บุญรอดบริวเวอรี่ และ สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผ่านภาพยนตร์สั้นและภาพยนตร์ประกอบเพลงพระราชนิพนธ์ชุด “ค่ำแล้ว แว่วเสียง…ในดวงใจนิรันดร์”

เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่มีต่อปวงชนชาวไทยผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์ และเพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ตระหนักถึงการดำรงตนเป็นคนดี ตามพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานไว้ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปีที่ทรงครองราชย์

บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และบริษัทสิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด จึงสร้างสรรค์โครงการภาพยนตร์สั้นและภาพยนตร์ประกอบเพลงพระราชนิพนธ์สามเรื่องชุด “ค่ำแล้ว แว่วเสียง…ในดวงใจ นิรันดร์” โดย ๓ ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาชื่อดัง พรพิพัฒ ลักษณะสุต อลงกต เอื้อไพบูลย์และราจิต แสง-ชูโต เชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ๓ บทเพลงที่มีความหมายและความไพเราะมาเป็นแรงบันดาลใจและแนวคิดในการผลิตภาพยนตร์แต่ละเรื่อง พร้อมเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ Singha Corporation, LINE TV รวมทั้งสื่อออนไลน์และสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ณัฐวรรณ ทีปสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานประชาสัมพันธ์ และสื่อสารองค์กร บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ได้ริเริ่มโครงการเพื่อเผยแพร่พระปรีชาสามารถด้านดนตรีและบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อย่างต่อเนื่อง

นับตั้งแต่โครงการผลิตสารคดีเฉลิมพระเกียรติชุด “คีตราชา” (พ.ศ.๒๕๕๗) ภาพยนตร์เทิดพระเกียรติ “คีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์” (พ.ศ.๒๕๕๘) ภาพยนตร์ “พรจากฟ้า” ในโครงการ New Year’s Gift เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (พ.ศ.๒๕๕๙)

และโครงการโปรมูสิกา จูเนียร์ แคมป์ (พ.ศ.๒๕๕๗ – ๒๕๖๐) ที่สนับสนุนโอกาสด้านดนตรีคลาสสิกแก่เยาวชนและล่าสุดโครงการภาพยนตร์สั้นและภาพยนตร์ประกอบเพลงพระราชนิพนธ์ โดยเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพลง “ค่ำแล้ว” “Echo” (เอคโค)และ “ในดวงใจนิรันดร์” มาเป็นแรงบันดาลใจและแนวคิดของภาพยนตร์แต่ละเรื่อง”

ณัฐวรรณกล่าวเสริมถึงโครงการภาพยนตร์ชุดนี้ว่า “เนื้อหาของภาพยนตร์ชุดนี้ทางบริษัทฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้กำกับทั้ง ๓ ท่าน ได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ตามแนวทางของแต่ละท่านอย่างเต็มที่ โดยต้องการสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงทำเพื่อคนไทยนั้น

เราทุกคนได้น้อมนำมาปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน เปรียบเสมือนพระองค์ท่านยังทรงอยู่กับเรา ทรงอยู่ในใจประชาชนชาวไทยตลอดเวลาพร้อมมุ่งหวังให้ประชาชนที่ได้ชมภาพยนตร์ชุดนี้ ได้รับแนวคิดเพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตและเป็นคนดีของสังคมไทย ตามแนวคำสอนที่ถ่ายทอดมาจากพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสและพระราชกรณียกิจ ตลอด ๗๐ ปี ที่ทรงครองราชย์”

สำหรับภาพยนตร์สั้นและภาพยนตร์ประกอบเพลงพระราชนิพนธ์ชุดนี้ประกอบด้วยเรื่อง

“ค่ำแล้ว” กำกับโดย พรพิพัฒ ลักษณะสุต ได้แรงบันดาลใจจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ค่ำแล้ว” ขับร้องโดยสุภัทรา โกราษฎร์

“แว่วเสียง” กำกับโดยอลงกต เอื้อไพบูลย์ได้แรงบันดาลใจจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ “Echo”(เอคโค) ขับร้องโดยจารุวรรณ บุญญารักษ์

“ในดวงใจนิรันดร์” กำกับโดยราจิต แสง-ชูโตได้แรงบันดาลใจจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ในดวงใจนิรันดร์” ขับร้องโดย “ป๊อด” ธนชัย อุชชิน

พรพิพัฒ ลักษณะสุต เผยแนวคิดที่ต้องการสื่อสารผ่านภาพยนตร์สั้น เรื่อง “ค่ำแล้ว” ว่า “เพลงพระราชนิพนธ์ “ค่ำแล้ว” เป็นเพลงที่มีลักษณะเพลงกล่อม(lullaby)จึงตีความเป็นเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกในแต่ละสถานการณ์ ผ่านเรื่องราวของ ๔ ครอบครัวที่อยู่ในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยในค่ำคืนเดียวกันที่พระจันทร์เต็มดวง ซึ่งแม้ว่าแต่ละเรื่องจะมิได้กล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดยตรง แต่ได้สอดแทรกสิ่งที่พระองค์ท่านทรงสอนไว้ให้คนดูได้ฉุกคิด โดยสัญลักษณ์ของ ‘ค่ำแล้ว’ คือ ดวงจันทร์ เปรียบเสมือนแสงที่ส่องนำใจ ให้คนไทยไม่ว่าจะอยู่ที่ใด เลือกเดินไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อตัวเองครอบครัวและสังคม”

อลงกต เอื้อไพบูลย์ เล่าถึงแรงบันดาลใจของภาพยนตร์สั้นเรื่อง “แว่วเสียง” ว่า “ผมต้องการให้คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะวัยรุ่นได้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในด้านดนตรี จึงเลือกทำภาพยนตร์สั้นที่มีกลิ่นอายของมิวสิควิดิโอ ซึ่งเพลงพระราชนิพนธ์ Echo (เอคโค) ในเวอร์ชั่นนี้ ก็มีท่วงทำนองที่ทันสมัย เข้าถึงวัยรุ่นได้ง่าย

โดยนำเรื่องราวทั้ง ๔ เหตุการณ์ที่เห็นในชีวิตประจำวัน อย่างนักเรียนที่ละเลยการเรียน วัยรุ่นยกพวกตีกัน คนขับรถปาดหน้ากัน เจ้าหน้าที่รับสินบนจากผู้รับเหมาก่อสร้างมาสะท้อนให้เห็นถึงช่วงเวลาของคนที่กำลังจะทำความผิด และได้ยินเสียงแว่วมาจากฟ้า ทำให้คนเหล่านั้นฉุกคิดถึงคำสอนของพ่อในอดีตที่เคยสอนให้เป็นคนดี ทำให้พวกเขากลับใจที่จะไม่กระทำความผิดนั้นเปรียบเสมือนสิ่งที่พระองค์ท่านทรงสอนพวกเราเสมอว่า ทุกคนมีความดี และจงนำความดีนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม”

ราจิต แสง-ชูโต ถ่ายทอดมุมมองของภาพยนตร์ เรื่อง “ในดวงใจนิรันดร์” ว่า “ด้วยความตั้งใจที่จะให้ทุกคนที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้รู้สึกว่า แม้ในวันนี้ที่คนไทยทั้งประเทศจำต้องยอมรับกับความเป็นจริงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ไม่ได้ประทับอยู่กับพวกเราแล้ว แต่ยังทรงสถิตอยู่ในห้วงความคิดคำนึง ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใด ในทุกสายลม แสงแดด สายฝน ในทุกกิจกรรมและทุกจังหวะชีวิต ที่ร่วมกันก้าวเดินต่อไป

โดยอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ในดวงใจนิรันดร์” ที่เนื้อร้องมีความหมายและอารมณ์ที่ตีความได้หลากมิติ นำมาร้อยเรียงเป็นภาพเพื่อให้เกิดความซาบซึ้งและรู้สึกเสมือนหนึ่งว่า ในยามที่เราสูญเสีย เราก็ยังสามารถสัมผัสได้ถึงพระเมตตากรุณาที่พระราชทานแก่คนไทยทุกคนตลอดมาและตลอดไป
หลังจากชมภาพยนตร์สั้น และภาพยนตร์ประกอบเพลงพระราชนิพนธ์ชุดนี้แล้วนั้น

ม.ล.วิฏราธร จิรประวัติ กล่าวถึงความรู้สึกว่า “ประทับใจภาพยนตร์ทั้ง ๓ เรื่อง ที่สื่อให้รู้สึกเหมือนกับพระองค์ท่านทอดพระเนตรมาที่พวกเรา และประทับอยู่ใกล้ ๆ พวกเราคนไทยเสมอ และอิ่มใจกับบทเพลงพระราชนิพนธ์ ซึ่งป็นหัวใจของการเดินเรื่อง และช่วยทำให้ภาพยนตร์แต่ละเรื่องมีความน่าสนใจมากขึ้น อย่างเรื่องค่ำแล้ว ที่สะท้อนให้เห็นว่าพ่อแม่ทุกคนหวังดีกับลูก และอยากเห็นลูกได้ดี ส่วนเรื่องแว่วเสียงเล่าถึงสิ่งที่พ่อสอนช่วยทำให้เกิดเสียงสะท้อนที่ก้องอยู่ในหูทุกครั้งที่คุณคิดจะทำอะไร อย่างเรื่องการรู้จักผิดชอบชั่วดี ซึ่งป็นสิ่งที่ทุกคนตระหนักอยู่ทุกลมหายใจ และจงเลือกทำให้ถูกต้อง ซึ่งนอกจากเป็นการทำเพื่อตัวเองแล้ว ยังส่งผลถึงประเทศชาติด้วย ส่วนเรื่องในดวงใจนิรันดร์นั้นทำให้นึกถึงสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำเพื่อประชาชนชาวไทยตลอดระยะเวลา ๗๐ ปีที่ทรงครองราชย์ เมื่อชมภาพยนตร์ชุดนี้ก็ยิ่งทำให้รู้สึกคิดถึงพระองค์ท่าน”

แม่ลูกคู่สวย ภัทศา งามจิตรสุขศรี และ รวิสรา สมะลาภา บอกเล่าความซาบซึ้งและสิ่งที่ได้รับจากภาพยนตร์ชุดนี้ ว่า “ความที่เป็นแม่จึงกระทบใจกับเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง ค่ำแล้ว เป็นพิเศษ ซึ่งสื่อถึงความเสียสละของพ่อแม่ ที่ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดหรือยากดีมีจนอย่างไร ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ ความเหนื่อยไม่สามารถทำให้เราละทิ้งหน้าที่ความรับผิดชอบของเราไปได้เลย ทำให้นึกถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ไม่ว่าพระองค์ท่านจะทรงงานเหน็ดเหนื่อยสาหัสขนาดไหน แต่พระองค์ท่านก็ไม่เคยละทิ้งประชาชน ชีวิตนี้ตั้งปณิธาณไว้ว่า จะตั้งใจจะเลี้ยงลูกให้เขาเป็นคนที่มีประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด และสอนเขาให้รู้จักเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่แก่สังคม

ดังนั้นถ้าพวกเราทุกคน ทุกบ้าน รู้จักที่จะคิดและสอนลูก รวมทั้งช่วยกันทำ เริ่มจากครอบครัวซึ่งเป็นจุดเล็ก ๆ ของครอบครัว แต่เมื่อทำรวมกันหลาย ๆ ครอบครัวแล้ว ก็จะเป็นกำไรของสังคมอย่างมหาศาล” ภัทศาเผยความตั้งใจ

ส่วน รวิสรา สมะลาภา นิสิตสาวสวยรั้วจามจุรีบอกว่า “ประทับใจภาพยนตร์เรื่อง แว่วเสียงเพราะชื่นชอบบทเพลงพระราชนิพนธ์ Echo (เอคโค) อยู่แล้ว รวมทั้งเนื้อหาในภาพยนตร์ก็เข้าถึงง่าย และสะท้อนปัญหาสังคมไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคอร์รัปชั่น และนักเรียนยกพวกตีกัน ซึ่งหากทุกคนฉุกคิดถึงคำสอนของพ่อก็จะไม่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร สำหรับตัวเองก็น้อมนำคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาใช้ในชีวิต

เช่น ความพอเพียง และการพอใจในสิ่งที่เรามี แต่พอเพียงสำหรับมุมมองของตัวเอง ไม่ใช่แค่เรื่องความประหยัด แต่ต้องสร้างประโยชน์อื่น ๆ ต่อไปด้วย เป็นคนที่มีประโยชน์ต่อสังคม จริง ๆ การเป็นคนดีเหมือนเป็นการส่งต่ออย่างหนึ่ง มีคนเคยบอกว่าสภาพแวดล้อมหล่อหลอมคน ถ้าเราอยู่ในสังคมที่เป็นคนดี เริ่มจากเราเป็นคนดี คนรอบข้างเราก็จะเป็นคนดี และถ้าทุกคนเป็นคนดี ก็จะช่วยพัฒนาสังคมให้ดีไปได้อีกขั้นหนึ่ง”

ครอบครัวสุดน่ารักของนักร้องเสียงดี “บอย” ตรัย ภูมิรัตน ควงภรรยา พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล และลูกสาวตัวน้อย น้องชื่นใจ มารับชมภาพยนตร์ชุดดังกล่าวด้วยกัน พร้อมเผยความประทับใจ ว่า “ชอบภาพยนตร์ทั้ง ๓ เรื่อง แต่ประทับใจเรื่องค่ำแล้วมากที่สุด อาจเป็นเพราะเข้าถึงและรู้สึกไปกับเรื่องของครอบครัว รวมทั้งบทเพลงพระราชนิพนธ์นี้ก็เป็นเพลงกล่อมเด็ก ซึ่งเมื่อนำมาร้อยเรียงกับเนื้อหาของภาพยนตร์ก็เข้ากันมาก รวมทั้งทำให้นึกถึงหลักคำสอนที่พระองค์ท่านมอบให้คนไทย

ซึ่งผมรู้สึกว่า มหัศจรรย์มาก ๆ คือ เรื่องความพอเพียง ซึ่งหลักของความพอเพียง คือ การเดินสายกลาง การรู้จักประมาณตน และความพอดี ซึ่งผมคิดว่าทุกอาชีพ ไม่จำเป็นต้องเป็นภาคกสิกรรม หรือภาคการเกษตร แต่ทุกอาชีพสามารถน้อมนำแนวคิดนี้มาปรับใช้กับชีวิตของทุกคนได้เลย” บอยกล่าวความรู้สึก

ด้าน พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล เผยว่า ประทับใจเรื่อง ค่ำแล้ว มากที่สุด ทั้งเนื้อหาที่เกี่ยวกับครอบครัว รวมถึงการถ่ายทอดที่เรียบง่าย เข้าใจง่าย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ในทุก ๆ วัน อย่างตัวเองก็มีหลากบทบาททั้งเป็นลูก และเป็นแม่ อย่างตัวเองแต่งงานแล้ว ไม่ได้อยู่กับแม่ เช่นเดียวกับนางพยาบาลในภาพยนตร์ ที่แม่จะโทรศัพท์มาหา เป็นการโทรคุยกันเมื่อมีเวลาว่างจากสิ่งต่าง ๆ ก็จะไปหา และในบทบาทของแม่ที่ลูกก็ต้องการเวลาจากเราเหมือนกัน

นอกจากนี้จากการที่ได้เริ่มไปช่วยบางโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงการในพระราชดำริ ก็ทำให้ได้เห็นว่าสิ่งที่ยากที่สุด แต่ถ้าเราตั้งใจที่จะเริ่มต้น ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ เหมือนกับที่เราได้ขึ้นไปดูโครงการในพระราชดำริ ซึ่งตอนที่เราไปก็ว่าลำบากแล้ว แต่ในวันที่พระองค์ท่านเสด็จฯ ไปเมื่อ ๔๐-๕๐ ปีที่แล้ว คงลำบากกว่านี้อย่างที่จินตนาการไม่ออกเลยด้วยซ้ำ แต่วันนี้ทุกอย่างอุดมสมบูรณ์แล้ว ซึ่งทำให้รู้สึกมากว่า เพียงแค่เริ่มต้นในที่สุดเราก็สามารถเก็บดอกผลของมันได้เอง ในที่นี้ไม่ได้หมายความ ว่าทุกอย่างจะต้องประสบความสำเร็จ เพียงแต่ว่า สิ่งที่ลงมือทำก็จะให้อะไรคืนกลับมาเสมอ เมื่อเราได้เริ่มต้นที่จะทำนั่นเอง”

ท้ายสุด ชญาน์ทัต วงศ์มณี นักเขียนหน้าใหม่ไฟแรง บอกว่า “เป็นภาพยนตร์ที่ชมแล้วอิ่มใจมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งภาพยนตร์ทั้ง ๓ เรื่องนี้ เป็นกำลังใจที่สำคัญมากสำหรับคนไทย และสร้างขึ้นมาจากความรักที่มีให้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ โดยนำคำสอนต่าง ๆ ของพระองค์ท่านมาบันทึกไว้ในภาพยนตร์ทั้ง ๓ เรื่อง

ซึ่งผู้กำกับแต่ละคนก็มีวิธีการเล่าเรื่องที่แตกต่างกัน แต่ประทับใจที่สุด คือ ในดวงใจนิรันดร์ ในแง่ของความเรียบง่าย เป็นเรื่องที่ไม่ต้องมีบทสนทนา ซึ่งทุกฉากคือ ทุกสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อประชาชน พระองค์ท่านทรงอยู่กับพวกเราในทุกหนแห่งของเมืองไทย และอยู่ในดวงใจนิรันดร์จริง ๆ

“สำหรับผมสิ่งที่เห็นมาตลอดคือ พระองค์ท่านไม่ได้ทรงงานอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม แต่จะเสด็จฯ ไปในทุกที่ของประเทศไทย ไม่ว่าหนทางจะทุรกันดารขนาดไหน ก็ทรงเสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียนพสกนิกรของพระองค์ เพื่อจะได้รับรู้และเข้าใจปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง

ทำให้ย้อนกลับมามองตัวเองในเรื่องงาน เวลาทำงานบางคนอาจจะใช้วิธีการที่ง่ายหน่อยคือ เสิร์ชหาข้อมูล ซึ่งทำได้ง่ายในยุคนี้ และคิดว่าสิ่งนั้นคงเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่การที่ไปหาข้อมูลถึงที่ การได้คุยกัน และได้อยู่ในสถานการณ์นั้นจริง ๆ และพยายามเข้าใจ รวมทั้งตกผลึกให้ได้ว่าปัญหาจริง ๆ คืออะไร ก็จะได้ทางออกที่ดี เหมือนกับที่พระองค์ท่านทรงทำมาโดยตลอด และทำให้รู้สึกว่า แค่เพียงเรื่องการแก้ปัญหาอย่างตรงจุดโดยเข้าใจอย่างจริง ๆ ก็เป็นเรื่องที่ใช้ได้ตลอดชีวิตแล้ว”

ร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรผ่านภาพยนตร์สั้นและภาพยนตร์ประกอบเพลงพระราชนิพนธ์สามเรื่อง ชุด “ค่ำแล้ว แว่วเสียง…ในดวงใจนิรันดร์” ที่สร้างจากแรงบันดาลใจจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ Singha Corporation, LINE TV รวมทั้งสื่อออนไลน์และสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน