น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

ประเทศเลโซโทมีกษัตริย์เสด็จมาในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 9 ด้วย อยากทราบถึงประเทศนี้

มารตี

ตอบ มารตี

ประเทศเลโซโท หรือ ราชอาณาจักรเลโซโท (Kingdom of Lesotho) ดินแดนที่มีคำขวัญว่า “สันติภาพ ฝน มั่งคั่ง” และเพลงชาติที่ชื่อ “Lesotho Fatse La Bontata Rona – เลโซโท ที่ดินของบรรพบุรุษของเรา”

เป็นประเทศขนาดเล็กในทวีปแอฟริกา มีพื้นที่ทั้งหมด 30,355 ตารางกิโลเมตร พรมแดนถูกล้อมรอบด้วยประเทศแอฟริกาใต้ทุกทิศ ทำให้ไม่มีทางออกสู่ทะเล ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาและที่ราบสูง และด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400-1,800 เมตร จึงทำให้มีหิมะปกคลุม เป็นเพียงไม่กี่ประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีหิมะ

เลโซโทเป็น 1 ใน 3 ประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อีก 2 ประเทศคือโมร็อกโกและสวาซิแลนด์ ขณะที่ด้านประชากร เป็นประเทศที่ไม่มีปัญหาเรื่องเชื้อชาติเหมือนหลายประเทศในทวีปแอฟริกา เพราะประชากรที่มีประมาณ 2,000,000 คน ร้อยละ 99.7 เป็นชนเผ่าโซโท

เดิมประเทศนี้มีชื่อว่า บาซูโต ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2361 โดยมี สมเด็จพระราชาธิบดีโมโชโชที่ 1 เป็นผู้ปกครอง ต่อมาชนเผ่าซูลู และคนผิวขาว เข้าไปตั้งหลักแหล่งในประเทศ และถูกแอฟริกาใต้รุกราน บาซูโต จึงต้องขอรับความคุ้มครองจาก รัฐบาลสหราชอาณาจักร และมีฐานะเป็นรัฐในปกครองของ สหราชอาณาจักร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2411 ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2509 จึงได้ประกาศเอกราชและเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น เลโซโท

เลโซโทมีเมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดคือมาเซรู มีรูปแบบการปกครองแบบ ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติรัฐสภาแบบ 2 สภา ประกอบด้วยวุฒิสมาชิก 33 คน (ซึ่งในจำนวนนี้ 11 คน กษัตริย์เป็นผู้เสนอและพรรครัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งอีก 22 คน มาจากหัวหน้าเผ่าต่างๆ) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 65 คน ซึ่งอยู่ในวาระคราวละ 5 ปี ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วย ศาลสูง ศาลอุทธรณ์ ศาลพิพากษา และศาลพื้นเมือง

ประเทศเลโซโทมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศแอฟริกาใต้ตั้งแต่ปี 2538 หลังจากที่ เนลสัน แมนเดลา ประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้เดินทางไปเยือน โดยพัฒนาความสัมพันธ์บนพื้นฐานของการมีผลประโยชน์ร่วมกัน

ที่สำคัญได้แก่โครงการสร้างเขื่อนและอุโมงค์ส่งน้ำขนาดใหญ่ เพื่อส่งน้ำจากเลโซโทไปให้แอฟริกาใต้ อันทำรายได้ให้เลโซโทปีละประมาณ 70 ล้านดอลลาร์ และสร้างงานให้ชาวเลโซโทประมาณ 10,000 คน

นอกเหนือจากการส่งน้ำให้แอฟริกาใต้แล้ว ก็มีการทำเหมืองเพชรและสินแร่อื่นๆ การเกษตรกรรม เช่น การปลูกข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และการปศุสัตว์ แต่ปัญหาสำคัญของประเทศคือ ผลิตอาหารได้ไม่พอเพียง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศถึงร้อยละ 70 ของการบริโภค ทำให้ขาดดุลการค้าปีละประมาณ 900 ล้านดอลลาร์อย่างต่อเนื่อง

สำหรับความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรไทย ไทยและเลโซโท สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2532 โดยไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย แอฟริกาใต้ มีเขตอาณาครอบคลุมเลโซโท และเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรียดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำเลโซโทอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

ส่วนเลโซโทได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตเลโซโท ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย และได้แต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำประเทศไทย

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปเลโซโท ได้แก่ กระดาษ เยื่อกระดาษและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ในครัวและบ้านเรือน น้ำมันสำเร็จรูป ปูนซีเมนต์ สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากเลโซโท ได้แก่ กุ้งสดแช่เย็นและแช่แข็ง ยากำจัด ศัตรูพืช ไม้ซุง ไม้แปรรูปและไม้อื่นๆ เคมีภัณฑ์ เมล็ดพืช น้ำมัน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน