ปรับตัวตั้งหลักวิถีชีวิต ฝ่าวิกฤตโควิดสู่นิวนอร์มอล

ปรับตัวตั้งหลักวิถีชีวิต ฝ่าวิกฤตโควิดสู่นิวนอร์มอล – ด้วยภาวะการระบาดของโควิด-19 ที่ทั่วโลกต้องเผชิญ ผลักให้คนทั่วโลกถูกบังคับให้ต้องใช้ชีวิตแบบ ‘New normal’ อย่างฉับพลัน ดังนั้นเพื่อจะก้าวสู่ชีวิตวิถีใหม่เราต้องเตรียมตั้งรับและทำความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้เองสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัดเสวนา “ทิศทางประเทศไทย : ฝ่าวิกฤตโควิด-19 สู่ชีวิตวิถีใหม่” ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ

พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ กล่าวผ่านระบบประชุมทางไกลออนไลน์ ว่า ภาวะที่คนต้องเผชิญกับโควิด-19 ไม่เพียงกระทบกาย แต่กระทบไปถึงใจด้วย เมื่อใจเป็นทุกข์มาก กายก็ป่วยในที่สุด เมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้นแล้ว ‘รับไม่ได้’ ก็จะเกิดความคับแค้น อย่ามัวแต่อาลัยในความปกติที่เราสูญเสียไป ให้มองเห็นสิ่งที่ยังอยู่กับเราแล้วทำอะไรที่สร้างสรรค์ให้มีพลังบวกออกมา

ปรับตัวตั้งหลักวิถีชีวิต ฝ่าวิกฤตโควิดสู่นิวนอร์มอล 

“ชีวิตวิถีใหม่ในช่วงโควิด-19 มีหลักปฏิบัติ 4 ข้อที่จะช่วยทุกคนคือ 1.ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น 2.พยายามอย่าอยู่นิ่ง หากิจกรรมทำให้คลายเครียด 3.ทำประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่นการทำหน้ากากผ้าแบ่งปันตามกำลังที่ทำได้ 4.ปรับตัวหาช่องทางเพิ่มรายได้ ต้องพยายามดูแลสุขภาพจิตใจของตัวเอง เพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ด้วย” พระไพศาลกล่าว

 

ด้าน ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ กรรมการคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคม ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 นั้น ทำให้เศรษฐกิจหยุดหมดทั้งโลก ไม่เกิดการซื้อขาย และไม่มีทางที่จะฟื้นตัวได้ภายในปี 2563 แน่นอน เพราะเกิดภาวะการเป็นหนี้ และไม่คล่องตัวในการใช้หนี้ ตรงนี้จะตกเป็นภาระของคนรุ่นใหม่ต่อไป ต้องใช้เวลาฟื้นตัวยาว

ปรับตัวตั้งหลักวิถีชีวิต ฝ่าวิกฤตโควิดสู่นิวนอร์มอล 

ดร.วราการณ์ สามโกเศศ

 

“รัฐบาลควรมีมาตรการเร่งด่วนเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส โดยกำกับการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาการว่างงานขนาดใหญ่ ช่วยเหลือสภาพคล่องของผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี มีมาตรการที่จะช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เงินกู้เพื่อกระตุ้นการผลิตและการจ้างงาน ไม่มุ่งแค่การเยียวยา

แต่วิกฤตในครั้งนี้ก็ทำให้ประชาชนใช้ชีวิตรอบคอบมากขึ้น หันมาดูแลสุขภาพ ประชาชนต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือ ต้องมีการเรียนรู้ตลอดเวลา ต้องปรับแนวคิดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลก ไทยต้องเร่งสร้างแพลตฟอร์มการค้าที่เป็นของเราเอง พัฒนาและสร้างความมั่นคงทางระบบสาธารณสุขไทย ต้องต่อยอดให้ดีต่อไปเพื่อให้รับมือกับทุกวิกฤต” ดร.วรากรณ์กล่าว

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เฉพาะการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และอดีตนายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน สาขาระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า

ปรับตัวตั้งหลักวิถีชีวิต ฝ่าวิกฤตโควิดสู่นิวนอร์มอล 

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์

ขณะนี้โควิด-19 ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วเกิน 3 แสนราย พวกเราทุกคนต่างพยายามทำตามมาตรการที่คิดว่าจะช่วยเหลือได้ วิกฤตครั้งนี้คาดว่าจะกินเวลากว่า 12-18 เดือนเป็นอย่างน้อย จนกว่าจะมีวัคซีนและภูมิต้านทานธรรมชาติเกิดขึ้น

ต่อไปการระบาดอาจจะเกิดจากภายนอกประเทศเข้ามา ส่วนการติดเชื้อในประเทศเป็นแบบวงจำกัดแบบกลุ่มก้อน New Normal นั้นจะเปลี่ยนค่านิยมในระยะยาวต่อไป เราต้องดูแลกันโดยเดินทางสายกลาง ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป การทำ New Normal รัฐบาลต้องทำให้เป็นตัวอย่างแก่ประชาชนด้วย เช่น จัดงานเลี้ยงเพียงเล็กๆ เว้นระยะเป็นตัวอย่างให้ประชาชน

 

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การเกิดโรคระบาดทำให้เกิด การเปลี่ยนแปลงใหญ่ทั่วทั้งโลก ซึ่งวงจรการเกิดโรคระบาดมี 3 ระยะ คือความกลัว การเรียนรู้ และการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เมื่อเกิดวิกฤตโควิคขึ้น สสส.เองก็มีบทบาทคือการสื่อสารยามวิกฤต ให้ผู้คนรับรู้เรื่องราวและการดูแลตัวเอง

ปรับตัวตั้งหลักวิถีชีวิต ฝ่าวิกฤตโควิดสู่นิวนอร์มอล 

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์

 

คนไทยนั้นปรับตัวเร็วมากในครั้งนี้ เมื่อคนรู้จักภัยนี้แล้ว และต่อไปนี้เราไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้อีก เราต้องเข้าสู่ “ชีวิตวิถีใหม่” มีแนวปฏิบัติใหม่ โควิด-19 ไม่ใช่โรคระบาดสุดท้าย แต่ไวรัสโคโรนายังมีอีกหลายรายพันธุ์รวมถึงการกลายพันธุ์อีก เรายังต้องอยู่กับมัน

“การขับเคลื่อนการสร้างชีวิตวิถีใหม่จะเชื่อมโยงปัจจัยและระบบสุขภาพ สังคม การศึกษา เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ โดยรัฐและสังคมไทยต้องร่วมกันกำหนดจุดหมายของวิถีใหม่ที่เห็นพ้องกันว่าจะเป็นและเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยก็ทำได้ดี เรามีระบบที่ดีทั้งเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบสาธารณสุข อสม.

เรามีจุดแข็งหลายอย่าง และก็ยังมีจุดอ่อนอีกหลายอย่างที่เราต้องเรียนรู้และปรับปรุงต่อไป สสส.รณรงค์ให้คนไทยมีสุขภาพดีมาโดยตลอด และในการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในครั้งนี้ ทางสสส.และภาคีเครือข่ายจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติการสร้างชีวิตวิถีใหม่ 7 คู่มือด้วยกัน” ผู้จัดการ สสส. กล่าว

ปรับตัวตั้งหลักวิถีชีวิต ฝ่าวิกฤตโควิดสู่นิวนอร์มอล

โดยคู่มือได้แก่ 1.สู้! โควิด-19 ไปด้วยกัน คู่มือดูแลตัวเองสำหรับประชาชน 2.คู่มือการจัดการโรงเรียนรับมือโควิด-19 3.คู่มือมนุษย์โควิด เปิดเมืองให้ป(ล)อด ใช้ได้ในชีวิตจริง 1, 2

4.แนวทางปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 5.แนวปฏิบัติสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อความปลอดภัยจาก COVID-19

6.คู่มือเรื่องโควิด-19 รู้ให้ชัวร์! ชุดที่ 1-3 สามารถเข้าไปดู และดาวน์โหลดฟรีได้ที่ www.thaihealth.or.th/ ไทยรู้สู้โควิด

โดย ธีรดา ศิริมงคล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน