลายร้อยปีกว่า 100 ต้น ถูกน้ำท่วมสูงประมาณ 30-50 ซ.ม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังปริมาณฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ส่งผลให้ในหลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมขัง เช่นที่ตลาดพิมายเมืองใหม่ หมู่ที่ 14 ต.ในเมือง น้ำท่วมขังรอบตลาดสดสูงกว่า 20 ซ.ม. ส่งผลให้การสัญจรไปมาลำบาก พ่อค้าแม่ค้าบางร้านต้องยืนแช่น้ำขายของ เช่นเดียวกับชุมชนต่างๆ ภายในตัวเมืองนครราชสีมา เช่น ชุมชนหนองโสน ชุมชนหนองปรือ ชุมชนหัวทะเล ระดับน้ำท่วมขังตั้งแต่ 20-50 ซ.ม. ประชาชนเดือดร้อนในการเข้าออกหมู่บ้าน

วันเดียวกัน นายสมยศ แสงมณี ชลประทานจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า สถานการณ์แม่น้ำยม จ.พิจิตร ยังอยู่ระหว่างวิกฤต น้ำมีปริมาณสูงขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากรับน้ำมาจาก จ.สุโขทัย และ จ.พิษณุโลก ประกอบกับฝนตกลงมาต่อเนื่องทุกวันและน้ำป่าหนุน ชลประทานจังหวัดพิจิตรเร่งระบายน้ำยมลงสู่แม่น้ำน่าน ฝากเตือนไปยังประชาชน 4 อำเภอลุ่มน้ำยม ประกอบด้วย อ.สามง่าม อ.โพธิ์ประทับช้าง อ.บึงนาราง และ อ.โพทะเล ซึ่งขณะนี้น้ำท่วมอยู่แล้วให้รับมือกับปริมาณน้ำที่จะสูงเพิ่มขึ้นอีกระลอก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปริมาณน้ำยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะแม่น้ำน่าน ที่สถานี N.8A อ.บางมูลนาก ประกอบกับมีน้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลมาตามคลองบุษบงค์จํานวนมากที่จะระบายลงแม่น้ำน่าน ทําให้เข้าท่วมเทศบาลบางมูลนาก ทางเทศบาลเร่งตั้งเครื่องสูบน้ำในกรณีฉุกเฉิน

ทางด้านสถานการณ์น้ำที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นายวิทิต ปิ่นนิกร นายอำเภอท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ประกาศให้ประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำป่าสักเตรียมความพร้อม ขนย้ายของมีค่าไว้ในที่ปลอดภัย โดยจะรายงานสถานการณ์น้ำของเขื่อนพระรามหกให้ทราบเป็นระยะ ทั้งนี้ ชาวบ้าน ต.ท่าหลวง และใกล้เคียง อ.ท่าเรือ ทราบว่าเขื่อนพระรามหกปักธงแดงหน้าเขื่อนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงระดับน้ำของเขื่อนพระรามหกปล่อยน้ำท้ายเขื่อนขึ้นอีกเป็นอัตราสูง ทำให้ชาวบ้านเดินทางมาที่บริเวณเขื่อนพระรามหกเพื่อมาสอบถามและดูปริมาณน้ำบริเวณหน้าเขื่อน ส่วนบริเวณหน้าตลาด อ.ท่าเรือ ระดับน้ำเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหลืออีกเพียง 30 ซ.ม.จะล้นเข้าท่วมถนนหน้าเทศบาล ทำให้ประชาชนต่างวิตกกังวลกลัวว่าน้ำจะเพิ่มมากขึ้นในคืนนี้

นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าฯ พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ประชาชนได้รับผลกระทบ 7 อำเภอ กว่า 2 หมื่นครัวเรือน รวมถึงศาสนสถาน สถานที่ราชการ วัด มัสยิด โรงเรียน และสถานีอนามัย ทางจังหวัดและหน่วยงานต่างๆ เข้าช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว

ด้านนายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ขณะนี้เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำอยู่ที่ 1,998 ลบ.ม/วินาที ทำให้ปริมาณน้ำสูงขึ้นมาเท่าระดับเดิมที่ลดลงไปอีก 1.50 เมตร ส่วนเขื่อนพระราม 6 จะระบายเพิ่มขึ้นจาก 594.88 ลบ.ม./วินาที เป็น 606 ลบ.ม/วินาที แต่ยังไม่ถึงจุดที่จะทำให้น้ำท่วมตลาดเทศบาลตำบลท่าเรือ หากเขื่อนพระราม 6 ระบายเพิ่มขึ้นเกิน 700 ลบ.ม/วินาที น้ำจะเข้าท่วมตลาดเทศบาลตำบลท่าเรือทันที

ส่วนที่วัดกษัตราธิราชวรวิหาร ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าน้ำล้นตลิ่งและซึมลอดใต้ฐานเขื่อนป้องกันน้ำท่วมชั้นที่ 1 ของทางวัดและเข้าไปในสนามหน้าวัด ระดับน้ำสูงประมาณ 50 ซ.ม. และน้ำไหลเข้ามาถึงแนวป้องกันชั้นที่ 2 ซึ่งเป็นปูนกว้าง 1 เมตร สูง 1 เมตร ยาวเกือบ 400 เมตร ทำหน้าที่ป้องกันพระอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ และกุฏิสงฆ์ทั้งหมดไว้ได้

นายวิทิต ปิ่นนิกร นายอำเภอท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เรียกผู้นำท้องถิ่นและกำนันจาก 10 ตำบลในพื้นที่มาประชุมด่วน เพื่อประเมินสถานการณ์ หลังจากเขื่อนพระราม 6 แจ้งว่ามีน้ำไหลมาหน้าเขื่อนที่กั้นแม่น้ำป่าสัก เขต ต.ท่าหลวง มากถึง 981 ลบ.ม./วินาที แยกเป็นน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปล่อยลงมา 580 ลบ.ม./วินาที น้ำจากจังหวัดสระบุรีอีก 321 ลบ.ม./วินาที น้ำจากลพบุรีและเจ้าพระยา ผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก 170 ลบ.ม./วินาที ทำให้เขื่อนพระราม 6 เร่งปล่อยน้ำลงแม่น้ำป่าสักตอนล่างที่ 606 ลบ.ม./วินาทีแล้ว และผันเข้าคลองระพีพัฒน์ 160 ลบ.ม./วินาที แต่ยังมีน้ำตกค้างหน้าเขื่อนอีก 215 ลบ.ม./วินาที ซึ่งเกินกำลังที่เขื่อนพระราม 6 จะกั้นได้ ดังนั้น อาจระบายน้ำเพิ่มขึ้นไปอีก โดยเที่ยงวันเดียวกันนี้กำหนดปล่อยเพิ่มเป็น 630 ลบ.ม./วินาที และอาจถึง 650 ลบ.ม./วินาทีในช่วงเย็น จึงให้พื้นที่ตอนล่างในเขต อ.ท่าเรือ นครหลวง และพระนครศรีอยุธยา เตรียมรับสภาพน้ำล้นตลิ่งในชุมชนริมน้ำ

ส่วนที่วัดอัมพวา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย ม.2 ต.บางหัก อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่าเขื่อนปูนหน้าวัดถูกกระแสน้ำกัดเซาะจนเขื่อนพังเป็นทางยาวกว่า 100 เมตร จมหายลงไปในแม่น้ำน้อย น้ำยังกัดเซาะแนวคันดินหน้าวัด ขณะที่โบสถ์ของวัดอัมพวาถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1.20 เมตร

ว่าที่เรือตรีศรัณยวัชร พูลสวัสดิ์ นายอำเภอบ้านหมอ จ.สระบุรี นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือราษฎร หมู่ที่ 1, 3, 4 ต.บ้านครัว ต.บางโขมด เขต อ.บ้านหมอ ที่มีปริมาณน้ำเอ่อท่วมบ้านเรือนกว่า 30 หลังคาเรือน เพราะอยู่ใกล้คลองเริงรางที่รับน้ำมาจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งรับน้ำมาจากคลองมโนรมณ์ ทั้งยังมีฝนตกมาสมทบ และมีแนวโน้มปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยให้หน่วยงานต่างๆ เฝ้าจับตาและคอยช่วยเหลือราษฎร

สำหรับสถานการณ์แม่น้ำท่าจีนวันเดียวกันนี้มีระดับสูง หลังจากมีการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาลงสู่แม่น้ำท่าจีน ผ่านประตูระบายน้ำพลเทพ ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำท่าจีนที่ไหลผ่าน จ.สุพรรณบุรี ใน 6 อำเภอ มีปริมาณสูงขึ้น ล่าสุดเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำท่าจีน ในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.รั้วใหญ่ ต.พิหารแดง กว่า 100 หลังคาเรือน ชาวบ้านต้องเดินลุยน้ำและใช้เรือสัญจรเข้าออกหมู่บ้าน โดยทางจังหวัดสุพรรณบุรีประกาศเตือนให้เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสถานการณ์น้ำแม่น้ำท่าจีนยังสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ราบลุ่ม 3 อำเภอท้ายน้ำ ได้แก่ อ.เมือง อ.บางปลาม้า และ อ.สองพี่น้อง

ที่ จ.จันทบุรี นายเฉลิมพล ศักดิ์คำ นายกเทศมนตรีเมืองท่าช้าง นำเจ้าหน้าที่กองช่าง พร้อมเครื่องจักร ลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือประชาชนที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่ริมคลองซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์น้ำหลากซัด ดินทรุด โดยเฉพาะที่บ้านเลขที่ 30/2 หมู่ที่ 5 ต.ท่าช้าง ของนางลัดดา อมรชัยมงคล ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากในช่วงนี้พื้นที่ จ.จันทบุรี มีฝนตกชุก ทำให้น้ำในคลองเพิ่มสูงและไหลแรง ประกอบกับดินอุ้มน้ำไว้ไม่ไหวทำให้บ้านทรุดตัว

ในขณะที่ฝนยังคงตกหนักต่อเนื่องในหลายจังหวัดของภาคกลางและภาคอีสาน สภาพอากาศหนาวเย็นเริ่มเข้าปกคลุมพื้นที่ยอดดอยทางภาคเหนือ นายพรเทพ เจริญสืบสกุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ รายงานว่าวันเดียวกันนี้บรรยากาศบนดอยอินทนนท์อากาศเปิด เห็นพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า และทะเลหมอกที่จุดชมวิวสวยงามมาก อุณหภูมิที่ยอดดอยวัดได้ 8 องศาเซลเซียส ส่วนที่บริเวณจุดชมวิว กิ่วแม่ปาน อุณหภูมิวัดได้ 9 องศาเซลเซียส ช่วงวันหยุดนักท่องเที่ยวทยอยขึ้นมาสัมผัสอากาศหนาวและชมวิวพระอาทิตย์ทะเลหมอกกันอย่างคึกคัก

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ รายงานว่าปีนี้จะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวจริงจังในช่วงปลายเดือนตุลาคมเป็นต้นไป และจะสิ้นสุดประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้อากาศจะหนาวกว่าทุกปี อุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงฤดูหนาวอยู่ที่ 16-18 องศา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน