คอลัมน์ เพื่อนตัวเล็ก

ต้วมๆ เตี้ยมๆ เดินเอ้อระเหยลอยชาย คือ นิสัยเด่นของบรรดา ต.เต่า หลังตุง

แต่สำหรับเจ้า “เต่าปูลู” ตัวนี้ กลับเคลื่อนไหวรวดเร็ว ทั้งยังเก่งเรื่องปีนป่ายขึ้นได้ทั้งต้นไม้และก้อนหิน
3
ส่วนลักษณะภายนอกก็แปลกตา เพราะหัวโตจนหดเข้ากระดองไม่ได้ เช่นเดียวกับขาและเท้าของมัน โดยขาหน้าและขาหลังจะมีเกล็ดหุ้มตั้งแต่ช่วงโคนขา เรื่อยไปถึงนิ้วจิ๋วๆ ที่มีเยื่อพังผืดบางๆ ยึดระหว่างกัน
2
นอกจากนี้ เจ้าเต่าปูลูยังมีหางย้าว…ยาว ยาวกว่ากระดองหลังของตัวมันเองเสียอีก จึงไม่แปลกที่ใครๆ จะยกตำแหน่งเต่าหางยาวที่สุดในโลกให้แก่เจ้าปูลู

โดยทั่วไป “เต่าปูลู” พบได้ตามลำธารและน้ำตกบนภูเขาสูง หรือป่าดิบชื้นบริเวณประเทศจีนตอนใต้ รวมถึงชายแดนที่ติดกับไทย ลาว และพม่า

แบ่งออกเป็นสายพันธุ์ย่อยๆ ได้ 3 ชนิด คือ “เต่าปูลูพื้นเมือง” เป็นเต่าปูลูดั้งเดิม

ส่วน “เต่าปูลูเหนือ” จะมีขนาดเล็กกว่าปกติ และกระดองท้องจะมีสีเหลืองอมส้ม บริเวณโคนขาจนถึงโคนหางเป็นสีเหลืองอมชมพู

ขณะที่ปูลูพื้นเมืองมีกระดองหลังสีน้ำตาลเหลือบเขียวมะกอก กระดองท้องและผิวหนังด้านท้องเป็นสีเหลืองสด
4
อีกชนิด คือ “เต่าปูลูใต้” เป็นสายพันธุ์ใหม่ล่าสุด พบที่ลำธารภูเขาชายแดนใต้ติดต่อมาเลเซีย มีรูปร่างและสีสันคล้ายเต่าปูลูทั่วไป

ปัจจุบัน “เต่าปูลู” เข้าข่ายสัตว์เลื้อยคลานใกล้สูญพันธุ์ เพราะเป็นเมนูเปิบพิสดารยอดนิยมของคนจีนและเวียดนาม

น้องๆ คนไหน อยากเห็น “เต่าปูลู” ตัวเป็นๆ อย่าลืมแวะเวียนไปเยี่ยมที่อาคารสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สวนสัตว์ดุสิต (เขาดิน) ตั้งแต่วันนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน