หนาวนี้ที่เมือง‘เชียงคาน’ – ฤดูหนาวกำลังจะมาเยือนอีกครั้ง เฉกเช่นทุกๆ ปีที่ผ่านมา แต่สำหรับเมืองเชียงคาน จ.เลย แหล่งท่องเที่ยวในฝันของใครหลายคนมีอะไรที่ไม่เหมือนเดิม เพราะเพิ่มเติมไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมใหม่ๆ ที่รอคอยให้ผู้ที่เคยต้องมนต์เสน่ห์กลับมาเยือนอีกครั้ง และดึงดูดให้คนที่ยังไม่เคยสัมผัสต้องมาให้เห็นกับตา

“เชียงคาน” เป็นเมืองท่องเที่ยวฤดูหนาวที่ใครๆ ก็มักจะมาแวะท่องเที่ยวเพื่อชมบรรยากาศริมน้ำโขง และอีกจุดหมายปลายทางที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยคือ ถนนคนเดินในยามค่ำคืนที่เต็มไปด้วยสีสันและรอยยิ้ม เป็นแหล่งช็อปปิ้งที่ต้องแวะจับจ่าย ซึ่งจะเปิดให้บริการทุกวัน ในช่วงบ่ายถึงช่วงค่ำ

แต่ปัจจุบันมีแหล่งท่องเที่ยวเกิดขึ้นใหม่ที่เชื่อมโยงสู่ “ภูคกงิ้ว” ที่สามารถขึ้นไปสักการะ ขอพรจาก “พระใหญ่ภูคกงิ้ว” พร้อมไปกับการชมทัศนียภาพบน “สะพานสกายวอล์ก” ที่เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม สามารถมองเห็นแม่นํ้าเหืองไหลมาบรรจบแม่นํ้าโขง เกิดเป็นแม่นํ้า 2 สีได้อย่างชัดเจน โดยตั้งอยู่ที่บ้าน ท่าดีหมี ต.ปากตม อ.เชียงคาน

เกิดขึ้นจากความร่วมมือขององค์กร และหน่วยงานต่างๆ เข้าไปพัฒนาเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสการ ท่องเที่ยวทางธรรมชาติแห่งใหม่ของ จ.เลย

ทางจังหวัดยังได้ร่วมมือกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ในการเข้าไปวางแผนการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว และเพิ่มศักยภาพชุมชนรอบภูคกงิ้ว เข้าสู่การให้บริการการท่องเที่ยว โดยนำอัตลักษณ์ที่มีความแตกต่าง และโดดเด่นมาเป็นจุดขาย ในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน

จึงเป็นที่มาของการเชื่อมโยงและพัฒนาเป็นจุดพัก เพื่อ ลดการแออัดของจำนวนนักท่องเที่ยว ก่อนที่จะเข้าสัมผัสชมธรรมชาติบนสกายวอล์ก ภายใต้มาตรฐานการท่องเที่ยวใหม่ ในยุค “นิว นอร์มัล”

วิถีการท่องเที่ยวของนักเดินทางสู่เชียงคาน คงไม่สิ้นสุดเพียงแค่ชุมชนวิถีริมน้ำโขง แต่ยังสามารถเข้าไปซึมซับอีกวัฒนธรรมที่เป็นเชื้อสายไทยดำ ในประเทศไทย ที่ปัจจุบัน มีชุมชนไทยดำกระจายตัวไปตามพื้นที่ต่างๆ เช่น อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี และอ.บางแพ จ.ราชบุรี

ส่วนภาคอีสาน มีเพียงแห่งเดียว คือบ้านนาป่าหนาด ต.เขาแก้ว อ.เชียงคาน จ.เลย เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ประกอบไปด้วย 300 ครัวเรือนซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางขุนเขา อยู่ห่างจาก อ.เชียงคาน เพียง 20 กิโลเมตร ที่ยังคงมีสืบสานวิถีชาติพันธุ์ มาจวบจนปัจจุบัน ทั้งเครื่องแต่งกาย วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และการละเล่นต่างๆ ที่ล้วนแล้วสื่อถึงความเชื่อทางธรรมชาติที่กำหนดการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ได้อย่างลงตัว

ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และเป็นจุดหมายปลายทางแห่งใหม่ที่ได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเร็วๆ นี้ ภายใต้ “ศูนย์วัฒนธรรมไทยดำ”

นับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต พร้อมส่งต่อให้นักเดินทางได้เข้ามารู้จักเรื่องราว ผ่านเส้นทาง “ถนนโคมไฟไทยดำ” ที่มีการนำโคมไฟที่ดัดแปลงมาจากตุ้มหนู (กรง) และ ตุ้มนก (กรง) ซึ่งชาวบ้านเคยใช้เป็นเครื่องรางแสดงถึงความโชคดีของชุมชนที่แขวนไว้หน้าบ้านทุกหลัง มาเรียงร้อยบนถนนสายหลักของหมู่บ้าน สว่างไสวกว่า 300 เมตร

พร้อมนำวิถีอาหารและผลิตภัณฑ์มาจัดจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว เพื่อเป็นของฝาก ของที่ระลึก ที่มีความแตกต่างจากแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เพราะมีประวัติศาสตร์การตั้งรกรากจากการทำสงครามฝรั่งเศส-เวียดนามในอดีต ที่ จ.เดียนเบียนฟู กว่า 100 ปีที่ผ่านมา

อ.เชียงคาน ไม่ได้เป็นที่รู้จักแค่นักท่องเที่ยวไทยเท่านั้น หากแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว “เชียงคาน” ยังเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ เพราะได้เข้ารอบ 1 ใน 100 แหล่งท่องเที่ยวคุณภาพยั่งยืนระดับโลก หรือ Sustainable Destinations TOP 100 ที่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ

จากแนวความคิดเชิญชวนชาวต่างชาติที่พำนักระยะยาวหรือทำงานอยู่ในประเทศไทย (Expat) ให้ออกมาเดินทางท่องเที่ยวภายใต้แคมเปญ Explore the Unseen Thailand หรือ “เรารู้จักกันดีพอหรือยัง” ของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำมาสู่การบูรณาการด้านการท่องเที่ยว เปิดทดลองเส้นทางการท่องเที่ยวเชียงคานให้กับกลุ่มเอ็กซ์แพทเมื่อเร็วๆ นี้

ภายใต้เงื่อนไขการรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa) ที่ต้องผ่านขั้นตอนมาตรฐานความปลอดภัยทางสาธารณสุข

“การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในเชียงคาน ถือเป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จ เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพยั่งยืน TOP 100 ของโลก ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ใช้เป็นโมเดลในการพัฒนา กิจกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงสร้างแลนด์มาร์ก ที่เป็นนวัตกรรมยุคใหม่ เพื่อสร้างจุดขาย แต่ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยต้นทุนทางธรรมชาติที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศ ซึ่งเป็นความได้เปรียบของประเทศไทย เป็นกลไกในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในแบบการท่องเที่ยวยั่งยืน โดยเฉพาะในช่วงกระตุ้นการท่องเที่ยว ปลายปีนี้” นายพิพัฒน์กล่าว

นายชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการแทนผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า อพท. โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 (อพท.5) กล่าวว่า ชุมชนไทยดำเป็นชุมชนที่ต่อเนื่องจากถนนคนเดินเชียงคาน มีวิถีชีวิตเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น อพท. จึงนำเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC

และเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand เข้าไปอบรมและพัฒนาชุมชนให้ได้เรียนรู้ และเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการตอบโจทย์การท่องเที่ยวชุมชนแบบยั่งยืน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง

หนาวนี้ เมืองเชียงคาน ดินแดน 3 วัฒนธรรม อันประกอบด้วยวัฒนธรรมล้านช้าง ไทยดำ และอีสานพื้นถิ่น รวมทั้งทัศนียภาพที่งดงามริมฝั่งโขง ซึ่งนับเป็นสายน้ำประวัติศาสตร์ ดินแดนแห่งสุวรรณภูมิ กำลังรอให้คุณมาเยือน

การันตีว่ามาแล้วคุณจะหลงรัก “เลย”

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว อย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน