ฟุตบอลประเพณีระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ กับ​ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ เป็นหนึ่งในกิจกรรมกีฬาที่ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก ซึ่งสิ่งที่มีคู่กับงานฟุตบอลประเพณีตลอดมา ก็คือ ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว

เมื่อวันที่ 23​ ต.ค.​ 2564​ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ได้ออกแถลงการณ์คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ เพื่อยุติการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม

จากมติในวาระการประชุมสามัญครั้งที่ 1/2564 ของคณะกรรมการบริหารฯ จึงมีมติ 29 : 0 เสียง เห็นควรให้มีการยกเลิกกิจกรรม มิให้คงอยู่ในสถาบันการศึกษาอีกต่อไป ดังนั้น ทางทีมข่าวสดจะพาไปย้อนประวัติความเป็นมาของประเพณีการอัญเชิญพระเกี้ยว

ตาม ข้อมูลจากเว็บไซต์หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสร้างพระเกี้ยว

ซี่งจำลองจากพระเกี้ยวองค์จริงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพิจิตรเรขาประจำพระองค์ ทำให้ส่วนหนึ่งในขบวนที่สามารถดึงดูดผู้ชมในพิธีเปิดได้ก็คือ ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวและตราธรรมจักร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยทั้งสองสถาบัน

การอัญเชิญตราสัญลักษณ์ เข้ามาในขบวนพาเหรดของงานฟุตบอลประเพณีฯ ที่เก่าแก่ที่สุด จากหนังสือพิมพ์สยามนิกร (พิเศษ) ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม 2507 มีผู้อัญเชิญเป็นนิสิตหญิงเพียงคนเดียว และองค์พระเกี้ยวมีขนาดเล็กกว่าองค์พระเกี้ยวจำลองที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งการอัญเชิญตราสัญลักษณ์เข้ามาในสนามแข่งขันนั้นเหมือนเป็นพิธีการเปิดงาน

การอัญเชิญตราพระเกี้ยวเปรียบเสมือนการอัญเชิญพระพุทธเจ้าหลวงทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งเป็นผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยเข้ามาในงานและอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่นักกีฬาและเหล่ากองเชียร์

แต่ทว่าไม่สามารถให้นิสิตจุฬาฯ ทุกคนขึ้นอัญเชิญพระเกี้ยวได้ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคัดเลือกนิสิตจุฬาฯ ที่มีความเหมาะสม มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งรูปร่าง หน้าตา บุคลิกภาพ การวางตัว กิริยา มารยาท ผลการเรียน ตลอดจนมีความรู้รอบเหมาะสมกับการเป็นตัวแทนนิสิตจุฬาฯ ซึ่งนิสิตที่ทำหน้าที่อัญเชิญพระเกี้ยวนี้ ถือได้ว่าเป็นภาพลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพจาก CU100 Chula

จากหนังสือฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 51 ในสมัยก่อนการคัดเลือกผู้อัญเชิญนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ ที่จะเป็นเครื่องยืนยันเกี่ยวกับขั้นตอนต่าง ๆ และคุณสมบัติโดยละเอียด

“ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวเป็นตัวแทนของนิสิตจุฬาฯ ที่จะอัญเชิญสัญลักษณ์สูงสุดของมหาวิทยาลัยในงานฟุตบอลประเพณีฯ ดังนั้นจึงควรมีความเป็นนิสิตจุฬาฯ อย่างสมบูรณ์ กล่าวคือควรจะเป็นผู้มีความพร้อมในแง่วิชาการและบุคลิกภาพ”

“เพราะนอกจากหน้าที่ในการอัญเชิญพระเกี้ยวในวันงานแล้วยังต้องเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยที่จะประชาสัมพันธ์งานฟุตบอลประเพณี และแสดงถึงภาพลักษณ์ของนิสิตจุฬาฯ ที่ดีสู่สังคม”

จิระนันท์ พิตรปรีชา (ซ้าย)

ในสมัยก่อนจำนวนผู้อัญเชิญพระเกี้ยวมีตั้งแต่เป็นนิสิตผู้หญิงคนเดียว นิสิต 2 คน นิสิตหญิง-ชาย 2 คู่ มาจนถึงในปัจจุบันที่เป็นนิสิตชาย 1 คน นิสิตหญิง 1 คน เพื่อให้ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวเป็นตัวแทนของนิสิต จุฬาฯ

อีกเหตุผลหนึ่งคือเพื่อเปลี่ยนมุมมองของบุคคลภายนอกที่มักจะคิดว่าผู้หญิงเชิญพระเกี้ยวเป็นผู้ที่สวยที่สุดของจุฬาฯ เท่านั้น แต่ที่แท้จริงแล้วผู้อัญเชิญฯ ต้องเป็นผู้ที่มีความเป็นจุฬาฯ มากที่สุดต่างหาก

ฟาง ธนันต์ธรญ์

ตามมติที่ประชุมฝ่ายขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวและที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานกิจการนิสิต (ที่ประชุมอาจารย์) ได้กำหนดคุณสมบัติไว้ดังนี้

1. เป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 เพศชาย 1 คน เพศหญิง 1 คน

2. เกรดเฉลี่ยสะสม 2.5 ขึ้นไป

3. มีบุคลิกภาพดี

4. เคยมีส่วนร่วมในกิจกรรมทั้งของคณะและของมหาวิทยาลัย

5. มีความประพฤติดีสมกับเป็นตัวแทนของนิสิตจุฬาฯ

เมื่อได้หลักการและคุณสมบัติแล้วก็จะจัดส่งไปยังหัวหน้านิสิตคณะต่าง ๆ เพื่อคัดตัวแทนของคณะ จากนั้นก็ถึงขบวนการที่สำคัญที่สุดคือ การสัมภาษณ์โดยคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมที่สุด โดยคำถามส่วนใหญ่ก็จะวัดปฏิภาณ ไหวพริบของผู้สมัครแต่ละคน

ซึ่งผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงก็จะได้รับการคัดเลือกเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว

ขอบคุณที่มาจาก หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน