หลังการสร้างเขื่อนสิริกิติ์เมื่อปี 2513 คนหลายตำบลในอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ มีวิถีความเป็นอยู่เปลี่ยนไป
จากที่เคยมีชีวิตร่วมกันเรียบง่าย รวมกลุ่มรวมใจเป็นชุมชน จำเป็นต้องโยกย้ายออกจากหมู่บ้านที่อยู่อาศัยกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษก่อนจะจมอยู่ใต้เขื่อน ย้ายถิ่นฐานกระจัดกระจายไปยังที่อยู่ใหม่ตามรัฐจัดสรร
บุกเบิกแผ้วถางเส้นทาง จากพื้นที่ราบลุ่มสมบูรณ์ริมลำน้ำน่าน สู่บ้านใหม่ที่รายล้อมด้วยภูเขา ทรัพย์สิน สัตว์เลี้ยง ข้าวของเครื่องใช้ พระพุทธรูป โบราณวัตถุ บางส่วนช่วยกันขนย้ายมาได้ แต่ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ และพิธีกรรมต่างๆ เป็นชิ้นส่วนความทรงจำที่ต้องใช้ใจและความพยายามในการปะติด ปะต่อรากเหง้าความเป็นมา
เช่นเดียวกับ “ประเพณีแห่ผีตลก” ที่เกือบจะเลือนรางหายไป แต่หลายคน หลายฝ่าย ช่วยกันฟื้นฟูจัดเก็บองค์ความรู้ที่มีคุณค่าไว้อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งส่งต่อเรื่องราวให้คนรุ่นหลังรับรู้
ผีตลกนับ 30 หัว พากันออกสเต็ปโชว์ลีลา โยกย้ายไปตามจังหวะดนตรี พร้อมด้วยกองเชียร์หลากรุ่นหลายวัยสองข้างทาง ต่างรอเวลาเจอผีตลกปีละครั้ง
ผีตลก ประเพณีเก่าแก่สืบเนื่องกันกว่า 200 ปี จัดขึ้นก่อน วันออกพรรษา ชาวบ้านจะรวมตัวช่วยกัน จัดเตรียมขบวนแห่ผีตลก เพื่อบอกบุญชวน คนเข้าวัดฟังเทศน์มหาชาติ เริ่มตั้งแต่การ เตรียมไม้ไผ่เพื่อสานเป็นหัวผีตลก ก่อนจะเติมคิ้ว ปาก จมูก และหู ด้วยวัสดุธรรมชาติใกล้ตัว
ปีนี้เด็กๆ ที่บ้านงุ้นงาม หมู่ 11 ตำบลจริม ได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่ในชุมชนให้ร่วมสังเกตการณ์ลงมือลงสีตกแต่งหัวผีตลก ในฉบับของตัวเอง
อิ่ม ด.ญ.ณธิดา ธรรมใจ กำลังวางแผนออกแบบหัวผีตลกกับเพื่อนๆ บอกว่า “จะตกแต่งหัวผีตลกให้เป็นสีชมพู เอาตา สีแดง น่ารักๆ สีสันสดใส เพราะหนูไม่ชอบแบบน่ากลัวค่ะ”
“ตอนเด็กๆ ถ้าเห็นขบวนแห่ผีตลกผ่านหน้าบ้าน ผมวิ่งหนีเลยครับ มันน่ากลัว แล้วตามันก็ปูดออกมา” ด.ช.เวียร์ ชนัญชัย โสสุด เล่าความทรงจำสุดหลอนเมื่อชวนนึกย้อนวันวาน
ผีตลก ไม่ใช่ผีเรียกเสียงหัวเราะขบขัน แต่อย่างใด คำว่า “หลก” ในภาษาอีสานและเหนือ แปลว่า “ถอน” ผีตนนี้มีลักษณะดวงตาถลนจนจะหลุดออกมานอกเบ้า คนท่าปลาเรียกผีตาหลก เรียกไปเรียกมากลายเป็นผีตลกในปัจจุบัน
ขบวนแห่ผีตลกที่บ้านงุ้นงามเริ่มตอนบ่ายคล้อย แห่รอบหมู่บ้านราว 2 กิโลเมตร และจบขบวนที่วัดประชาธรรม ระหว่างทางชาวบ้านช่วยกันเตรียมต้นกล้วย ต้นอ้อย ต้นกุ๊ก ต้นข่า สมทบร่วมขบวนแห่ เพื่อนำไปตกแต่งศาลาให้กลายเป็นป่าหิมพานต์ก่อนจะฟังเทศน์มหาชาติร่วมกันในคืนนี้
“ขบวนสนุกมากค่ะ ดีใจที่คนในหมู่บ้านมาร่วมงาน ร่วมบุญ อยากให้คนรู้จักผีตลกบ้านเราเยอะๆ ค่ะ” คำบอกเล่าพร้อมรอยยิ้มของน้องวิว จินดารัตน์ ทองกา หลังเข้าร่วมขบวนแห่ผีตลกของชุมชน
“ขบวนแห่ที่บ้านเราวันนี้แค่น้ำจิ้มนะคะ งานแห่ผีตลกที่อำเภอท่าปลาจะยิ่งใหญ่กว่ามาก มีผีตลกหลายร้อยหัวเลยค่ะ ที่สำคัญคือผีตลกมีที่ท่าปลาที่เดียว อยากรู้จักต้องมาค่ะ” เด็กหญิงอิ่มกล่าวทิ้งท้าย
ประเพณีแห่ผีตลกเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่รวมใจคนทั้งหมู่บ้าน รวมใจคนทุกตำบลในอำเภอท่าปลา ที่สำคัญคือเด็กๆ มีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีของตนเองอย่างใกล้ชิด การได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ถือเป็นนาทีทองที่จะช่วยปลูกความรักความศรัทธาในตน และชุมชนของตนให้งอกงามลงในใจเด็กๆ
ขบวนแห่ผีตลก ประเพณีที่หาชมยาก ภาพอันสวยงามน่าประทับใจนี้มีเพียงปีละครั้ง ทุ่งแสงตะวันบันทึกภาพงานบุญ งานประเพณีสำคัญของคนท่าปลามาให้ชมกัน เช้าวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายนนี้ เวลา 05.05 น. ทางช่อง 3 กด 33 และทางเพจเฟซบุ๊ก ทุ่งแสงตะวัน เวลา 07.30 น.
กนกวรรณ อำไพ