หายสงสัย! รูปปั้นตะมุตะมิมีที่มา ศิลปะจากแรงศรัทธา และความบริสุทธิ์

ในช่วงสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมาหลายคนคงได้เห็นคนแชร์ประติมากรรมหน้าตาแปลกประหลาดที่อยู่ตามวัดในจังหวัดต่างๆ อยู่มากมาย และวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา ว่าเป็นความชุ่ยในการสร้างงาน ไม่ได้ใช้ช่างฝือมือตัวจริง หรือแม้กระทั่งว่ามีการทุจริตงบที่ใช้ในการก่อสร้างหรือไม่

แต่ความเป็นจริงแล้วการกระทำแบบดังกล่าวอาจไม่ได้เกิดจากการยักยอกเงินในการสร้างก็เป็นได้ แต่ผลงานศิลปะเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากแรงศรัทธาอันแรงกล้า ของพระ และชาวบ้านในระแวกนั้น ที่ช่วยกันสร้างผลงานขึ้นมา ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจากจินตนาการ และภาพจำต่างๆ ที่มีอยู่ในหัว แต่เนื่องจากไม่ได้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะ จึงไม่เน้นความสมจริงหรือความวิจิตรเท่าไหร่นัก มักจะเน้นความเรียบง่าย และบริสุทธิ์ที่ต้องการสื่อออกมา ซึ่งไปตรงกับแนวศิลปะสมัยใหม่ จึงดูน่ารักตะมุตะมิอย่างที่เห็น

แท้จริงแล้วศิลปะดังกล่าวมีชื่อเรียกเฉพาะว่า “Naive Art” หรือ “ศิลปะนาอีฟ” เป็นศิลปะบริสุทธิ์ ที่สร้างสรรค์โดยผู้คนหลากหลายอาชีพซึ่งไม่ได้เรียนและฝึกฝนด้านงานศิลปะโดยตรง เช่น แม่บ้าน วิศวกร หมอ พระ ชาวบ้าน เป็นต้น แต่ผู้คนเหล่านี้มีความรักในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะโดยไม่เน้นการฝึกฝนฝีมือตามหลักวิชาในสถาบันสอนศิลปะโดยตรง

มักเน้นการสร้างสรรค์ผลงานที่มุ่งแสดงออกตามความต้องการของตนเองแบบซื่อๆ เหมือนการวาดภาพของเด็กที่ไม่ได้ฝึกฝนการวาดภาพ ในอดีตศิลปะนาอีฟนั้นถูกค่อนขอดว่าเป็นศิลปะที่ไม่มีมาตรฐาน เป็นผลงานของคนนอก เนื่องจากศิลปินส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนทฤษฎีโดยตรง แต่ปัจจุบันศิลปะนาอีฟนี้ได้รับการยอมรับ จนมีการเรียนการสอน และมีการจัดแสดงผลงานโดยแกลเลอรี่ต่างๆ ทั่วโลก

ภาพวาดศิลปะนาอีฟ (ซ้าย) อ็องรี รูโซ (ขวา) สุเชาว์ ศิษย์คเณศ

ในประเทศไทยก็มีศิลปะแบบนาอีฟซ่อนอยู่ในหลายพื้นที่ อย่างเช่นที่วัดวัดมรรครังสฤษดิ์ (วัดตะคร้อ) ต.เขาดิน อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ จะมีวิหาร 100 ปี ซึ่งเป็นวิหารปั้นมือ เป็นผลงานการปั้นของหลวงพ่อริ้ว กุสลจิตโต อดีตเจ้าอาวาส ท่านไม่ใช่ศิลปิน และไม่เคยมีความรู้เรื่องการปั้นมาก่อน ท่านปั้นขึ้นมาตามนิมิต ภายหลังได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จนเป็นวิหารที่มีสีสันสดใส

วัดชัยภูมิการาม อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดที่เก่าแก่และเป็นที่เคารพของชาวบ้านในเมืองเขมราฐอีกหนึ่งแห่ง ซึ่งมีความโดดเด่นอยู่ที่พระอุโบสถ จะปรากฏพญานาคที่อยู่ตรงบันไดทางขึ้น มี 5 หงอนไม่มีเกล็ด เท้าด้านหลังเหยียบปลา ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากรูปปั้นพญานาคทั่วไป

วัดเจติยภูมิ หรือวัดพระธาตุขามแก่น จังหวัดขอนแก่นสร้างขึ้นประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 25 พระธาตุขามแก่น นับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญคู่เมืองขอนแก่น เป็นจุดยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และมีความศักดิ์สิทธิ์คู่กับอีสานอีกแห่งหนึ่ง ทั้งยังเป็นที่เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข และศิลปะแห่งความศรัทธา “ฮูปแต้ม สิมอีสาน” และนี่คือตัวมอมหน้าสิมเก่าวัดเจติยภูมิ

ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา อย่าง “ฮูปแต้ม” มักจะปรากฏอยู่ที่โบสถ์ วิหารหอไตร และศาลาการเปรียญ พบเป็นส่วนมากทางภาคอีสาน ฮูปแต้มไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว มีอิสระเสรีในการแสดงออกอย่างเต็มที่ ช่างแต้มในงานฮูปแต้มอีสานเป็นทั้งฆราวาสและพระภิกษุผู้ซึ่งใช้ชีวิตความเป็นอยู่ผูกพันกับธรรมชาติในสังคมชนบท

ที่มา : Naive Art / kku / esanpedia / kornwantravel

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน