ยกระดับชีวิตชาติพันธุ์มานิ

ยกระดับชีวิตชาติพันธุ์มานิ – “มานิ” เป็นชื่อเรียกตัวเองของคนกลุ่มเล็กๆ ดำรงชีวิตอยู่ในผืนป่าภาคใต้มานานหลายร้อยปี

คำว่า “มานิ” แปลว่า “คน” แสดงถึงการมีศักดิ์ศรีเฉกเช่นคนปกติทั่วไป แม้ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ในป่า ใช้ลูกดอกล่าสัตว์ แต่ในฐานะของความเป็นพลเมืองไทยแล้ว พวกเขาล้วนมีศักดิ์ศรีและสิทธิ์ในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับคนไทยทุกคน

กลุ่มชาติพันธุ์มานิมีถิ่นฐานอาศัยอยู่ในผืนป่าเทือกเขาบรรทัด ครอบคลุม จ.สงขลา พัทลุง สตูล และตรัง ในอดีตเป็นป่าดิบอุดมสมบูรณ์สูง แต่จากสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้วิถีชีวิตมานิเปลี่ยนแปลงไป ทั้งแหล่งอาหาร ที่อาศัย และต้องปรับตัวเข้ากับชุมชนมากขึ้น

ยกระดับชีวิตชาติพันธุ์มานิ

เป่าลูกดอกล่าสัตว์ขนาดเล็ก

 

ยกระดับชีวิตชาติพันธุ์มานิ

เพิงหรือทับ บ้านของมานิกลุ่มดั้งเดิม

 

ดังนั้น เพื่อเพิ่มโอกาสและศักยภาพในการจัดการ และแก้ไขปัญหาด้านสุขภาวะของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ สร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่าง เหมาะสม

จึงพัฒนาโครงการย่อยในแต่ละพื้นที่ที่ขับเคลื่อนภายใต้ “โครงการส่งเสริมสุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์มานิภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด” ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อพัฒนาและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และพัฒนาระบบการจัดการสุขภาวะให้กับกลุ่มมานิในพื้นที่ต่างๆ

ยกระดับชีวิตชาติพันธุ์มานิ

นางธัญจิรา ชูบาล

 

นางธัญจิรา ชูบาล ผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ กรณีกลุ่มชาติพันธุ์มานิบ้านน้ำตกนกรำ หมู่ 1 ต.คลองทรายขาว อ.กงหรา จ.พัทลุง ซึ่งยังเป็นกลุ่มที่ยังคงดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม

กล่าวว่า ชาติพันธุ์มานิในพื้นที่นี้มี 33 คน แบ่งออก เป็น 13 ครัวเรือน เป็นผู้ใหญ่ 12 คน วัยรุ่น 12 คน เด็กอายุ 1-10 ขวบ 9 คน ยังเป็นกลุ่มที่มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่ตามแหล่งอาหาร ปัญหาของมานิกลุ่มนี้ คือไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ ต่างๆ ได้

ยกระดับชีวิตชาติพันธุ์มานิ

แกนนำชุมชนตำบลคลองทรายขาว และคณะทำงานของโครงการได้ประชุมเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยชุมชนเสนอให้จัดทำบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อจะได้เข้าถึงสวัสดิการของรัฐในด้านต่างๆ เช่น สิทธิการรักษาพยาบาล สิทธิผู้สูงอายุ สิทธิเด็กแรกเกิด และสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทำให้เด็กๆได้รับวัคซีน หรือสมาชิกในชุมชนไปหาหมอเมื่อเจ็บป่วยได้

ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการที่จะทำให้มานิกลุ่มนี้ได้รับการพัฒนาตัวเองขึ้นไปตามลำดับ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดต้องพัฒนาต่อไป คือเรื่องการศึกษา โดยเฉพาะเด็ก เพื่อจะได้มีความรู้เท่าทันโลกข้างนอก รวมไปถึงองค์ความรู้ในการดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูกพืชอาหาร หรือเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากทุกวันนี้อาหารจากป่านับวันน้อยลงไปทุกที

ยกระดับชีวิตชาติพันธุ์มานิ

นายเกียรติก้อง เส็นฤทธิ์

 

ขณะที่ นายเกียรติก้อง เส็นฤทธิ์ ผู้รับผิดชอบโครงการการจัดการน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคของกลุ่มชาติพันธุ์มานิบ้านปลายคลองตง หมู่ 2 ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง กล่าวถึงการดำเนินงานในพื้นที่ว่า กลุ่มนี้เป็นกลุ่ม ที่ตั้งถิ่นฐานถาวร มีอาชีพทำสวนยาง รับจ้างกรีดยาง และหาของป่า

มีสมาชิก 61 คน 16 ครอบครัว แบ่งเป็นชาย 19 คน หญิง 19 คน เด็กผู้หญิง 13 คน เด็กผู้ชาย 5 คน พิการผู้หญิง 1 คน คนชรา ผู้หญิง 3 คน และคนชราผู้ชาย 1 คน

ปัญหาของมานิกลุ่มนี้พบว่าขาดความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัย เนื่องจากไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน มีปัญหาการจัดการขยะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ยังใช้น้ำลำคลองบริโภคและอุปโภคและการคมนาคมลำบาก เด็กต้องเดินเท้า 8 กิโลเมตรไปโรงเรียน

ยกระดับชีวิตชาติพันธุ์มานิ

ฝายกักเก็บน้ำชุมชนมานิ บ้านปลายคลองตง

 

ชุมชนและคณะทำงานมีความเห็นร่วมกันว่า การสร้างเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับความต้องการ และปัญหาสุขภาวะของกลุ่มมานิในพื้นที่กลุ่มนี้ คือเรื่องการจัดการน้ำ ยังใช้น้ำจากลำคลอง เป็นเหตุให้เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่างๆ

ทางชุมชนจึงดำเนินการเรื่องการจัดการระบบน้ำกินและน้ำใช้ โดยร่วมกับมานิทำฝายกักเก็บน้ำ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคในหน้าแล้ง เดินท่อส่งน้ำเข้ามายังบ้านเรือนทุกหลัง สร้างเครื่องกรองน้ำเพื่อใช้บริโภคได้อย่างปลอดภัย เมื่อมีน้ำใช้ก็จะสามารถใช้ห้องน้ำที่มีอยู่ได้อย่างถูกสุขอนามัย และส่งผลดีลงไปถึงชาวบ้านปลายน้ำด้วย

ยกระดับชีวิตชาติพันธุ์มานิ

นายอานนท์ สีเพ็ญ

 

ส่วน นายอานนท์ สีเพ็ญ ผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมสุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์มานิภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด สรุปว่าปัจจุบันมีกลุ่มชาติพันธ์ุมานิ 12 พื้นที่ โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ยังคงดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม 3 พื้นที่ กลุ่มที่เริ่ม ปรับตัวตั้งถิ่นฐาน 7 พื้นที่ และกลุ่มตั้งถิ่นฐานถาวร 2 พื้นที่ แต่ละกลุ่มจะประสบปัญหาแตกต่างกันตามบริบทของความเปลี่ยนแปลง

ดังนั้นถ้าพี่น้องมานิมีความรู้ต่างๆ ที่ส่งผลดีต่อสุขภาวะพวกเขาแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นก็คือ เกิดการพัฒนาทั้งชุมชนโดยรอบและชุมชนของมานิเอง เป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน ไม่เกิดปัญหา หรือช่องว่างระหว่างกัน

“ในระยะต่อไปสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้อง ขับเคลื่อนต่อ คือเรื่องสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ และการศึกษา ที่จะต้องได้รับการพัฒนายกระดับความรู้ให้เท่ากันกับโลกสมัยใหม่ เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์มานิ อยู่ในสังคมได้อย่างทัดเทียม มีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ และไม่ตกเป็นเหยื่อของสังคม” นายอานนท์สรุป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน