วันสองวันที่ผ่านมาในบางพื้นที่ในประเทศไทยเริ่มมีอุณหภูมิที่ลดลง และมีอากาศเย็นขึ้น วันนี้ ข่าวสด มีวิธีการดูแลสุขภาพในช่วงฤดูหนาวมาฝาก โดยการใช้ภูมิปัญญาไทยตั้งแต่สมัยดั้งเดิม

โดยในการนำผักต่างๆ มาใช้ในการรับประทาน เพื่อปรับสมดุลธาตุในร่างกาย ที่เหมาะสำหรับช่วงฤดูหนาว เพราะว่าเมื่อสภาพภูมิอากาศลดต่ำลง มักจะส่งผลให้ธาตุน้ำในร่างกายเกิดความแปรปรวนหรือเสียสมดุลได้ง่าย

ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือ ร่างกายไม่สามารถปรับตัวตามสภาพอากาศได้ทันจะป่วย ด้วยโรคเกี่ยวกับธาตุน้ำ เช่น หวัด น้ำมูกไหล ภูมิแพ้อากาศ หากติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ จะทำให้อาการของโรครุนแรงมากยิ่งขึ้น

และผลจากการแปรปรวนของธาตุน้ำ จะทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก เกิดอาการไอ จาม คัดจมูก ท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ส่งผลต่อธาตุไฟในร่างกายเสียสมดุลไปด้วย เกิดอาการไข้ เจ็บคอหรือเกิดอาการอักเสบตามมา

การสร้างเกราะป้องกันความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นช่วงฤดูหนาวจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำตามได้ง่าย ซึ่งเราควรจะเน้นการบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรรสเปรี้ยว รสขม และรสเผ็ดร้อน เนื่องจาก

 

สมุนไพรรสเปรี้ยว มีฤทธิ์ขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ และช่วยให้ชุ่มคอ ,สมุนไพรรสขม มีฤทธิ์ลดไข้ ต้านการอักเสบ และสมุนไพรรสเผ็ดร้อน ช่วยเพิ่มความอบอุ่นของร่างกาย บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนสะดวก

ด้วยเหตุนี้เองทำให้ สมุนไพรรสเปรี้ยว รสขม และรสเผ็ดร้อน เป็นตัวช่วยสำคัญที่จะเสริมเกราะป้องกันการป่วยในช่วงฤดูหนาวได้ และเราควรเน้นเมนูอาหารที่มีเครื่องเทศที่มีรสเผ็ดร้อน เพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือดในร่างกาย ทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น “แกงส้มดอกแค” มักจะได้ยินคู่กับคำว่า “แก้ไข้หัวลม” เป็นคำพูดติดปากที่ได้ยินกันมาตั้งแต่โบราณ เพราะส่วนผสมทั้งหมดล้วนมีสรรพคุณทางยา

ทั้งนั้น น้ำพริกแกงส้ม รสเผ็ดร้อน ช่วยขับลม ช่วยย่อยอาหาร ,ดอกแค รสหวานออกขมเล็กน้อย แก้ไข้หัวลม ,มะขามเปียก รสเปรี้ยว ขับเสมหะ แก้ท้องผูก แก้ไอ ลดความร้อนในร่างกาย ,มะนาว เปลือกผลรสขมช่วยขับลม น้ำในลูกรสเปรี้ยว แก้เสมหะ แก้ไอ แก้เลือดออกตามไรฟัน ฟอกโลหิต

หรือว่าจะเป็นเมนูอื่นที่มีส่วนผสมของสมุนไพรทั้ง 3 รส อย่าง ผักติ้ว ใบชะมวง มะเขือพวง ขิง ข่า ตะไคร้ กระเทียม เช่นแกงเลียง แกงป่า แกงขี้เหล็ก แกงเผ็ด แกงคั่ว เป็นต้น ซึ่งการรับประทานอาหารควรคำนึงถึงสุขภาพเป็นหลัก รวมทั้งสารอาหารและปริมาณครบถ้วน เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

นอกจากการกินสมุนไพรเหล่านี้แล้ว ควรรักษาสุขภาพของตนเองให้ดี ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานประเภท เนื้อพร่า ปลายำต่างๆ หรืออาหารที่ปรุงไม่สุก เพราะจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น

และรักษาความอบอุ่นของร่างกาย ด้วยการสวมเสื้อหนาๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่หนาวเย็น รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว นอนพักผ่อนวันละ 6-8 ชั่วโมง และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ที่มา : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน