หลังวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้โลกของเราเปลี่ยนไปในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงเทคโนโลยีรอบตัวต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่เปลี่ยนไปด้วยอัตราความเร็วที่เราคาดไม่ถึง
การสร้างทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะทักษะในศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะสารสนเทศ สื่อ เทคโนโลยี ทักษะชีวิตและอาชีพ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามในการสร้างทักษะเหล่านี้ ภาคการศึกษาต้อง มีการปรับตัว หลักสูตรการเรียนการสอนต่างๆ ต้องมีการ ผสมผสานและเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ประยุกต์ความรู้และทักษะในรายวิชาต่างๆ ให้ตอบโจทย์สถานการณ์จริง การศึกษาเล่าเรียนจึงไม่ได้จบเพียงห้องเรียนสี่เหลี่ยมเล็กๆ ภายในโรงเรียนเพียงเท่านั้น หากแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจาก ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชนบูรณาการทำงานร่วมกันในทุกมิติ
สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นโจทย์ท้าทายการทำงานของครูผู้สอนที่ต้องปรับตัว ปรับทัศนคติ ปรับรูปแบบการทำงานให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของแต่ละบริบทพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน ประเด็นนี้ถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญ
ของการปฏิรูปการศึกษาไทยว่าจะเป็นไปในทิศทางใดในอนาคต ดึงศักยภาพความเป็นครู ผ่านการคืนความเป็นมนุษย์
“โครงการก่อการครูเกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ในสังคมที่สนใจในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาผ่านการพัฒนาครูผู้สอน โดยจะทำงานร่วมกันในระยะยาวเพื่อให้ครูได้พัฒนาศักยภาพของตนเองในด้านต่างๆ เมื่อจบจากหลักสูตรแล้ว ครูผู้สอนจะนำแนวคิดที่ได้ ไปทดลองใช้กับชั้นเรียนตนเอง หรือกับกลุ่มครูในโรงเรียน จากนั้นจะนำผลลัพธ์ที่ได้มาถอดบทเรียนพูดคุยแลกเปลี่ยนกับภาคีเครือข่ายครูที่เข้าร่วมโครงการเพื่อช่วยกันต่อยอด หารูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม”
ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงที่มาของโครงการ “ก่อการครู” หนึ่งในแนวคิดนำร่องการปฏิรูป การศึกษาผ่านการศักยภาพครูให้เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียน สำหรับมิติสำคัญของ “ก่อการครู” คือ “การเข้าใจความเป็นมนุษย์” และ “คืนความเป็นครู” เพราะครูหลายคนเมื่อทำงานได้ระยะหนึ่งจะหลงทางหรือถูกกลืนกินโดยระบบอำนาจในสถาบันการศึกษา ซึ่งครูก็เรียนรู้ที่จะใช้อำนาจในการจัดการแล้วถ่ายทอดสู่ห้องเรียน รวมทั้งความคาดหวังในหลายๆ ด้าน เช่น ครูต้องเสียสละ ครูต้องเป็นแม่พิมพ์พ่อพิมพ์ของชาติ นำไปสู่ความคาดหวังและสร้างความกดดันให้แก่ครูรุ่นใหม่ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังนักเรียนในชั้นเรียน ก่อให้เกิดบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการ เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ทำให้เกิดความตึงเครียดและความขัดแย้งระหว่างครูผู้สอนและเด็กนักเรียน ประเด็นนี้ คือ ความท้าทายที่โครงการ “ก่อการครู” มุ่งมั่นที่จะเข้าไปสร้างทัศนคติใหม่ให้แก่ครูผู้สอนให้เขาเป็นผู้ฟังและยอมรับความคิดของนักเรียนมากขึ้น และเมื่อทั้งสองฝ่ายฟังกันมากขึ้น พื้นที่ปลอดภัยในชั้นเรียนก็จะมีมากขึ้น เรื่องนี้ ผศ.ดร.อดิศร คิดว่าสำคัญมากต่อการปฏิรูปการศึกษา ในศตวรรษที่ 21 ระดมทุกสรรพกำลังในชุมชน สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ผศ.ดร.อดิศร กล่าวต่อว่า ในด้านการทำงานระดับพื้นที่หลังจากมีการจัดกิจกรรมมาแล้ว 4 รุ่น และมีการรับสมัครรุ่นที่ 5 ไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 นั้น โครงการฯ ได้ขับเคลื่อนรูปแบบ การทำงานจากระดับปัจเจกบุคคลสู่การสนับสนับสนุนให้ครูในชุมชนใกล้เคียงกันได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันและกัน ผ่านเครือข่าย “โหนดการเรียนรู้ ก่อการครู” ในพื้นที่ต่างๆ
“ปัจจุบันเราพยายามปรับบทบาทเป็นพี่เลี้ยง สนับสนุนให้ครูต่อยอดสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการฯ ไปใช้ในพื้นที่ โดยการระดมทุกสรรพกำลังในชุมชน ทั้งครู ผู้ปกครอง ภาคประชาสังคม ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มี
ความเฉพาะตัวของแต่ละโรงเรียน ของแต่ละพื้นที่” แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับกิจกรรมด้านสังคมของ “ชาร์ปกรุงไทยการไฟฟ้า” ที่ทำงานด้านการให้โอกาส ทางศึกษามาอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดเป็นความร่วมมือกันสนับสนุนโหนดการเรียนรู้ในภาคอีสานที่มีความเข้มแข็งใน 4 พื้นที่ ได้แก่ นิเวศการเรียนรู้ กาฬสินธุ์ และ นิเวศการเรียนรู้ มหา’ลัยไทบ้าน (จังหวัดขอนแก่นและเลย) และนิเวศการเรียนรู้อุดรธานี
“เราทำงานร่วมกับชาร์ปกรุงไทยการไฟฟ้าในลักษณะสนับสนุนความเข้มแข็งให้โหนดการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเครือข่ายไปได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมร่วมกันหาจุดแข็ง ข้อจำกัด ว่ามีส่วนที่ต้องพัฒนาต่ออย่างไร ส่วนตัวมองว่าการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรภายนอกและคนในชุมชนจะช่วยทำให้การพัฒนาครูสามารถทำได้ อย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน ช่วยยกระดับการทำงานให้มีคุณภาพมากขึ้น และสามารถต่อยอดสร้างเป็นโมเดลในการจัดการศึกษาต่อไปได้ในอนาคต” ผศ.ดร.อดิศร กล่าว ผสานการทำงานทุกภาคส่วน สู่การสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันโครงการ “ก่อการครู” ยังร่วมมือกับเครือข่าย “มหา’ลัยไทบ้าน” จัดการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้นักเรียน ในพื้นที่ชวนผู้คนที่สนใจเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตเข้าร่วมสร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้หลากหลายมิติ เชื่อมโยงกับชีวิต ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสังคม ยึดหลัก “ความรู้มีอยู่ทุกที่” ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย สามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ในทุกพื้นที่ มากไปกว่านั้นยังมีการต่อยอดกิจกรรมด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ผ่านโครงการ วิถีชมพู (อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น) ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนนำความรู้ท้องถิ่นที่มีไปประกอบกิจกรรมด้านการนำเที่ยว สร้างรายได้ให้กับนักเรียนในพื้นที่ตลอดทั้งปี เป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของพื้นที่ให้เดินหน้า สำหรับบทบาทของภาครัฐ ภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษานั้น ผศ.ดร.อดิศร อยากให้ทุกภาคส่วนตระหนักว่าในกระบวนการสร้างคนคุณภาพขึ้นมาหนึ่งคน ภาระหน้าที่ทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ครูผู้สอนเพียงฝ่ายเดียว แต่คนทั้งชุมชนต้องช่วยกันหล่อหลอม กล่อมเกลา ให้เขาเป็นคนดีขึ้นมา “การปฏิรูปการศึกษาเราจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ ของคนใดคนหนึ่งในระบบการศึกษาอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องสร้างความร่วมมือ ระดมคนจากทุกภาคส่วนทั้งในภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษามาร่วมกัน ขับเคลื่อนไปด้วยกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก หากเราสามารถพัฒนาศักยภาพของเยาวชนให้เขามีความสามารถ เขาก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ประเทศชาติของเรา เจริญก้าวหน้าไปได้ อย่างมั่นคงและยั่งยืน” ผศ.ดร.อดิศร กล่าว การพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืนโดยยึดโจทย์การ สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ ที่ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นความท้าทายใหญ่ของสังคมไทยที่ถึงเวลาแล้วที่ควรได้ร่วมกันขบคิดร่วมกัน ไม่ใช่แค่เพียงภาครัฐ แต่ภาคเอกชนที่มีศักยภาพและ เล็งเห็นความสำคัญก็สามารถที่จะลุกขึ้นมาทำสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเอกชนที่ทำงานสำคัญด้านการศึกษามายาวนานอย่าง ชาร์ปกรุงไทยการไฟฟ้า ได้มุ่งที่จะส่งต่อและถ่ายทอดกระบวนการพัฒนาคนรุ่นใหม่ ผ่านภาคีเครือข่ายที่มีแนวคิดที่สอดคล้องกับการเห็นความสำคัญของการให้โอกาสทางการศึกษาและเพื่อส่งต่อ Role model ภูมิทัศน์ใหม่แห่งการให้ทุน การศึกษาที่สร้างคนคุณภาพอย่างยั่งยืน โครงการทุนการศึกษา บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด จึงจัดเวทีการเรียนรู้ ส่งต่อแนวคิดสร้าง “คน” สร้างนิเวศการเรียนรู้ที่ ไม่สิ้นสุด ขึ้น โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ เป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษและเปิดงาน พร้อมด้วยคุณศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย และคุณสงวนศรี สุทธิพงษ์ชัย ผู้บริหารโครงการทุนกรุงไทยการไฟฟ้า และ คณะกรรมการ ผู้บริหารภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรสำคัญด้านการพัฒนาการเรียนรู้ของเยาวชนระดับประเทศเข้าร่วมงาน เพื่อจะบอกว่า การทำงานด้านการศึกษามีความสำคัญ ต่อการพัฒนาคนของประเทศ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่ทั้งสังคมควรช่วยกัน และผลักดัน ให้เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์ของเยาวชนไทยและเป็นอนาคตของประเทศต่อไป