วิจัยเผย อาการตกค้างหลังหายโควิด พบปัญหาสุขภาพ เช่น อ่อนเพลียง่าย พบปัญหาที่ตับ หายใจลำบาก รวมถึง ซึมเศร้า-วิตกกังวล และ หย่อนสมรรถภาพทางเพศ

Hospital in Wuhan / Reuters

เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2564 เว็บไซต์ Physician’s Weekly นำเสนอผลวิจัย ของนักวิจัยจาก โรงพยาบาลจินหยินถัน โดยเผยว่า ผู้ป่วยที่ฟื้นตัวหลังติดเชื้อโควิด-19 มีอาการตกค้าง โดย พบปัญหาสุขภาพ เช่น อ่อนเพลียง่าย พบปัญหาที่ตับ หายใจลำบาก รวมถึง ซึมเศร้า วิตกกังวล และ หย่อนสมรรถภาพทางเพศ

โดยการศึกษานี้ ทำการติดตาม ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน กว่า 1,700 คน ในเมืองอู่ฮั่น ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจินหยินถัน ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2563 ถึง 29 พฤษภาคม พ.ศ.2563 ซึ่งผู้ป่วย ถูกสัมภาษณ์ด้วยชุดแบบสอบถามสำหรับการประเมินอาการและคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และได้รับการตรวจร่างกายและการทดสอบการเดิน 6 นาที รวมถึงเข้ารับการตรวจเลือด โดยมีการติดตามอาการหลังจากรักษาอาการป่วยและหายติดเชื้อไปมากกว่า 186 วัน

Reuters

โดยงานวิจัยนี้ ถือเป็นการศึกษาติดตาม ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ฟื้นตัวแล้วกลุ่มใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยมีระยะเวลาติดตามยาวนานที่สุดเช่นกัน โดยงานวิจัยนี้ ได้ถูกเผยแพร่ทางออนไลน์ เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2564 โดยพบว่ามีผู้ป่วยที่รักษาจนหายแล้ว จำนวนถึงร้อยละ 76 ยังมีอาการคงเหลือหลังจากหาย ซึ่งพบว่า มีอาการอ่อนเพลียง่าย ร้อยละ 63 มีสัญญานบ่งชี้ถึงปัญหาที่เกี่ยวกับตับ ร้อยละ 33 และ มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ ร้อยละ 26

นอกจากนี้ ยังมีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล รวมถึงหย่อนสมรรถภาพทางเพศร่วมด้วย การติดตามผลยังเผยให้เห็นว่า ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้มีโอกาสที่จะติดเชื้อต่าง ๆ รวมถึง โควิด-19 ซ้ำอีกครั้งได้ง่ายขึ้น

Reuters

การศึกษานี้ได้ติดตามอาการผู้ป่วยที่ฟื้นตัวแล้วอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลาประมาณ 186 วัน พบว่าผู้ป่วยจำนวนมาก มีร่องรอยเนื้อเยื่อปอดถูกทำลายหลงเหลืออยู่ จากเหตุดังกล่าว ส่งผลให้หายใจลำบากกว่าเดิม เช่น บางรายหายใจสั้นและถี่ขึ้นกว่าปกติ ขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการหนักในช่วงติดเชื้อ บางราย รายงานว่า ตนเองไม่สามารถใจได้ลึกอีกต่อไป

ขณะเดียวกัน มีการศึกษาผู้ป่วยที่ฟื้นตัวแล้วในประเทศอื่น ๆ พบว่า ผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาจนฟื้นตัวแล้ว มีอาการหลงเหลือที่แตกต่างกันออกไป เช่น บางรายมีอาการผมร่วง บางรายมีปัญหาโรคหัวใจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม อาการโรคหัวใจอาจเป็นการตรวจพบโดยบังเอิญ เนื่องจากการติดเชื้อที่แสดงอาการมักเกิดในผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อมูลจากงานวิจัย แต่ไวรัสโควิด-19 ถือเป็นเรื่องที่ทางการแพทย์ยังมีข้อมูลน้อยและมีข้อจำกัดในการทำวิจัย ความเข้าใจและความรู้ที่มีในปัจจุบันจึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตที่มีงานวิจัยใหม่ ๆ มาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น

Reuters

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน