เปิดประวัติ ‘แบงค์สยามกัมมาจล’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ธนาคารไทยพาณิชย์’ ธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย ‘ไปด้วยกัน ไปได้ไกล เป็นทุกอย่างเพื่อคุณ’

SCB

สถาบันการเงินแห่งแรกของชาวสยาม เริ่มต้นขึ้นในนาม “บุคคลัภย์” (Book Club) โดย พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ซึ่งขณะนั้นทรง ดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวง พระคลังมหาสมบัติ ทรงตั้งพระทัยอย่างแน่วแน่ที่จะให้มีสถาบัน การเงินของสยาม เป็นฐานรองรับการเติบโตทางด้าน เศรษฐกิจการเงินของประเทศ

จากการที่โลกตะวันตกได้ขยายเส้นทางการค้าทางทะเลมาสู่ดินแดนสยามเป็นอย่างมากในยุคนั้น ในขั้นแรกจึงทรงริเริ่มดำเนินกิจการธนาคารพาณิชย์ เป็นการ ทดลองในนาม “บุคคลัภย์” (Book Club)
ต่อมากิจการทดลองประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ตั้งเป็นธนาคารในนาม “บริษัท แบงก์สยาม กัมมาจล ทุนจำกัด” (Siam Commercial Bank, Limited) เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2449 ประกอบธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์ อย่างเป็นทางการ

SCB

ในปี พ.ศ.2475 – 2500 สยามประเทศพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ถึงสองครั้ง ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และจากสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด จึงเปลี่ยนชื่อตามนโยบาย “เชื้อชาตินิยม” ของรัฐบาลที่เปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” โดยเปลี่ยนมาเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์ ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารของธนาคารใหม่ โดยให้ชาวไทยที่มีความรู้ความสามารถได้ขึ้นเป็นผู้บริหาร และลดจำนวนชาวตะวันตกในการบริหารงาน ธนาคารได้ถวายความจงรักภักดีแก่สถาบันกษัติรย์ และช่วยทำประโยชน์แก่สาธารณะ เช่น มีส่วนร่วมในการสร้างตึกโรงพยาบาลศิริราช

ต่อมาในปี พ.ศ.2500 – 2516 ช่วงนี้ธนาคารมุ่งเน้นการการระวังภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์ มีการเพิ่มการทำกิจกรรมเพื่อสังคมทำนุบำรุง และ จรรโลงพระพุทธศาสนา การสนับสนุนการแพทย์ และ การสาธารณสุขพื้นฐาน ซึ่งบทบาทของธนาคารไทยพาณิชย์ในยุคนี้ นำมาซึ่งสัญลักษณ์ของต้นโพธิ์

ปีพ.ศ. 2516 – 2531 เกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองขึ้นถึง 2 ครั้ง คือ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 แต่ธนาคารไม่ได้รับผลกระทบมากนัก จนเกิดคำขวัญว่า “มั่นคงด้วยรากฐาน บริการด้วยน้ำใจ” ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2516 ธนาคารฯได้เริ่มรับพนักงานสตรีเข้าปฏิบัติงานเป็นครั้งแรก และธนาคารได้นำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ในงานด้านต่างๆ ของธนาคารทั้งที่สำนักงานใหญ่ และสาขาต่างๆ นอกจากนี้ ธนาคารยังมุ่งส่งเสริมการศึกษา จรรโลงพระพุทธศาสนา การพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน ร่วมอนุรักษ์ เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของประเทศ และมีการจัดตั้้ง พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ที่สาขาตลาดน้อย

SCB

ในปี พ.ศ.2531 – 2540 เปรียบเป็น”ยุคทองของเศรษฐกิจไทย” และ “เศรษฐกิจฟองสบู่” แต่ไทยพาณิชย์ ในฐานะที่เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีผลงานเด่นสุดของการธนาคารพาณิชย์ไทยอย่างรอบด้าน และจากการขยายตัวของธนาคาร รวมทั้งการเตรียมพร้อมรองรับความเจริญในอนาคต ธนาคารจึงพิจารณา ย้ายที่ทำการจากชิดลม ไปยังสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่ SCB Park Plaza ในปี พ.ศ. 2539 ซึ่งอาคารสำนักงานใหญ่ (รัชโยธิน) พร้อมกับย้าย พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทยมาไว้ที่นี่ด้วย

พ.ศ. 2541–2542 สืบเนื่องจากวิกฤตทางการเงินในเอเชียเมื่อปี พ.ศ. 2540 ส่งผลต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่ซบเซาลงอย่างหนักและการดำเนินมาตรการที่เข้มงวดตามกรอบนโยบายของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ธนาคารฯ จึงต้องรับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นับเป็นยุควิกฤตของธนาคารฯ มีการแก้ปัญหาโดยการเสนอขายหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นเดิม ผู้ลงทุนในต่างประเทศ และการออกหุ้นกู้ซึ่งถือเป็นการขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

SCB

พ.ศ. 2549 – 2555 ธนาคารฯ มีปริมาณสินทรัพย์เป็นอันดับที่สาม มูลค่าเกินหนึ่งล้านล้านบาท โดยมีมูลค่าตลาดรวม เพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง ตลอดจนมีจำนวนสาขา และเครื่องเอทีเอ็มทั่วประเทศ มากที่สุดในประเทศไทย ทั้งนี้ธนาคารฯ ปรับปรุงอัตลักษณ์และตราของธนาคาร ให้มีความเรียบง่ายและทันสมัยมากขึ้น และเปิดดำเนินกิจการจนครบหนึ่งพันสาขา โดยสาขาที่ 1,000 ตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์ค โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดที่ทำการเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2553 และในปี พ.ศ. 2555 บริษัท เงินทุน สินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ได้โอนบรรดากิจการทั้งหมด ไปเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารไทยพาณิชย์ นอกจากนี้ ธนาคารฯยังได้ปรับปรุง พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชม ได้ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 09.30-12.00 และ 13.00-17.00 นาฬิกา

ขอบคุณข้อมูล ธนาคารไทยพาณิชย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน