ผู้ปกครองเตรียมตัว! ส่องวิธีเลือกซื้อคาร์ซีต หลังกฎหมายบังคับให้เด็กอายุไม่เกิน 6 ปีต้องนั่งคาร์ซีต เพื่อความปลอดภัยของเด็ก ๆ

เมื่อวานนี้ ( 8 พ.ค. 65) ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2565 โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็กในมาตรา 123 กล่าวว่า เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี หรือผู้โดยสารที่สูงไม่เกิน 135 ซม.ต้องนั่งคาร์ซีท บูสเตอร์ซีท หรือคาดเข็มขัดนิรภัย

ทั้งนี้ หากไม่ปฏิบัติ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท โดยพ.ร.บ.จะมีผลบังคับในอีก 120 วันข้างหน้านับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 5 กันยายน 2565) วันนี้จึงขอพาทุกคนมาทำความรู้จักและวิธีเลือกซื้อคาร์ซีตกัน

คาร์ซีตมีกี่แบบ

คาร์ซีตมีมากมายหลายประเภท แบ่งการใช้งานตามช่วงวัยและน้ำหนัก โดยหลัก ๆ สามารถแบ่ง ได้ ดังนี้

1. แบบ Infant car seats ถูกออกแบบมาสำหรับทารก มักใช้ได้จนถึงน้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม หรือสูงประมาณ 85 เซนติเมตร หรืออายุประมาณ 1 ปี โดยจะต้องวางคาร์ซีตหันไปทางด้านหลังเท่านั้น ปกติคาร์ซีตแบบนี้จะมีฐานรองที่ยึดติดกับเบาะรถยนต์ ซึ่งบางรุ่นจะสามารถถอดออกและหิ้วออกมาจากฐานได้

2. แบบ Convertible car seat สามารถใช้ได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงน้ำหนักประมาณ 18 กิโลกรัม ซึ่งสามารถวางหันหลัง หรือหันหัวเด็กไปทางด้านหน้ารถก็ได้ โดยขนาดของคาร์ซีตจะค่อนข้างใหญ่ มักยึดติดกับฐาน ไม่สามารถยกถอดออกได้ (คาร์ซีตประเภทนี้พ่อแม่ส่วนใหญ่นิยมใช้ เน้นใช้งานระยะยาว)

3. แบบบูสเตอร์ซีต (Booster Seat) เป็นคาร์ซีทสำหรับเด็กโตขึ้นมาหน่อย เพิ่มความสูงให้เด็กเวลานั่งบนที่นั่ง เพื่อให้สาย safety belt พาดผ่านสะโพกไม่ใช่ท้อง และพาดผ่านหัวไหล่ไม่ใช่คอเด็ก โดยสามารถเริ่มใช้ตั้งแต่น้ำหนัก 18-36 กิโลกรัมหรือความสูงประมาณ 100-150 เซ็นติเมตร ใช้ได้ตั้งแต่ 4-12 ขวบ ตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญคือ ควรนั่งจนถึงลูกส่วนสูงถึง 140 ซม. จึงเปลี่ยนมานั่งเบาะธรรมดาและคาด Seat Belt แบบผู้ใหญ่

วิธีเลือกซื้อคาร์ซีต

1. สังเกตเข็มขัดนิรภัย เข็มขัดนิรภัยของคาร์ซีตควรผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และควรเป็นเข็มขัดนิรภัยแบบ 5 จุด คือสามารถยึดไหล่ 2 ข้าง สะโพก 2 ข้าง และจุดรวมอยู่ที่ระหว่างขา การมีจุดยึด 5 ตำแหน่งจะทำให้ป้องกันการบาดเจ็บต่อเด็กได้ดีกว่าแบบ 3 จุด

2. มาตรฐานความปลอดภัย เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐใด ๆ ที่รับรองมาตรฐานของคาร์ซีตซึ่งถูกผลิตและนำเข้ามาในประเทศไทยโดยเฉพาะ ดังนั้นควรเลือกคาร์ซีทที่ผ่านมาตรฐานจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น Federal Motor Vehicle Safety Standard 213 ของประเทศสหรัฐอเมริกา, ECE R44/03, ECE R44/04 หรือ i-Size จากทางยุโรป ซึ่งมักมีสัญลักษณ์ “E” ติดอยู่ที่ผลิตภัณฑ์ หรือหน่วยงานอื่น ๆ เป็นต้น

3. มีการปกป้องทางด้านข้าง ควรเลือกคาร์ซีตที่สามารถป้องกันการกระแทกจากทางด้านข้างได้ดี เนื่องจากอุบัติเหตุประมาณ 1 ใน 4 มาจากการกระแทกทางด้านข้าง

4. ไม่ควรซื้อคาร์ซีตที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไปนับจากวันที่ผลิต เพราะโดยปกติแล้วคาร์ซีตจะมีอายุการใช้งานอยู่ที่ 6 ปี

5. ไม่แนะนำให้ใช้ของมือสอง ตามหลักการณ์แล้วไม่แนะนำให้ใช้คาร์ซีตมือสอง เนื่องจากอาจมีจุดชำรุดอยู่โดยที่เราไม่ได้สังเกต ดังนั้นคาร์ซีทมือหนึ่งย่อมดีกว่า เพราะเพิ่งถูกผลิตและยังไม่ผ่านการใช้งานเสี่ยงต่อการชำรุดเสียหายน้อยกว่า แต่หากจำเป็นต้องซื้อสินค้ามือสอง ควรสังเกตว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่มีชิ้นส่วนใดขาดหายไป และไม่เคยผ่านอุบัติเหตุทางรถยนต์มาก่อน เพราะอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบนิรภัยได้

การติดตั้งคาร์ซีต

การติดตั้งคาร์ซีต ควรติดตั้งที่เบาะผู้โดยสารตอนหลังเท่านั้น เนื่องจาก Airbag คู่หน้าถูกออกแบบมาให้ใช้ปกป้องผู้ใหญ่ที่มีพัฒนาการกระดูกสันหลัง คอ และศีรษะที่เต็มวัยแล้ว การให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี นั่งในตำแหน่งดังกล่าว อาจะเกิดการกระแทกอย่างรุนแรงโดยตรงต่อตัวเด็ก หรือต่อคาร์ซีท

การวางคาร์ซีต

1.Rear-Facing คือการหันไปทางด้านหลัง ควรจัดวางท่านี้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 2 ขวบ เพื่อป้องกันกระดูกสันหลัง และป้องกันการบาดเจ็บของเด็ก

2. Forward-Facing คือการนั่งหันออกจากด้านหน้าแบบผู้ใหญ่ จะทำหลังเด็กมีอายุมากกว่า 2 ขวบหรือไม่สามารถนั่งหันไปทางด้านหลังได้แล้วจริงๆ

ขอบคุณที่มา pobpad, drnoithefamily, my-best

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน