สาวเจ็บคอนาน 3 วัน คิดว่าเป็นผลข้างเคียงวัคซีน ก่อนแพทย์ให้อ้าปากเพื่อวินิจฉัย พบตุ่มใสแปลก ๆ ที่แท้ติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส

สำนักข่าวอีทีทูเดย์รายงาน หญิงชาวไต้หวันอาศัยอยู่ในเกาสงรายหนึ่งรู้สึกเจ็บคออย่างรุนแรงและมีผื่นคันที่มือหลังจากฉีดวัคซีนเข็ม 3 ยี่ห้อโมเดอร์นาไป 2 – 3 วัน โดยสันนิฐานว่าอาการเช่นนี้คือ ผลข้างเคียงของวัคซีนจึงไปพบแพทย์

น.พ.หลิวหยูไม กล่าวว่า โดยทั่วไปเขามักจะปลอบโยนคนที่ลังเลจะฉีดวัคซีนว่า “ต้องใช้เวลาสองสามวันสำหรับความเจ็บปวดและความรู้สึกไม่สบายตัว เพื่อแลกกับการป้องกันแอนติบอดีจากการเจ็บป่วยที่รุนแรงกว่า ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า” แต่เมื่อไม่กี่วันก่อน เขาพบหญิงสาวรายหนึ่งที่มีอาการป่วยหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน

เมื่อแพทย์ทำการตรวจสอบภายในช่องทางพบตุ่มพองใสสีขาวแปลก ๆ หลายจุดบริเวณคอหอยบวมซึ่งแพทย์วินิจัยฉัยว่า ผู้ป่วยติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสมากกว่าเป็นผลข้างเคียงของวัคซีน ซึ่งนพ.หลิวหยูไม กล่าวว่า การติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสในผู้ใหญ่นั้นหายาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งติดเชื้อในขณะที่มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อย ๆ ดังนั้น เพื่อไขข้อข้องใจกับอาการป่วยที่เกิดขึ้น ทางทีมข่าวสดขอเสนออาการและวิธีการรักษาของการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส

เอนเทอโรไวรัส (Enteroviruses) เป็นกลุ่มของไวรัสที่ทำให้เกิดโรคติดต่อหลายอย่าง ซึ่งมักจะไม่รุนแรง โดยคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสมากกว่า 90% จะไม่มีอาการหรือมีอาการไม่เฉพาะเจาะจง โดยอาการทั่วไป คือ มีไข้, แผลพุพองและตุ่มใสในปาก, เจ็บคอ, ไอ, จาม และปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ

ในบางกรณีการติดเชื้ออาจรุนแรงมากขึ้น เช่น ทำให้เกิดอาการผื่น อุจจาระร่วง อาการทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยเป็นอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงคล้ายกับโรคโปลิโอ หรือกลุ่มอาการกิแลงเบอเร่ ถ้าเชื้อลุกลามเข้าไปในเนื้อสมองจะก่อให้เกิดการอักเสบของสมอง ลักษณะเป็นโรคไข้สมองอักเสบ

ในผู้ป่วยบางราย ไวรัสยังสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ม้าม, ตับ, ไขกระดูก, ผิวหนัง และหัวใจ ทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก, โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ, โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และอัมพาตเฉียบพลัน ที่สำคัญ คือ บางครั้งอาจก่อให้เกิดโรคมากกว่าหนึ่งโรคก็ได้

ติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสได้อย่างไร: ไวรัสเอนเทอโรเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุของคอหอยและลำไส้ และจะขยายเพิ่มจำนวนที่ทอนซิลและเนื้อเยื่อของระบบน้ำเหลืองบริเวณลำไส้ โดยเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นทางสิ่งคัดหลั่งทางจมูก, ละอองน้ำลาย, ไอ, จาม และปนเปื้อนมาทางอุจจาระสามารถพัฒนาอาการป่วยตามอาการที่เกิดจากไวรัสได้ โดยเฉพาะผู้ที่อายุน้อยกว่า 10 ปี

ส่วนผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะติดเชื้อแรงที่สุดคือผู้ที่มีภาวะสุขภาพ สตรีมีครรภ์ ทารกแรกคลอดหรือทารกคลอดก่อนกำหนด และผู้ที่มีความเครียดหรือภาวะทุพโภชนาการ

ภาพจาก Ettoday

การรักษา: ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสจะหายเป็นปกติเองได้ โดยทั่วไปใช้การรักษาตามอาการเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด และยาลดการอักเสบ เป็นต้น ร่วมกับการให้ผู้ป่วยทานอาหารอ่อนและนอนพักผ่อนมาก ๆ ที่สำคัญ คือ การแก้ไขอาการรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิต ในผู้ป่วยเด็กเล็กและผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ

ขอบคุณที่มาจาก กองโรคติดต่อ Everydayhealth Ecdc

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน