ชวนรู้จัก ‘เมือง15นาที’ เทรนด์เมืองแนวใหม่ จะไปไหนมาไหนก็แค่ 15 นาที เน้นคุณภาพชีวิตประชาชน มีหลายเมืองบนโลกทำสำเร็จแล้ว มาดูกันว่ามีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร

Architonic

หากพูดคำว่า ‘ผังเมือง’ หลายคนอาจจะนึกไม่ออกว่า ผังเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนเราอย่างไร แต่ทราบหรือไม่ว่า หากประเทศใดมีผังเมืองที่ดี พลเมืองประเทศนั้น ๆ ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยผังเมืองที่ดี จะมีลักษณะที่เน้นสถานที่สาธารณะที่น่าใช้ ทำให้คนที่เข้าไปใช้รู้สึกปลอดภัย ได้รับการปรับปรุงดูแลอยู่เสมอ มีระบบการเดินทางหรือขนส่งสาธารณะที่ดี ไปไหนมาไหนได้สะดวก ไม่ต้องต่อรถหลายต่อ โดยเน้นการทำให้เมืองเป็นของทุกคน ไม่ใช่เอื้ออำนวยความสะดวกสำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

DPZ

การวางผังเมืองที่ดีคือ การวางแผนการออกแบบเมืองอย่างยั่งยืน ก่อนหน้านี้ แนวคิดเหล่านี้มักถูกมองว่าเป็นแค่เพียงคำกล่าวให้ดูสวยหรูทางการเมือง แต่ปัจจุบันมีเมืองต่าง ๆ บนโลก พยายามพัฒนาปรับปรุงเมืองให้เป็นของทุกคนมากขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ปัจจุบันมีแนวคิดเทรนด์เมืองแนวใหม่ขึ้นมา ที่เรียกว่า “เมือง 15 นาที”

DPZ

เมือง 15 นาที เป็นแนวคิดเมืองที่ชาวเมืองทุกคนสามารถไปไหนมาไหน ไม่ว่าจะไปซื้อของ ไปเรียน ไปทำงาน ไปพักผ่อน ได้ภายในระยะเดินสั้นๆ หรือขี่จักรยานออกจากบ้าน แนวคิดนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก นาย คาร์ลอส โมเรโน นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส-โคลอมเบีย โดยเมือง 15 นาทีนี้ ไม่ได้หมายความว่า ทั้งเมืองใหญ่จะกลายเป็นเมือง 15 นาที แต่หมายถึง เมือง 15 นาทีเล็ก ๆ จะถูกสร้างขึ้นต่อเนื่องกัน โดยหากต้องการข้ามไปเมืองอื่นจึงค่อยใช้รถยนต์นั่นเอง ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเทศได้นำแนวคิดนี้ไปใช้ตามเมืองต่าง ๆ เช่น ในประเทศฝรั่งเศส จีน สิงคโปร์ โคลัมเบีย ออสเตรเลีย เป็นต้น

Architonic

ข้อดีของแนวคิด เมือง 15 นาที คือ การลดความเหลื่อมล้ำ-สร้างความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับชาวเมือง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มีรถยนต์ แต่ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงทุกสถานที่ในเมืองได้อย่างง่ายดาย โดยลดความจำเป็นในการพึ่งพาระบบขนส่งสาธารณะลดลง ซึ่งจะช่วยการใช้ลดเชื้อเพลิง และช่วยเรื่องภาวะโลกร้อนได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ช่วยให้ชาวเมืองสามารถประหยัดเวลาและปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

Architonic

ในขณะที่หลายเมืองได้ใช้นโยบายที่คล้ายกับแนวคิดเมือง 15 นาที แต่ แนวคิดนี้ ก็ยังถูกวิจารณ์ว่าแนวคิดนี้มีประโยชน์ต่อผู้อยู่อาศัยจริงหรือไม่ นักวิชาการบางคน ระบุว่า การแบ่งพื้นที่ ที่เน้นการเดินเท้าเช่นนี้ อาจนำไปสู่การแบ่งแยกและย้ายถิ่น และอาจส่งผลกระทบเชิงลบกับกลุ่มคนชายขอบ เช่น กลุ่มผู้พิการ กลุ่มคนสูงวัย ที่ไม่สะดวกในการเดินหรือขับขี่จักรยาน และยังคงต้องพึ่งพาระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งแนวคิดนี้ อาจใช้ได้เพียงเฉพาะเมืองที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ไม่ได้เป็นเมืองใหญ่ที่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบขนส่งสาธารณะ

Photo : Jill jennings

ขอบคุณข้อมูล CNU

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน