ด้วยหัวใจที่รักและตระหนักคุณค่าของมรดกที่บรรพบุรุษสร้างไว้ในอดีต จนเจริญมั่นคงในปัจจุบัน อันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมที่ถือเป็นมรดกของชาติด้วย

ตระกูล “หวั่งหลี” ในฐานะผู้ถือครอง จึงริเริ่มโครงการ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำพระยา โดยบริษัท ชิโน พอร์ท จำกัด ในฐานะผู้บริหารโครงการฯ ได้จัดงานเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ โดยมี กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน

พิธีจัดอย่างยิ่งใหญ่ตระการไปแล้วเมื่อต้นเดือนพ.ย. ท่ามกลางผู้หลงใหลในศิลปวัฒนธรรมจีนจากหลากหลายวงการร่วมงานคับคั่ง อาทิ อานันท์ ปันยารชุน, อาสา สารสิน, ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี, ทศ จิราธิวัฒน์, ศุภลักษณ์ อัมพุช, ฐาปน สิริวัฒนภักดี, คีรี กาญจนพาสน์, ไพโรจน์ ล่ำซำ, บรรยงค์ ล่ำซำ, นวลพรรณ ล่ำซำ, สาระ ล่ำซำ, วรรณพร พรประภา, อมรพิมล วีรวรรณ, วรวุฒิ อัจฉริยศรีพงศ์ ฯลฯ


โดยมีครอบครัวตระกูล “หวั่งหลี” ทำหน้าที่เจ้าบ้านต้อนรับอย่างอบอุ่น อาทิ สุกิจ หวั่งหลี, วุฒิชัย หวั่งหลี, สุจินต์ หวั่งหลี, ธรรมนูญ หวั่งหลี, สุชาติ หวั่งหลี, ชลันต์ หวั่งหลี, สุเทพ หวั่งหลี, พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, ดร.ศรัณฐ์ หวั่งหลี, อนรรฆ หวั่งหลี ฯลฯ ณ โครงการ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ถ.เชียงใหม่ เขตคลองสาน

หลายคนสงสัยว่าโครงการล้ง 1919 มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมจึงได้รับความสนใจจากผู้คนมากมาย หลากหลายวงการ??

ชื่อ “ล้ง” มาจากชื่อเดิมของสถานที่แห่งนี้ ที่มีชื่อว่า “ฮวย จุ่ง ล้ง” เป็นภาษาจีน หมายถึง “ท่าเรือกลไฟ” ซึ่งทุกวันนี้รู้จักในนามโกดังบ้าน “หวั่งหลี” ตั้งอยู่ ณ สุดถนนเชียงใหม่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับย่านตลาดน้อย-เยาวราช

สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2393 โดย พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ต้นตระกูลพิศาลบุตร ซึ่งเป็นคนจีนที่เกิดบนแผ่นดินสยาม โดยบรรพบุรุษของท่านได้เดินทางจากเมืองจีนมาค้าขาย และตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ โดยท่าเรือนี้มีพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ พร้อมพื้นที่อาคาร 6,800 ตารางเมตร


ท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” คือท่าเรือกลไฟ ซึ่งคือเรือโดยสารหรือบรรทุกสินค้าที่ใช้ฟืนเป็นต้นเชื้อเพลิง มีขนาดใหญ่กว่าเรือไฟ นิยมใช้แล่นในทะเลหรือมหาสมุทร โดยชาวจีนในอดีตนิยมใช้เดินทางทางทะเลเพื่อเข้ามาค้าขายหรือย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่ประเทศไทย และได้มาเทียบท่าเรือขึ้นฝั่งที่ท่าแห่งนี้

นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งการค้าธุรกิจ โดยตัวอาคารท่าเรือเป็นร้านค้าและโกดังเก็บสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ฯลฯ


ต่อมาเมื่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเข้ามามีบทบาทในการค้ากับต่างชาติมากขึ้น ท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ค่อยๆลดบทบาทลง ในปี พ.ศ. 2462 ตระกูล “หวั่งหลี” โดย นายตัน ลิบ บ๊วย จึงเข้ารับช่วงเป็นเจ้าของต่อจากตระกูลพิศาลบุตร และได้ปรับท่าเรือดังกล่าวให้กลายเป็นอาคารสำนักงาน และโกดังเก็บสินค้าสำหรับกิจการการค้าด้านการเกษตรของตระกูลหวั่งหลี ที่ขนส่งมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นที่อยู่อาศัยให้เช่าราคากันเองสำหรับพนักงานของตระกูลหวั่งหลี


รวมถึงเก็บรักษาศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) ที่ประดิษฐานอยู่คู่กับท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน


สำหรับ “เจ้าแม่หม่าโจ้ว” (คลองสาน) หรือ MAZU ที่ประดิษฐานอยู่คู่ “ฮวย จุ่ง ล้ง” มีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน เป็นเจ้าแม่หม่าโจ้วโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ทำจากไม้ มี 3 ปาง ได้แก่ ปางเด็กสาว (ปางจุ้ยบ๋วยเนี้ย) ตำนานเล่าว่าท่านชอบปฏิบัติธรรม ในตอนเช้าจะไปเก็บน้ำค้าง มารักษาผู้คน ปางนี้จึงให้พรด้านการขอบุตร

ปางที่สองคือ ปางผู้ใหญ่ (ปางให่ตั้งหม่า) ให้พรในด้านการค้าขายเงินทอง และปางที่สามคือ ปางเทพ (ปางเทียนโหวเซี่ยบ้อ) ซึ่งเชื่อว่าท่านเป็นเทพประทับอยู่บนสวรรค์ มีเมตตาจิตสูง


ซึ่งเจ้าแม่หม่าโจ้ว ทั้ง 3 ปางนี้ เป็นองค์ที่ชาวจีนนำขึ้นเรือเดินทางมาจากเมืองจีน เมื่อมาถึงเมืองไทยจึงอัญเชิญประดิษฐานที่ศาลแห่งนี้ อายุเก่าแก่มากกว่า 167 ปี เวลาคนจีนเดินทางจากโพ้นทะเลมาถึงฝั่งประเทศไทย ก็จะมากราบสักการะท่านเพื่อเป็นการขอบคุณที่ช่วยคุ้มครองให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ และเมื่อจะเดินทางกลับไปประเทศจีนก็จะมากราบลาเจ้าแม่ที่นี่เช่นกัน

“เจ้าแม่หม่าโจ้ว” (คลองสาน) จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนจีนในแผ่นดินไทย ซึ่งคนจีนที่ทำการค้าในไทยจนเจริญร่ำรวยเป็นเศรษฐีก็ล้วนก่อร่างสร้างตัวมาจากที่นี่


ในส่วนของรูปแบบสถาปัตยกรรม “ฮวย จุ่ง ล้ง” ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีนซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน พื้นสร้างจากไม้ หลังคาสร้างจากกระเบื้อง เป็นหมู่อาคารแบบ “ซาน เหอ ย่วน” ซึ่งเป็นการออกแบบวางผังอาคารในแบบจีนโบราณ ลักษณะอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกัน 3 ด้าน เป็นผังรูปทรงตัว U มีพื้นที่ว่างตรงกลางระหว่างอาคารทั้งสามหลังเป็นลานอเนกประสงค์

ตัวอาคารถูกใช้สำหรับหลายวัตถุประสงค์ อาคารด้านในที่ตั้งขนานกับแม่น้ำเป็นอาคารประธาน เป็นที่ตั้งของ “ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว” (คลองสาน) ส่วนอาคารอีก 2 หลังที่ตั้งฉากกับแม่น้ำ ใช้สำหรับเป็นอาคารสำนักงานและโกดังสินค้า ภายหลังมีการสร้างโกดังเพิ่มเติมที่ริมฝั่งแม่น้ำ ต่อจากอาคารทั้ง 2 ข้าง เพื่อรองรับการเก็บสินค้าจำนวนมาก และการเปลี่ยนแปลงของอาคารดั้งเดิมที่กลายเป็นที่อยู่อาศัยของพนักงานหวั่งหลี

ด้วยคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ของ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ซึ่งเป็นอาคารหมู่เรือนแถวไม้ที่ออกแบบด้วยการวางผังสถาปัตยกรรม “ซาน เหอ ย่วน” แบบจีนโบราณ เป็นเพียงไม่กี่หลังที่ยังหลงเหลืออยู่บนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา งดงามด้วยจิตรกรรมฝาผนังลวดลายอันเป็นมงคลและภาพวิถีชีวิต ที่เป็นเรื่องราวมาจากนวนิยายจีนโบราณเรื่องดัง บนผนังปูนรอบหน้าต่างและประตู ซึ่งมีอายุเก่าแก่มากกว่า 167 ปี

“ฮวย จุ่ง ล้ง” จึงถูกยกฐานะเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ตามกฎหมายการอนุรักษ์ของประเทศไทย ลูกหลานของตระกูลหวั่งหลีผู้เป็นเจ้าของถือครองจึงมีเจตนารมณ์ที่จะรักษามรดกของบรรพบุรุษชิ้นนี้ไว้ให้คงอยู่ตราบนาน

โครงการบูรณะท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ขึ้น จึงได้ริเริ่มขึ้น

โดยตระกูล “หวั่งหลี” ในฐานะเจ้าของ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ตระหนักถึงคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ ที่นอกจากจะเป็นมรดกของบรรพบุรุษที่ลูกหน้าจะต้องดูแลให้ดีที่สุดแล้ว ยังเป็นเสมือนมรดกของชาติอีกด้วย ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพในการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการพัฒนา จึงทุ่มงบจำนวนมากสำหรับโครงการบูรณะเชิงอนุรักษ์ท่าเรือที่มีสภาพทรุดโทรมมาอย่างยาวนาน

ให้กลายเป็นโครงการ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีนริมแม่น้ำเจ้าพระยา แหล่งท่องเที่ยวแนว Heritage ที่โดดเด่นด้วยศิลปะและสถาปัตยกรรมที่บอกเล่าประวัติศาสตร์อันสำคัญของชาติ


นอกจากเป็นมรดกของครอบครัวผู้เป็นเจ้าของแล้ว ยังเป็นมรดกของชาติอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้คนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้มาสัมผัสประสบการณ์นี้ ณ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเพื่อให้สถานที่แห่งนี้ดำรงอยู่ได้ พร้อมเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้ โดยคำนึงถึงผลประกอบการจากการประกอบธุรกิจควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สถานที่นี้บริหารตัวเองต่อไปได้อย่างยั่งยืน


ดังนั้น “ฮวย จุ่ง ล้ง” จึงถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ สำหรับการจัดกิจกรรม งานเลี้ยงรังสรรค์ ลานการแสดงกลางแจ้ง ร้านอาหารระดับพรีเมี่ยม อาหารจีน อาหารสตรีตฟู้ด ร้านกาแฟ ร้านจำหน่ายสินค้าศิลปะและงานฝีมือของเหล่าศิลปินรุ่นใหม่ สถานที่พักผ่อน และแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ไทยจีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยากรุงเทพมหานคร

โดยผู้ที่ดูแลโครงการสำคัญนี้ คือ รุจิราภรณ์ หวั่งหลี เจ้าของบริษัท พี ไอ เอ อินทีเรีย จำกัด (PIA Interior Company Limited) บริษัทอินทีเรียฝีมือคนไทย ที่เริ่มเข้ามาพัฒนาสถานที่นี้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 โดยภายหลังจากมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2560 ก็เปิดให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน

ซึ่งเป็นการบูรณะเชิงอนุรักษ์ ที่ยึดหลักการรักษาสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ไว้ให้คงสภาพงดงามตามสภาพที่หลงเหลือจนถึงปัจจุบัน ด้วยการใช้วิธีการบูรณะและวัสดุแบบโบราณ เช่น จิตรกรรมฝาผนังที่อยู่บนขอบประตูและหน้าต่างให้คงสภาพเดิมโดยใช้วิธีแบบโบราณ ด้วยการใช้สีที่ตรงกับของเดิมมากที่สุด ค่อยๆ บรรจงแต้มเติมรอยจางให้ชัดขึ้น โดยไม่ได้เอาสีสมัยใหม่เข้าไประบายทับหรือวาดเพิ่มเติม หรือผนังอิฐส่วนที่แตกร่อนก็คงสภาพไว้ตามนั้น บูรณะโดยการใช้ปูนจากธรรมชาติแบบโบราณมายาช่วงรอยต่อที่แตก เพื่อไม่ให้ปูนหลุดร่อนไปมากกว่าเก่า


ส่วนโครงสร้างไม้สักนั้น ส่วนไหนที่ชำรุดก็นำไม้จากส่วนอื่นๆ ของอาคารมาต่อเติม และเก็บรักษาวัสดุเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะหัวใจสำคัญคือต้องรักษารูปทรงเดิมไว้

สำหรับโครงการ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ประกอบด้วยส่วนสำคัญต่างๆ ดังนี้

1. ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) อายุมากกว่า 167 ปี สิ่งศักดิ์สิทธิ์และศูนย์รวมจิตใจ ของชาวจีนในแผ่นดินไทย

2. อาคารจัดงานอีเวนต์ขนาดใหญ่


3. เวทีการแสดงและกิจกรรมกลางแจ้ง

4. ร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Art & Craft (อาร์ต แอนด์ คราฟท์) ฝีมือศิลปินไทยรุ่นใหม่ 8 ร้าน ได้แก่

* ร้าน Neighbor (เนเบอร์) คือ การรวมกันของ 3 แบรนด์หลัก ได้แก่ Neighbor (เนเบอร์), Zettino (เซ็ทติโน่) และ Akati (อคติ) เพื่อทำร้าน Selected Shop ชื่อร้านมาจากความรู้สึกของ 3 แบรนด์ที่มาจาก 3 บ้าน เมื่อเรามาใช้ชีวิตอยู่รวมกัน ก็เหมือนเป็นเพื่อนบ้านกัน ทุกคนคือการเรียนรู้วัฒนธรรมจากความต่าง เพื่อความลงตัวของร้านนี้

โดยสินค้าหลักๆ ในร้านคือ สินค้าไลฟ์สไตล์ ที่มีตัวตนชัดเจน แต่สามารถกลมกลืนและเกิดเป็นบริบทใหม่ให้กับพื้นที่แห่งนี้ เช่นเดียวกับที่เรากำลังจะกลายมาเป็นเพื่อนบ้านกับ ล้ง 1919 ความพิเศษคือ สินค้าบางชิ้นถูกผลิตขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมเพื่อเชื่อมต่อความรู้สึกของผู้คนที่มาเยือน โทร. 090-976-2113 , 088-950-5564

* ร้าน ZETTINO (เซ็ทติโน่) แบรนด์เครื่องหนังชาย สร้างสรรค์โดย โชติ จินดารัตนชลกิจ, ภัสมน สง่าเมือง, พิชญ์ เล็กสกุล และ ธัญนันท์ อุดมดีพลังชัย โทร. 088-950-5564


* ร้าน AKATI (อคติ) แบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายสไตล์เรียบง่าย คอนเซ็ปต์พิเศษสำหรับ ล้ง 1919 คือ การออกแบบ Collection พิเศษโดยใช้ปลากัดเป็นธีมหลัก โดยปักลายปลากัดลงบนสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหมวก, เสื้อยืด และของตกแต่งต่างๆ สร้างสรรค์โดย อัคฆภูมิ ฐิตะกสิกร และ อาทร สินธรชัยกุล โทร. 090-976-2113

* ร้าน Hummingbird studio (ฮัมมิ่งเบิร์ด สตูดิโอ) สินค้าและงานศิลปะเชิงทดลองกับงานพืชพรรณ และสบู่ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ สร้างสรรค์โดย วิลาศินี จอนเจิดสิน โทร. 090-908-5566

* ร้าน AGO (อะโก) ร้านจำหน่าย The Selected Shop จากผลิตภัณฑ์ Designed Product หลากหลายแบรนด์ สร้างสรรค์โดย รวมพร ถาวรอธิวาสน์ โทร.081-928-2199

* ร้าน NINE Accessories (นาย เครื่องประดับ) จำหน่ายเครื่องประดับดีไซน์ สร้างสรรค์โดย อาณัติ วรรธนะรุจ โทร. 097-2200-796

* ร้าน San (ซาน) จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์สไตล์จีน ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและกระเป๋าลายทอมือ แบรนด์ PANGA สร้างสรรค์โดย แป้ง คงสิริ โทร. 084-099-7017

* ร้าน TAY The Selected Shop (เท เดอะ ซีเล็คเต็ด ช็อป) จำหน่ายหมวกปานามา, ผ้ามัดย้อม, ผ้าพันคอ, เฟอร์นิเจอร์สไตล์ชิค สร้างสรรค์โดย ติณณวิชญ์ อันต์พิชัยเดช โทร. 087-515-9618

* ร้าน MINE CRAFTERIA (มายน์ คราฟเทอเรีย) เวิร์กช็อปเครื่องหนัง กระเป๋า+รองเท้า สไตล์มินิมอล สร้างสรรค์โดย อุษณา สินธนาวีวงศ์ โทร. 094-656-8982

* ร้าน Poungphet by BPC (พวงเพชร บาย บีพีซี) ผู้ผลิต Handmade Ceramics จากลำปางมากว่า 20 ปี งานแต่ละชิ้นของ Poungphet By BPC ค่อนข้างมีเอกลักษณ์ในด้านสีและพื้นผิว โดย พวงเพชร Designer เป็นผู้ออกแบบและคิดค้นวิธีการผลิตที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยผสมผสานวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติเพื่อใช้ในการผลิตและงานทุกชิ้นผลิตโดยช่างฝีมือท้องถิ่นที่มีประสบการณ์และชำนาญงานโดยเฉพาะ นอกจากนี้ BPC ยังผลิตงาน Ceramics ให้กับแบรนด์ชั้นนำทั่วโลก สร้างสรรค์โดย ภคินี ไชยชนะ และ ธิดารัตน์ พรรคชนกร โทร.081-808-2068

* ร้าน ROOM 5 D (รูม ไฟว์ ดี) จำหน่ายแอคเซสเซอรี่ดีไซน์ แว่นตา, ต่างหู สร้างสรรค์โดย จตุพร วงศ์ทอง โทร.095-505-7240

5. ร้านอาหาร-คาเฟ่ไลฟ์สไตล์ และร้านค้าจำหน่ายสินค้าพรีเมี่ยมต่างๆ อาทิ ร้าน Karmakamet (คาร์มาคาเม็ท) ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องหอมนานาชนิด, ร้าน Lotus Arts de Vivre (โลตัส อาร์ต เดอ วีฟ) ร้านจำหน่ายงานสินค้าดีไซน์ อาทิ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ


ร้านเพลินวาน พาณิชย์ ร้านอาหารไทยและคาเฟ่สไตล์ย้อนยุค, ร้านโรงสี ร้านอาหารพรีเมี่ยม บริหารโดย อัจฉรา บุรารักษ์, ร้านนายห้าง ร้านอาหารสตรีทฟู้ดระดับพรีเมี่ยม บริหารโดย ประเวฒิวุฒิ ไรวา, ร้านลมโชย ร้านก๋วยเตี๋ยว บริหารโดย เอ-ศุภชัย ศรีวิจิตร


6. บริเวณที่นั่งพักผ่อนระเบียงริมแม่น้ำเจ้าพระยา

7. ท่าเรือหวั่งหลี ท่าเรือสัญจรทางแม่น้ำเจ้าพระยา

8. สถานที่ศึกษาประวัติศาสตร์ไทย-จีน ผ่าน อาคารเรือนไม้สถาปัตยกรรมจีนโบราณ และ จิตรกรรมฝาผนังจากปลายพู่กันนายช่างจีนโบราณ


สถานที่ตั้ง : 248 ถนนเชียงใหม่ แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร 10600

ติดต่อสอบถาม : โทร. 091-187-1919 หรือทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ LHONG 1919

วันเวลาเปิดบริการ : ทุกวัน โดยโซนศาลเจ้าแม่ + Art & Craft Shop เปิด 08.00 – 20.00 น. ส่วน Eatery Zone เปิด 10.00 – 22.00 น.


การเดินทาง

โดยรถยนต์ส่วนตัว : ถนนเจริญกรุง แล้วเข้าถนนเชียงใหม่ ตรงมาเกือบสุดซอย ที่จอดรถขวามือ

โดยเรือ : ลงท่าเรือหวั่งหลี และท่าเรือสวัสดี

โดย BTS : สถานีกรุงธนบุรี ประตูทางออก 3 ต่อรถโดยสารสาธารณะ และสถานีสะพานตากสิน ทางออกประตู 2 ต่อเรือโดยสารสาธารณะ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน