คอลัมน์ สดจากเยาวชน

เมื่อไม่นานนี้ ที่ลานกิจกรรมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นักเรียนนักศึกษาจาก 15 สถาบัน กว่า 300 คน จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์วิทยาเขตเพาะช่าง

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้าน กาญจนาภิเษก มูลนิธิเยาวชนพอเพียงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมูลนิธิบุคคลพอเพียง จัดกิจกรรมสืบสานพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมใจร่วมกันแปรอักษรข้อความ “วัยรุ่นพอเพียง” ร้องเพลง “ของขวัญจากก้อนดิน” และประกาศเจตนารมณ์ “ทำดีเดินตามทางที่พ่อสร้างไว้”

จากนั้นมีพิธีมอบรางวัลประกวดคลิปวิดีโอ “วัยรุ่นพอเพียง” ซึ่งก่อนหน้านี้เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนนำเสนอผลงานผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและเป็นรางวัลตอบแทนการทำความดีให้กับเยาวชน

พล.อ.จิระศักดิ์ วัฒนะวงษ์ ประธานมูลนิธิบุคคลพอเพียง กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงานว่า จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้ชาวไทย หากเยาวชนคนหนุ่มสาวซึ่งเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติ น้อมนำแนวพระราชดำรัสไปปฏิบัติ จะสามารถขับเคลื่อนประเทศชาติได้อย่างมั่นคงและสมบูรณ์

จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมรณรงค์ในวันนี้ รวมถึงการประกวดคลิปวิดีโอออนไลน์ “วัยรุ่นพอเพียง” เพื่อสื่อสารให้เยาวชนเข้าใจและน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ ผ่านการผลิตคลิปวิดีโอความยาว 3-5 นาที ชิงทุนการศึกษาและโล่เกียรติคุณจาก พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี

ผลการตัดสินรางวัลการประกวดคลิปวิดีโอออนไลน์ วัยรุ่นพอเพียง มีดังนี้ รางวัลชนะเลิศ ผลงาน “สุขจากข้างใน” ทีมอควาโปนิกส์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รองชนะเลิศอันดับ 1 ผลงาน “ลืม” ทีมตาปรือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา รองชนะเลิศอันดับ 2 ผลงาน “ถ้าตอนนั้น” ทีม RunTod Film มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา รางวัลชมเชย ผลงาน “คุณค่า” ทีม Admin Production มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และผลงาน “อยากดีพอให้เธอได้มั่นใจ” ทีมมหาโจร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

นายภาณุพงษ์ สะและหมัด นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สมาชิกในทีมชนะเลิศ บอกเล่าถึงแนวคิดการทำคลิปว่า “นำเอาแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจผสมผสานมา สร้างคลิปวิดีโอ ซึ่งสอดคล้องกับชีวิตวิถีเกษตรของเรา ที่นำมาปรับใช้ ต่อยอด จากการทำสวนมะพร้าวของครอบครัวที่ จ.ฉะเชิงเทรา

จากเดิมครอบครัวขายแค่ลูกมะพร้าว ผมเพิ่มมูลค่าเป็นขายพันธุ์มะพร้าวด้วย โดยการผนวกกับการใช้เทคโนโลยีเปิดขายผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งใช้เวลาจากการเรียนทำคลิปเผยแพร่ความรู้ผ่าน ยูทูบในเรื่องเกษตรพอเพียง เพื่อให้ความรู้กับคนที่สนใจด้านเกษตร”

นายภาณุพงษ์กล่าวต่อว่า การทำคลิปยึดแนวคิดจากศาสตร์พระราชา ผ่านการลงมือทำอย่างจริงจังและต่อยอดจากสิ่งที่มี สำคัญที่สุดคือต้องเอามาใช้ปฏิบัติอย่างจริงจังและลงมือทำถึงจะเข้าใจสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มอบไว้ให้พวกเรา

แม้ช่วงแรกจะประสบอุปสรรคหรือคนไม่เชื่อ แต่เมื่อเราทำไป ประสบความสำเร็จ มีค่า คนจะหันมาสนใจ ความพอเพียงไม่จำเป็นต้องทำเกษตร แต่หมายถึงทำทุกสิ่งให้พอดีกับชีวิตของเรา ทำหน้าที่หลักของเราให้ดีที่สุด ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่เห็นแก่ตัว

ขณะที่ น.ส.วลีญา ไกรวงศ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ชั้นปีที่ 2 อาสาสมัครมูลนิธิเยาวชนพอเพียงเพื่อการพัฒนาอย่าง ยั่ง ยืน กล่าวว่า กิจกรรมแปรอักษร คำว่า “วัยรุ่นพอเพียง” ถือเป็นการแสดงสัญลักษณ์หรือการสื่อสารทางตรง เหมือนตั้งคำถามกลับมาหาตัวเองด้วย และกระตุ้นความรู้สึกนึกคิด การเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งการจูงใจไปสู่ความคิด หลักคำสอนที่สำคัญอื่นๆ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

“การทำกิจกรรมแต่ละครั้งในช่วงที่ผ่านมา หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 จะได้รับความสนใจจากวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก หลายคนอยากมาร่วมกิจกรรมต่างๆ อาจเป็นเพราะจะได้ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อพระองค์ท่านเป็นครั้งสุดท้ายแต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือการลงมือทำให้เป็นวิถีชีวิตด้วยความมุ่งมั่นและต่อเนื่อง” วลีญากล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน