ลูกช้างตัวน้อยหกกบสะท้านฟ้าลองกิน “ดินโป่ง” พร้อมโชว์ท่ายาก อร่อยเพลินจนตัวลอย สุดยอดของดีของโปรดสัตว์ป่า สรรพคุณล้น แร่ธาตุเพียบ

เพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โพสต์ภาพลูกช้างตัวน้อยที่กำลังกิน “ดินโป่ง” เชื่อเลยว่าใครที่เห็นภาพนี้แล้วก็คงอดขำ และเอ็นดูความน่ารักของลูกช้างตัวนี้ไม่ได้ ที่น้องมีความพยายามขุดกินดินโป่งเพลิน อร่อยเหาะจนขาชี้ฟ้ากันเลยทีเดียว แน่นอนว่าหลายคนคงเกิดข้อสงสัยว่า แล้วลูกช้างตัวนี้กิน “ดินโป่ง” ทำไมกัน วันนี้ทาง ทีมข่าวสด ก็จะมาไขข้อข้องใจให้ทุกคนได้ทราบกัน

“ดิน” คือวัสดุธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการผุพังสลายตัวของหิน และแร่ ตลอดจนการสลายตัวของซากพืชและสัตว์ ผสมคลุกเคล้ากัน โดยได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อม เช่น สภาพภูมิอากาศ สภาพพื้นที่ และระยะเวลาในการพัฒนาที่แตกต่างกัน เกิดเป็นดินหลากหลายชนิด ปกคลุมพื้นผิวโลกอยู่เป็นชั้นบางๆ เป็นที่ยึดเหนี่ยวและเจริญเติบโตของพืช รวมถึงเป็นแหล่งน้ำและอาหารของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในดินและบนดิน

“โป่ง” คือ บริเวณหรือพื้นที่ที่สามารถพบแร่ธาตุชนิดต่าง ๆ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม โซเดียม แมกนีเซียม และกำมะถัน โคบอลล์ ทองแดง ไอโอดีน เหล็ก แมงกานีส และสังกะสี เป็นต้น

แร่ธาตุเหล่านี้ล้วนมีความจำเป็นต่อร่างกาย และการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่กินพืชเป็นอาหาร เช่น กวาง เก้ง กระทิง วัวแดง นก และช้างป่า เป็นต้น เนื่องจากพืชที่สัตว์กินเข้าไปไม่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุดังกล่าว สัตว์จึงต้องทดแทนโดยการกินดินหรือดื่มน้ำจากโป่งแทนโป่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด

“โป่งดิน” คือ บริเวณพื้นดินที่ประกอบด้วย แร่ธาตุต่าง ๆ โดยสัตว์มักจะใช้ปากขุดดิน เพื่อกินดินเหล่านั้น โดยจะเริ่มกินที่บริเวณผิวดินก่อนแล้วค่อย ๆ กินลึกลงไปเรื่อย ๆ จนเรามองเห็นเป็นแอ่งหรือเป็นบ่อ

“โป่งน้ำ” เป็นบริเวณที่เป็นต้นกำเนิดของลำธารหรือเป็นต้นน้ำ มีน้ำไหลซึมตลอดทั้งปี พบได้ในพื้นที่ที่เป็นน้ำซึมหรือน้ำซับหรือที่ไหลออกมาจากภูเขา แอ่งหรือบ่อที่เป็นโป่งดินมาก่อน อย่างในฤดูฝนโป่งดินอาจจะถูกน้ำท่วมขังสัตว์จะไม่กินส่วนที่เป็นดิน แต่จะกินน้ำที่ขังอยู่ในบริเวณโป่งดินแทน

ทั้งโป่งดิน และโป่งน้ำพบเห็นได้ในป่าค่อนข้างราบ โดยโป่งแต่ละแห่งจะมีแร่ธาตุที่แตกต่างกันออกไปดังนั้นสัตว์จึงมักจะกินดินโป่งจากหลาย ๆ โป่ง เพื่อจะได้รับแร่ธาตุต่าง ๆ ตามที่ร่างกายต้องการอย่างครบถ้วน โป่งสามารถพบได้ในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดงดิบ

โป่งสามารถเกิดขึ้นได้เอง และมนุษย์สร้างขึ้น มักจะถูกเรียกว่า “โป่งเทียม” ซึ่งมักจะสร้างขึ้นส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นโป่งดิน โดยการขุดดินในบริเวณที่เลือกไว้ให้เป็นแอ่งแล้วนำเกลือสมุทรลงไปผสมกับดินบริเวณที่ขุดขึ้น เมื่อมีฝนตกหรือความชื้นจากน้ำค้างเกลือก็จะละลายทำให้ดินบริเวณนั้นเค็ม สัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ก็จะพากันมากินดินเหล่านี้

ที่มา : ipst

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน