คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

[email protected]

กบฏแมนฮัตตันเป็นกบฏไทยแต่ชื่อฝรั่ง ขอรายละเอียดด้วยค่ะ

เด็กแนว

ตอบ เด็กแนว

บทความกบฏแมนฮัตตัน โดย ศุภการ สิริไพศาล และ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อรรถาธิบายไว้ว่า กบฏแมนฮัตตัน หรือกบฏทหารเรือ หรือกบฏ 29 มิถุนา เป็นปฏิกิริยาของฝ่ายทหารเรือที่ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลและผู้นำกลุ่มทหารบก โดยก่อกบฏขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 และยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายทหารเรือ

การก่อกบฏแมนฮัตตันสืบเนื่องมาจากสาเหตุ 3 ประการ คือ 1.ความไม่พอใจในการบริหารประเทศของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม สมัยที่ 2 ซึ่งคณะรัฐประหาร พ.ศ.2490 สนับสนุน โดยทหารเรือเห็นว่า รัฐบาลของคณะรัฐประหารมิได้บริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง ใช้วิธีเผด็จการโดยปรับปรุงกรมตำรวจให้มีลักษณะเป็นกองทัพเพื่อข่มขู่ประชาชน และกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างทารุณและไร้มนุษยธรรม

2.ความตึงเครียดระหว่างทหารบกและตำรวจ กับทหารเรือ ซึ่งมีมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยที่ทั้ง 2 ฝ่ายสนับสนุนผู้นำต่างกัน ทหารบกสนับสนุนจอมพล ป. ทหารเรือสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ ส่วนตำรวจก็มีปัญหาการกระทบกระทั่งกับทหารเรืออยู่เสมอ และกล่าวหาทหารเรือว่ามักให้ผู้กระทำความผิดประเภทใช้อาวุธปล้นจี้หลบซ่อนในเขตทหารเรือ

และ 3.ความเสื่อมโทรมในกองทัพเรือ เพราะรัฐบาลไม่ไว้วางใจและไม่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่นับตั้งแต่ครั้งกบฏวังหลวง 26 กุมภาพันธ์ 2492 มีการตัดกำลังนาวิกโยธินลงเพราะเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพเรือ และรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กองทัพเรือไม่เพียงพอที่จะนำมาปรับปรุงกองทัพได้

ผู้ก่อการกบฏที่เป็นผู้นำสำคัญ คือ พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ นายทหารนอกราชการ อดีตผู้บังคับการกรมนาวิกโยธิน น.อ.อานนท์ ปุณฑริกาภา ผู้บังคับการกองสำรองเรือรบ น.ต.มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์ น.ต.ประกาย พุทธารี สังกัดกรมนาวิกโยธิน และน.ต.สุภัทร ตันตยาภรณ์ สังกัดกรมนาวิกโยธิน นอกนั้นเป็นทหารชั้นผู้น้อย ส่วนผู้นำฝ่ายอื่นๆ ได้รับการชักชวนจากทหารเรือที่มียศระดับกลางๆ โดยไม่มีการให้คำมั่นเท่าที่ควร เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การกบฏประสบความล้มเหลว
2
กบฏแมนฮัตตันเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2494 เวลา 15.00 น. ในพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนชื่อ ‘แมนฮัตตัน’ ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกามอบให้รัฐบาลไทย โดย จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับมอบ พิธีจัดขึ้นที่ท่าราชวรดิฐ เมื่อประกอบพิธีรับมอบเสร็จแล้ว จอมพล ป.ได้รับเชิญไปชมเรือ ขณะนั้นเองนายทหารเรือกลุ่มหนึ่ง นำโดยน.ต.มนัส ได้ใช้ปืนกลจี้บังคับให้จอมพล ป.ไปลงเรือเปิดหัวที่เตรียมไว้ แล้วนำไปยังเรือหลวงศรีอยุธยาที่จอดรออยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา คุมขังจอมพล ป. ไว้ ณ ที่นั้น

คณะผู้ก่อการกบฏยืนยันจะไม่ปฏิบัติการใดๆ นอกจากถูกโจมตีก่อน ต่อมาเวลา 04.00 น. วันที่ 30 มิถุนายน การเจรจาตามมติคณะรัฐมนตรีไม่เป็นผลสำเร็จ จึงเกิดการสู้รบกันขึ้นเมื่อเวลา 04.30 น. ของวันที่ 30 มิถุนายน เริ่มจากฝ่ายรัฐบาล โดยกองทัพบกภายใต้การนำของพล.ท.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กองทัพอากาศภายใต้บัญชาการ พล.อ.อ.ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี และกำลังตำรวจโดยพล.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์ การสู้รบแผ่ขยายวงกว้าง เริ่มจากทหารบกโจมตีจากด้านพระนคร และกองทัพอากาศทิ้งระเบิดที่กรมอู่ทหารเรือและคลังเชื้อเพลิง

กระทั่งเวลา 15.00 น. เครื่องบินของกองทัพอากาศทิ้งระเบิดลงเรือหลวงศรีอยุธยาจนไฟลุกไหม้และอับปางลง โดยจอมพล ป. ได้รับการช่วยเหลือจากทหารเรือให้ว่ายน้ำขึ้นฝั่งที่ทำการกองทัพเรือ ฝั่งธนบุรี ฝ่ายทหารอากาศยังคงโจมตีต่อไปจนเวลา 17.00 น. เรือหลวงคำรณสินธ์ ซึ่งทำหน้าที่คุ้มครองคลังน้ำมันบริเวณกรมอู่ทหารเรืออับปางลงอีกลำ

กบฏแมนฮัตตันเป็นกบฏครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ มีผู้บาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก ดังนี้ ประชาชนเสียชีวิต 118 รายบาดเจ็บ 191 ราย พิการ 9 ราย ทหารเรือเสียชีวิต 43 รายทหารบกเสียชีวิต 43 ราย ทหารอากาศเสียชีวิต 17 ราย และตำรวจเสียชีวิต 9 ราย

ภายหลังเหตุการณ์ยุติคณะกรรมการปรับปรุงกองทัพเรือ นำโดยจอมพล ป. และกลุ่มขุนพลผู้บัญชาการปราบกบฏ สั่งลดกำลังกองทัพเรือ สั่งพักราชการ และปลดนายทหารเรือออกจากราชการหลายคน เหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน 2494 ส่งผลให้กองทัพเรือถูกลดแสนยานุภาพ ถูกจำกัดกำลังคน ถูกลดสถานที่ตั้งและสถานที่ฝึกปฏิบัติการ ตลอดจนลดอาวุธยุทโธปกรณ์ลงอย่างมาก บทบาทของกองทัพเรือถูกลดลงอย่างสิ้นเชิง หมดความเข้มแข็ง และทหารเรือแทบจะไม่มีบทบาททางการเมืองอีกเลย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน