สาวมีอาการกรดไหลย้อน อ้วกบ่อย หาหมอครึ่งปีไม่หาย ที่แท้ป่วยประหลาด-โรคอะคาเลเซีย หลอดอาหารผิดปกติ ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แถมไม่มีวิธีป้องกัน

หลินเซียงหง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบทางเดินอาหาร ตับ และท่อน้ำดี ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ Hexin Minquan Health Management Clinic เผยเรื่องราวของหญิงวัย 30 ปีที่คาดว่าตนเองปวดท้องและเป็นโรคกรดไหลย้อน ซึ่งเธอพบแพทย์มาเป็นระยะเวลา 6 เดือน

แม้ว่าเธอจะทานยาสม่ำเสมอ เลิกดื่มกาแฟ และทานของหวาน อาการของเธอไม่ดีขึ้นเลย เธอเริ่มกลืนอาหารไม่ได้ อาเจียนทุกวัน เมื่อเธอนอนลง อาหารและน้ำจะพุ่งขึ้นมาส่งผลให้เธอสำลักในลำคอและไอ แถมยังน้ำหนัดลดลงไป 5 กิโลกรัมจึงตัดสินใจพบแพทย์เฉพาะทาง ก่อนจะช็อกสุดขีด เมื่อผลการตรวจอย่างละเอียดแล้ว พบว่ามีการวินิจฉัยว่าเป็นอีกอาการหนึ่งที่ไม่คาดคิด

ดร.หลินเซียงหง เชื่อว่าอาการนี้ไม่เหมือนกับอาการกรดไหลย้อนแบบทั่วไป และผู้หญิงคนนั้นไม่สูบบุหรี่หรือดื่มสุรา ดังนั้น จึงไม่น่าจะเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ หลังจากปรึกษาหารือกัน แพทย์ตัดสินใจทำการตรวจด้วยการส่องกล้อง ก่อนพบว่ามีของเหลวจำนวนมากในหลอดอาหารและมีความแน่นจึงต้องใช้ความพยายามเล็กน้อยเพื่อเข้าไปในกระเพาะอาหาร พร้อมทั้งวินิจฉัยว่านั้นคือ โรคอะคาเลเซีย (Achalasia)

ดร.หลิน เซียงหง อธิบายว่า โรคอะคาเลเซีย (Achalasia) คือ ความผิดปกติร้ายแรงของหลอดอาหาร เกิดจากหูรูดหลอดอาหารส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างหลอดอาหารส่วนปลายกับกระเพาะอาหารไม่คลายตัวขณะที่อาหารเคลื่อนที่ผ่านหลอดอาหารลงสู่กระเพาะ ซึ่งทำให้อาหารผ่านไปได้ยาก

ตามข้อมูลของพบแพทย์ Achalasia หรือโรคอะคาเลเซียเป็นเหตุให้เกิดการไหลย้อนกลับของอาหารหรือของเหลว ส่งผลให้ผู้ป่วยกลืนลำบาก, รู้สึกถึงแรงกดที่หน้าอก, แสบร้อนกลางอก, แน่นอก, น้ำหนักลดลงอย่างผิดปกติ, ไอ รวมถึงสำรอกอาหารหรือของเหลว โดยสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา, การทำบอลลูน, ฉีดโบท็อกซ์โดยใช้สารโบทูลินัมท็อกซิน หรือการผ่าตัด เพื่อให้หลอดอาหารบริเวณดังกล่าวกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด

สาเหตุของโรคอะคาเลเซีย บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างปลายหลอดอาหารกับกระเพาะจะมีกล้ามเนื้อหูรูดที่จะคลายตัวเพื่อให้อาหารผ่านลงสู่กระเพาะได้ แต่ในผู้ป่วยที่มีภาวะอะคาเลเซียกล้ามเนื้อดังกล่าวจะไม่สามารถคลายตัวได้ตามปกติ และส่งผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อหลอดอาหารลดลงไปด้วย ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากเส้นประสาทบริเวณหลอดอาหารเสียหาย

อย่างไรก็ตาม ในทางการแพทย์ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เส้นประสาทหลอดอาหารเสียหายจนเกิดภาวะนี้ ซึ่งสามารถเป็นได้ทุกเพศและทุกวัย แต่คาดว่ากลุ่มบุคคลต่อไปนี้อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคอะคาเลเซียได้มากกว่าคนทั่วไป

  • มีอายุระหว่าง 30 – 60 ปี
  • ได้รับการถ่ายทอดพันธุกรรมที่ผิดปกติมาแต่กำเนิด
  • เป็นโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันที่ส่งผลให้เซลล์ประสาทบริเวณหลอดอาหารถูกทำลาย เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง ติดเชื้อไวรัสโรคเริม หรือเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ เป็นต้น

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ปอดอักเสบจากการสำลัก หลอดอาหารทะลุ และอาจมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งหลอดอาหารมากขึ้น ส่วนวิธีป้องกันโรคอะคาเลเซีย ทำได้เพียงลดความเสี่ยงด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ

แพทย์เตือนอีกครั้งว่า เมื่อไปพบแพทย์ อย่าลืมบอกแพทย์ถึงอาการที่ไม่สบายและการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและความรู้สึกโดยละเอียด แทนที่จะสันนิษฐานเอาเองตนเป็นโรคอะไรหรือเพียงกล่าวว่า “ฉันมีกรดไหลย้อน ฉันมีอาการลำไส้แปรปรวน ฉันมีแผลในกระเพาะอาหาร” ซึ่งอาจไม่เพียงทำให้แพทย์เข้าใจผิด แต่ยังส่งผลต่อการวินิจฉัยที่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

ขอบคุณที่มาจาก Ettoday Ctwant Pobpad

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน